ตลอดอายุ 76 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ มรสุมครั้งนี้ดูจะหนักหน่วงกว่าเคย เพราะนำไปสู่ ‘วิกฤตศรัทธา’ เมื่อผู้ใหญ่ระดับรองหัวหน้าพรรค ปริญญ์ พานิชภักดิ์ เป็นถึงบุตรชายคนการเมืองระดับโลก ตกเป็นจำเลยของคดีอนาจารหญิงนับ 10 ราย
ก่อนเรื่องจะบานปลายไปสู่การสาวไส้อันอื้อฉาว สืบเนื่องจาก มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข กรรมการบริหารพรรค ได้พาดพิงไปถึงเรื่อง ‘การเมือง-การมุ้ง’ ในพรรคหลายกรณี
แม้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ จะออกมาขอโทษต่อสังคมแล้ว ในฐานะหัวหน้าพรรค และผู้มีส่วนชักจูง ปริญญ์ เข้ามารับตำแหน่ง แต่ก็ไม่อาจหยุดไฟที่ลามทุ่ง และอาการเลือดไหลออกไม่ขาดสายของประชาธิปัตย์ได้
‘วอยซ์’ สนทนากับ พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชวนตั้งคำถามถึงท่าทีของกรรมการบริหารพรรคที่ควรจะเป็น รวมถึงหนทางนำพรรคประชาธิปัตย์ให้ผ่านพ้นวิกฤตศรัทธาในครั้งนี้
หลักการข้อแรกคือ คุณต้องขอโทษประชาชน และรับผิด ซึ่งเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ทำ แต่มันมากกว่านั้นหรือเปล่า และมันจะจบอย่างไร นี่คือคำถามใหญ่
ผมไม่ได้จะบอกว่า ท่านหัวหน้าพรรคยังไม่ได้ทำอะไร แต่ทำแล้วสามารถจบประเด็นนี้ได้ไหม ประเด็นของคุณปริญญ์ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปแล้ว พรรคไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ แต่การเรียกศรัทธากลับคืนมาของผู้บริหาร และของพรรค หลักการที่ต้องทำ แน่นอนหลังจากขอโทษ ความรับผิดชอบของผู้บริหาร จะต้องเดินหน้าทำอะไรก็แล้วแต่ ที่จะทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น
76 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยแสดงความรับผิดชอบหลายต่อหลายครั้ง การลาออกเป็นความรับผิดชอบที่ผู้นำจะต้องทำไหม ก็แล้วแต่เรื่อง เรื่องนี้อาจจะจำเป็นถึงขนาดนั้นหรือไม่ ผมว่าผู้บริหารก็ต้องตัดสินใจ แต่การตัดสินใจในกรณีนี้ หลักการคือ เมื่อตัดสินใจจะไม่ลาออก เราก็ต้องเดินหน้าเท่าที่เราทำได้ และเรียกศรัทธากลับคืนมา
ผมขอยกตัวอย่างคุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี เคยลาออก 4-5 ครั้ง หลังจากแพ้การเลือกตั้งปี 2550 ท่านก็ลาออก และท่านก็มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อกลับเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ท่านกลับมาบริหารพรรค เข้าสู่การเลือกตั้ง ปี 2554 ก็แพ้อีก แม้คะแนนของ ส.ส. จะเพิ่มมากขึ้นจากปี 2550 แต่ท่านก็ลาออก สมาชิกก็เลือกท่านกลับเข้ามาใหม่ จนถึงปี 2562 นั่นชัดเจนว่าลดลงเยอะมาก ท่านก็ต้องรับผิดชอบ
นี่คือหลักการ ต้องให้สังคมร่วมกับสมาชิกพรรคเป็นคนกำหนดว่า หน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อจะเดินหน้าบริหารพรรคต่อ ควรทำอย่างไร
ถ้าท่านหัวหน้าพรรคบอกอย่างนั้นแล้ว ทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธากลับมาได้ ก็คือจบ ไม่มีใครหรอกที่อยากจะซ้ำเติมพรรค การเมืองในพรรควันนี้ต้องร่วมมือกันทำงาน แต่แน่นอนที่สุด การทำงานของสมาชิกแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน ดังนั้น กรรมการบริหารที่ลาออกไป ผมเชื่อว่าเป็นความรู้สึก และความรับผิดชอบส่วนตัวต่อพรรค ไม่ใช่กับตัวของแต่ละคน
ถ้าถามผมว่าการลาออกเท่ากับการทิ้งปัญหาไหม จะมองอย่างนั้นก็ได้ หรือจะมองอีกมุมก็ได้ พรรคคือสถาบัน เหมือนกับทุกองค์กร จะต้องมีผู้บริหาร ไม่ว่าผู้บริหารจะลาออกด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีกระบวนการสรรหาผู้บริหารเข้ามาใหม่
ดังนั้น การที่จะบอกว่าทิ้งความรับผิดชอบ ในส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าลาออกแล้วองค์กรนี้จบหมดเลย ถ้าเป็นบริษัทก็ขายหุ้นทิ้ง ยกเลิกกิจการ อันนั้นก็ต้องมองดูว่า จุดจบของบริษัทนี้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ พรรคเป็นสถาบันการเมือง ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกผู้บริหารที่เหมาะสม
