วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน เสนอให้เลื่อนเอาวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... มาพิจารณาก่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ในระเบียบวาระเดิม
จุลพันธ์ กล่าวว่า เนื่องด้วยพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นพ้องต้องกัน ว่าควรเลื่อนระเบียบวาระเอาเรื่องร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับขึ้นมาก่อน เพราะเป็นห่วงในสถานภาพของสภาฯ ว่าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จะไม่มีกฎหมายเลือกตั้งมารองรับจนเกิดสุญญากาศทางการเมืองจึงจำเป็นต้องเสนอเลื่อนวาระให้การพิจารณาเริ่มในวันนี้
จากนั้น สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ลุกทักท้วงโดยเห็นว่า ควรคงไว้ตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้เดิม เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติรับหลักการเมื่อ 24 ก.พ. 2564 พิจารณามาแล้ว 48 ครั้ง ใช้เวลากว่า 1 ปีเศษ เป็นกฎหมายปฏิรูปที่ทั้งประชาชนและตำรวจต้องการ ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ก็ทำมาด้วยความรวดเร็วในเวลาเพียง 2 เดือน ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบแซงคิวร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ
ด้าน สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายเพิ่มเติมว่า เหตุที่ฝ่ายค้านขอเลื่อนวาระขึ้นมา เนื่องจากไม่แน่ใจว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะรายละเอียดเยอะ แต่ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ใช้เวลาเพียงไม่นาน อาจจะเสร็จภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ด้วยซ้ำ
จากนั้นชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาในขณะนั้น ได้เปิดให้มีการลงมติว่า เห็นควรเลื่อนระเบียบวาระตามที่ จุลพันธ์ เสนอ หรือไม่
ระหว่างรอสมาชิกฯ แสดงตนครบองค์ประชุม ได้มีการหารือกันเรื่องการเพิ่มวันประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ และร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยประธานรัฐสภาระบุว่า ให้มีการหารือกันในโอกาสหน้า
ทั้งนี้ผลการลงมติ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา 392 เสียงไม่เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอให้เลื่อนระเบียบวาระการประชุม เห็นด้วย 125 เสียงงดออกเสียง 3 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 3 คน จากนั้นประธานสภาได้ดำเนินการประชุมต่อตามระเบียบวาระเดิม คือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ทันที