วันนี้เป็นเรื่องที่เราเรียกว่า วิกฤตศรัทธา ซึ่งเป็นเรื่องการบริหารงานของพรรค ทั้งหมดทั้งปวงมีคำตอบในตัวเอง คือเสียงจากประชาชน สิ่งที่จะบอกว่ากระแสเราจะเดินหน้าต่ออย่างไร คือการเลือกตั้งครั้งต่อไป
วันนี้เรามาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เกิดขึ้นใกล้วันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. พรรคประชาธิปัตย์เราเป็นผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกเมื่อนานมากแล้ว แต่ครั้งหลังสุด 4 ครั้ง พรรคประชาธิปัตย์ชนะมาโดยตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนจับตาดูอยู่ อาจจะเป็นโชคดีในครั้งนั้นที่ไม่มีวิกฤต อาจจะเป็นโชคร้ายในครั้งนี้ที่เกิดขึ้น
การแข่งขันครั้งนี้ ผมกล้าพูดได้ว่าจะแสดงถึงทิศทางกับกระแสสังคม ที่จะตอบว่า ประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงไหน ช่วงขาลงหรือขาขึ้น
วันที่ 22 พ.ค.นี้ ถ้าเราได้คะแนนเท่าเดิม ไม่ต้องไปถึงล้านเหมือนสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หรือท่านอภิรักษ์ โกษะโยธิน ใช้มาตรฐาน 4.2-4.5 แสนเสียง ถ้าได้มากกว่านี้ ก็เรียกได้ว่าพรรคยังมีกระแสเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ
ถ้า ส.ก. ของเราได้น้อยกว่า 40 คน เราก็ต้องมานั่งคิดว่าเกิดอะไรขึ้น ส.ก.ของเราที่เคยได้เป็นกอบเป็นกำ เรียกว่า 70% ของสภา กทม. วันนี้เหลือแค่นี้ ก็จะเป็นตัวหนึ่งที่ตอบคำถามว่า อย่างน้อยกระแสเมืองหลวง คิดยังไงกับพรรคประชาธิปัตย์ วันที่ 22 พ.ค. นี้จะเป็นตัวตัดสิน
ผมก็ต้องพูดตรงๆ ว่านั่นคงเป็นสิ่งที่สังคมและประชาชนถามหา ผมคงตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ผมตอบแทนตัวผมเองได้ว่า ถ้าผมเป็นผู้บริหารพรรค ผมต้องคิดวิธีนี้เป็นอย่างแรกเลย แล้วมันจะผิดหรือถูก ก็ต้องให้สถานการณ์เป็นตัวตัดสิน
ผมตอบไม่ได้ และผมไม่กล้าจะตอบ ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด วันนี้ ชีวิตของเราฝากไว้กับการตัดสินใจของผู้บริหารชุดปัจจุบัน คนออกไปแล้วก็เป็นตัวอย่าง คนที่ยังอยู่ก็เป็นตัวอย่าง มันก็เลยเป็นเรื่องของความคาดหวัง ไม่ใช่เฉพาะความคาดหวังของคนในพรรคอย่างเดียว แต่เป็นของสังคมที่จะต้องเลือกเรา และศรัทธาในเรา ในการบริหารเมือง หรือบริหารประเทศต่อไป
ถ้าอยู่แล้วแก้ได้ ผมจะดีใจมาก เพราะผมจะได้ไม่ต้องเหนื่อย เพราะครั้งหน้าถ้าผมต้องหาเสียง ผมต้องหาคำตอบให้ประชาชน ยกเว้นประชาชนลืมง่าย เห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่
การรับผิดชอบโดยการลาออก มันไม่ใช่การทิ้งปัญหา หรือทำความผิด แต่มันคือการแสดงออกของผู้นำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวคิดของผมก็อาจจะผิด เพราะถ้าผมอยู่ตรงนั้น ผมอาจจะไม่ทำก็ได้ หรือผมอาจจะทำก็ได้ แต่ผมเป็นแค่สมาชิก และไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหาร ผมจะพูดอะไรก็ได้
แต่ในฐานะที่เคยได้รับโอกาสจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคชุดที่แล้ว ไม่ต้องตัดสินใจอะไรหรอกครับ เพราะผู้นำของผมในวันนั้นลาออก ผมก็ต้องลาออกอยู่แล้ว ผมคิดว่าหลักการของท่านถูกต้อง แต่เหตุผลในการลาออกไม่เหมือนกัน เหตุผลคือได้คะแนนน้อย อันนั้นคือการรับผิดชอบ ไม่ลาออกไม่ได้แปลว่าไม่รับผิดชอบ
ถ้าคิดในหลักการ แล้วตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง ก็ต้องรับผิดชอบกันต่อไป ท่านไม่ออก และจะฟื้นยังไง ท่านอาจจะมีแผนของท่าน ท่านอาจจะทำได้ดี และเรียกศรัทธาประชาชนกลับมามากกว่าการลาออกก็ได้ แต่ท่านต้องทำ และท่านต้องทำก่อนถึงวันที่ 22 พ.ค. เพราะจะเป็นวันชี้ชะตาประชาธิปัตย์ใน กทม.
เราไปมองอดีตไม่ได้ ผมได้รับการชักจูงเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยคุณอภิสิทธิ์ ในฐานะเพื่อน ผมก็ต้องยอมรับว่าผมสนิทกับท่านมาก แต่ไม่ใช่ทำงานให้ท่านในฐานะตัวบุคคล ตอนผมเข้ามาครั้งแรก คุณอภิสิทธิ์คือผู้บังคับบัญชาตอนนั้น ท่านให้โอกาสผม
ดังนั้น หลายคนก็มองว่าผมเป็นขั้วอภิสิทธิ์ ผมก็ต้องตอบตรงๆ ว่า สำหรับคุณอภิสิทธิ์ ท่านไม่มายุ่งกับพรรคประชาธิปัตย์เลย ตั้งแต่ท่านลาออกจากการเป็น ส.ส. ไปเมื่อปี 2562 ท่านไม่เคยมาเกี่ยวข้อง ผมพูดด้วยความสัตย์จริง ท่านไม่เคยมาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการลงมติในสภา แม้กระทั่งครั้งเดียว เพราะท่านยึดในหลักการ
และไม่ว่าจะเป็นคนอื่นที่เข้ามา แม้กระทั่งท่านจุรินทร์ ผมก็ต้องสนับสนุน ตราบใดที่ท่านมาตามหลักการที่เกิดจากความรับผิดชอบ นี่จะเป็นภาระของท่าน ในการเสนอตัวเองครั้งต่อไป ถ้าท่านมีวิธีการ ผมก็จะเลือกท่าน
และเมื่อถึงวันนี้ ผมก็หวังว่าท่านจะตัดสินใจนำพาพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากวิกฤตนี้ ไม่ใช่วิกฤตของตัวท่านเอง หลายคนมองว่านี่เป็นวิกฤตของจุรินทร์ ไม่ใช่ นี่เป็นวิกฤตขององค์กร และวิกฤตขององค์กร จะต้องแก้ด้วยผู้นำองค์กร
คนดีไม่จำเป็นจะต้องอยู่แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ คนดีควรจะอยู่ทุกที่ ทุกพรรคการเมือง ทุกองค์กรในประเทศนี้ แต่พรรคการเมืองควรต้องมีคนดีเยอะกว่าปกติมากๆ เพราะเขาคือตัวแทนของประชาชน
คำว่าคนดีไม่ได้ตายตัว แต่เราต้องยึดมั่นในสิ่งที่ท่าน ชวน หลีกภัย เตือนสติเรา ท่านพูดเสมอว่า ‘พรรคประชาธิปัตย์มีคนดีเยอะ’ แต่ครั้งนี้เป็นความบังเอิญ ความโชคร้าย และความผิดพลาด เพราะเราเกิดมีคนไม่ดีเข้ามาคนเดียว ผมย้ำว่าคนเดียว และคนนั้นยังไม่เคยถูกพิพากษา แต่ข้อมูลก็ทำให้สังคมเชื่อไปแล้ว ดังนั้นคำว่าคนดีสำหรับผม จำเป็นจะต้องมีมาตรฐานของคนดีอยู่ในพรรคการเมือง สูงกว่าคนในองค์กรทั่วไป
เรามี ส.ส. 50 กว่าคน ตีตัวเลขง่ายๆ ก็คือ 3.9 ล้านคะแนน ที่เลือกเรา เราเป็นตัวแทนคน 3.9 ล้านคะแนน เขาก็ต้องเห็นความเป็นคนดีในเรา ไม่ใช่คนเดียว แต่ทั้งองคาพยพ ดังนั้น ผมพูดกับตัวผมเองว่า ผมเป็นนักการเมือง มีอาชีพทำงานการเมือง และภูมิใจในอาชีพ นั่นคือสิ่งที่ผมฟังจากท่านชวนเสมอ ว่าเราก็อย่าเลือกคนไม่ดีมาปกครองแผ่นดิน มาบริหารประเทศ เราก็ต้องเลือกคนดี
ดังนั้น ผมก็ตั้งตัวของผมในฐานะสมาชิก 1 คน ให้ดีที่สุดในมาตรฐานที่ผมคิดว่า นี่คือความซื่อสัตย์สุจริต จริยธรรม ผมก็โชคดีที่ได้รับการปลูกฝังมาว่า เมื่อคุณเป็นนักการเมืองแล้ว คุณเป็นตัวแทนประชาชน เมื่อคุณทำผิดพลาดไป คุณต้องรับผิดชอบมากกว่าคนธรรมดาหลายๆ เท่า
ผมไม่อยากเป็นคนที่เขาตีตรา ผมว่าเด็กดื้อ เวลาคนไหนวิจารณ์ผมอย่างนี้ ผมก็จะตอบกลับไปว่า ในการโหวตทั้งหมด โหวต 100 ครั้ง ผมโหวตเหมือนกับคนอื่น 98 ครั้ง มติเดียวกันเลย ผมอาจจะมี 3-4 เรื่อง ที่ผมโหวตไม่เหมือนกับคนอื่น
เรื่องแรกเกี่ยวกับ มาตรา 44 ที่ผมไม่เห็นด้วยเลยถ้าจะไม่มีการตรวจสอบจากสภาฯ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่าต้องตีตกอันนี้ไป อย่าให้ผ่าน ผมก็เป็นหนึ่งใน 2-3 คน ที่โหวตว่า ไม่ได้ จะต้องมีการตรวจสอบมาตรา 44
เรื่องที่สอง ที่สำคัญมากสำหรับผม พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมโหวตเห็นชอบให้ยกเลิกมาตรา 272 ลดอำนาจ ส.ว. ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมไม่เคยพูดนะครับว่า ส.ว. 250 ท่าน เป็นคนไม่ดี ท่านเป็นคนดีหมด แต่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี มันผิดหลักประชาธิปไตย ในมุมมองของผม
เรื่องสาม อาจจะละเอียดอ่อน คือการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกผมเป็นคนหนึ่งที่ปฏิเสธ และยกมือในการประชุมพรรค เนื่องจากมีรัฐมนตรี 1 ท่าน ที่ผมไม่สามารถโหวตให้ท่านผ่านได้ แต่ผมแพ้มติพรรค จึงต้องโหวตเห็นชอบให้รัฐมนตรีท่านนั้นผ่าน ผมต้องบอกตามตรงว่า วันนั้นผมฝืนตัวเองมาก กลับมาบ้านผมก็ไม่สามารถจะมองหน้าตัวเองได้ ไม่ใช่จะทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตนะครับ แต่นี่เป็นความรู้สึก
2 ครั้งต่อไป เป็นเรื่องของการทุจริต ผมได้รับข้อมูลว่า 3 ใน 10 ของคณะรัฐมนตรี มีความไม่ชอบมาพากล ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด ถ้าผมโหวตไม่ไว้วางใจ ผมก็จะยิ่งเป็นตัวปัญหาหนัก ผมไม่ได้บอกว่าคนนั้นมาจากไหนนะ มีมาจากหลายพรรคเลย แต่มีอยู่ 3 คนที่ผมได้ข้อมูล ผมจึงตัดสินใจงดออกเสียง
ครั้งที่ 3 อภิปรายไม่ไว้วางใจก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน ผมก็เลยต้องรับผิดชอบ พรรคอาจจะตั้งมาตรฐานว่า คนนี้ฝืนมติพรรค ไม่สมควรส่งลงสมัคร ส.ส.แล้ว ถ้าผมทำในสิ่งที่ผิด ผมก็ต้องยอมรับ
สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจของเราก็คือ นายของเรา การเป็นผู้นำก็ต้องรับภาระมากกว่าคนที่เป็นผู้ตาม และในวันนี้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของผู้นำ ถ้าผู้นำสามารถทำโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้งว่า ทำแล้วพาเราออกจากปัญหาทั้งหมด ผมก็ต้องขอบคุณท่าน เพราะนั่นคืออนาคตของผม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง