เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563เสนอโดย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ..... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 มีการแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินขอบเขตกว่าขั้นการรับหลักการหรือไม่
โดย ธีรัจชัย กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขั้นรับหลักการวาระ 1 นั้น ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา รับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียง 2 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 83 และมาตรา 91 แต่ในขั้นการแปรญัตตินั้น กรรมาธิการฯกลับเพิ่มเติมมาตราเกินกว่าที่รับหลักการเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 85 ,86 , 92 , 93 , 94 และมาตรา 105 พร้อมกันนี้ ยังมีการเพิ่มบทบัญญัติใหม่ด้วย
ธีรัจชัย กล่าวว่า หลักการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ กำหนดมาตรา 83 และมาตรา 91 เท่านั้น ชัดแจ้งว่ามิได้มีการกล่าวถึงการแก้ไขระบบเลือกตั้งทั้งระบบ กรรมาธิการฯจึงไม่สามารถตีความขยายเกินหลักการ หรือขยายตามอำเภอใจของเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการ โดยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฏหมายและหลักนิติธรรม
“จึงขอให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 114 วรรคสอง และข้อที่ 124 เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ข้อบังคับ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือว่าขัดหลักการ เพราะเป็นการแก้เกินจากการรับหลักการในวาระแรก โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับหลักการวาระแรกแต่อย่างใด” ธีรัจชัย กล่าว
ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนและไม่เคยปฏิเสธกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรายืนยันสนับสนุนระบบการเลือกตั้ง โดยใช้บัตร 2 ใบ สนับสนุนการคิดคะแนนการเลือกตั้งตามสัดส่วนพึงมี โดยคะแนนต้องไม่ตกน้ำ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนนับที่มากหรือน้อย แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ขัดหลักการขัดหลักนิติรัฐ เป็นการละเมิดต่อจริยธรรมร้ายแรงของสมาชิกรัฐสภา เราต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และต้องการให้สังคมรุ่นหลังจดจำและจารึกว่า เราได้วางหลักการที่ถูกต้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯนั้น ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของที่ประชุมรัฐสภา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีหลักการที่สั้นและเข้าใจง่าย คือการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 จำนวน ส.ส. และมาตรา 91 การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งทั้งระบบจริง ทำไมไม่วางหลักการให้กว้างกว่านี้ ดังนั้น ร่างแก้ไขฉบับนี้ จึงไม่ชอบในข้อบังคับแห่งรัฐสภาและมีความไม่ชอบมาพากล
รังสิมันต์ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมถึง 9 มาตรา ซึ่งมีหลายเรื่องที่ขัดต่อหลักการอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น วิธีการออกเสียงทั้งโดยตรงและทางลับ เปลี่ยนวันที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ต้องตรวจสอบและประกาศผลให้เร็วขึ้น จาก 60 วันเป็น 30 วัน ฯลฯ ซึ่งการทำเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการสอดไส้ ที่จะทำให้เกิดปัญหารัฐธรรมนูญ และประเทศไทยต่อไปในอนาคต
“ผมทราบดีว่าพวกท่านอยากจะแก้ระบบเลือกตั้ง เพราะพวกท่านเชื่อว่าจะทำให้พวกท่านกลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง แต่ก็ช่วยเขินอายกันบ้างได้ไหม ไม่ใช่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบไม่มีหลักเกณฑ์อะไร ไม่ใช่เพราะผมเห็นดีเห็นงามกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมติดคุกเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมไม่เชื่อเด็ดขาดว่าการใช้ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ คือประตูทางออกของวิกฤติในสังคมไทย ผมอยากให้หัดที่จะเรียนรู้บทเรียนจากอดีตเสียบ้าง”
ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ..... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมของคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ญัตติทีี่เสนอนี้ ไม่น่าจะตรงกับเจตนารมย์ของข้อบังคับข้อที่ 151 แต่เป็นญัตติที่ต้องการเสนอความเห็นส่วนตัว ที่อยากจะอภิปรายคัดค้านการแก้ไขและธรรมนูญระบบเลือกตั้งโดยบัตร 2 ใบ มากกว่า
ไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมายหรือไม่ใช่นักกฎหมาย ต่างก็เข้าใจว่าการแก้ไขด้วยการเพิ่มมาตรานั้น สามารถทำได้ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน คณะกรรมาธิการฯ ได้ยึดหลักว่าแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการแก้ไขมาตรา 83 และ 91 ของรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 86 แก้ไขจากเขตเลือกตั้ง 350 เขต เป็น 400 เขต ยืนยันว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นที่รัฐสภาต้องพิจารณามีเพียง 2 ประเด็น คือการแก้มาตรา 86 ว่าเกี่ยวเนื่องกับหลักการหรือไม่ โดยมาตรา 86 นั้น เขียนเพื่อรองรับระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะมีจำนวน ส.ส.400 คน จึงต้องมีการแบ่งเขตใหม่ เป็น 400 เขต
อีกประเด็นคือข้อสังเกตที่เขียนแนบท้าย ซึ่งตนในนามของพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ให้มีการบังคับใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น แต่ถ้าระหว่างนั้นมีการเลือกตั้งซ่อม ให้ใช้กฎหมายเดิมไปก่อน มิเช่นนั้นจะมี ส.ส. 2 ระบบเลือกตั้งในสภาเดียว
“หลายคนบอกว่ากรรมาธิการไม่มีหน้าที่และอำนาจมาแก้ไขหรือเสนอความเห็นอะไรได้เลย ผมอยากให้กลับไปดูมาตรา 129 ที่เขียนไว้ว่ากรรมาธิการมีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญมอบหมาย ซึ่งหน้าที่และอำนาจนั้น ก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภา รัฐสภามีหน้าที่อำนาจและอำนาจอย่างไร กรรมาธิการมีหน้าที่และอำนาจเช่นนั้น ถือว่าใหญ่กว่าสมาชิก คำแปรญัตติของเพื่อนสมาชิกนั้นถือว่าน้อยมาก ถ้าเทียบหน้าที่และอำนาจนั้น เราอย่านำเรื่องที่ไม่ใช่เหตุและผลมาอภิปรายให้สภาแห่งนี้เกิดความสงสัยและงุนงง” ชลน่าน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 17.10 น. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาต่อว่าจะมีการลงมติอย่างไร โดยเบื้องต้น ชวน หลีกภัย ระบุว่า จะถามสมาชิกว่า การทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯนั้น ถูกต้องหรือไม่ แต่ นพ.ชลน่าน คัดค้านว่า ถ้าถามเช่นนั้น จะเท่ากับลงมติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ซึ่งไม่ตรงกับญัตติของผู้ยื่น ขณะที่สมาชิกบางส่วนเสนอให้พรรคก้าวไกลถอนญัตติออกไป
มติ 374:60เสียงโหวตคว่ำญัตติก้าวไกล ถือเป็นมติเด็ดขาด
เวลา 17.40 น. ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จในร่างสุดท้ายแล้ว แต่ยังไม่ได้แจกเอกสารให้กับสมาชิก เมื่อผู้ยื่นญัตติดังกล่าว จึงยังไม่เห็นร่างฉบับการแก้ไขล่าสุด ดังนั้น จากนี้จะมีการแจกร่างดังกล่าวให้กับสมาชิกไปอ่านและศึกษา และเลื่อนการประชุมออกไป และกลับมาลงมติในวันพรุ่งนี้(25 ส.ค.)
ต่อมาเวลา 17.45 น. ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอว่า ขอให้เสนอกรรมาธิการฯถอยร่างดังกล่าวไปก่อน กลับไปแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องแล้วค่อยกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
เวลา 18.10 น. ชวน หลีกภัย ขอมติจากที่ประชุมว่าเห็นด้วยกับญัตติของธีรัจชัย หรือไม่ โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นด้วย 60 เสียง ไม่เห็นด้วย 374 เสียง งดออกเสียง 193 เสียง ซึ่งถือว่าการวินิจฉัยของที่ประชุมเป็นเด็ดขาด เพราะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง
'ไพบูลย์' ขอรัฐสภาโหวตอนุมัติแก้ไขร่าง รธน. 25 ส.ค.
เวลา 18.25 น. จากนั้น ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรับธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ มาตรา 91) ได้หารือที่ประชุมว่า ตามที่รัฐสภาได้ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา และเมื่อเช้าวันนี้ (24 ส.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อปรับปรุงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 83 และ 91 และมีมติให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญและรายงานของคณะกรรมาธิการที่ได้เสนอต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ทั้งนี้ ตนเห็นควรให้นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 37 ที่กำหนดไว้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมญัตติหรือการถอนญัตติที่ประธานรัฐสภาได้บรรจุเข้าที่ประชุมแล้วจะกระทำได้ต่อเมื่อมีมติจากที่ประชุมรัฐสภา ตนเห็นควรให้นำข้อบังคับการประชุมดังล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลม กับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและรายงานของคณะกรรมาธิการ เพื่อให้ที่่ประชุมรัฐสภาได้ และให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุญาตให้ที่ประชุมเห็นชอบตามที่ กมธ.ได้แก้ไข
ขณะที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล คัดค้านโดยระบุ ได้รับรู้ผ่านการประชุมของคณะกรรมาธิการผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์เป็นการประชุมที่ไม่ชอบ เพราะมีการแจ้งข้อความผ่านเอสเอ็มเอส ดังนั้นไม่สามารถเข้าร่วมคณะกรรมาธิการได้ เพราะการแก้ไขมีการถอนมาตราถึง 4 มาตรา และเห็นว่าการนัดประชุมเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ
โดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานที่ประชุมได้ถามที่ประชุมจะมีความเห็นเป็นอื่นหรือไม่ ดังนั้น ถ้ามีสมาชิกติดใจจึงต้องขออนุมัติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (25 ส.ค.) จากนั้นประธานสั่งปิดประชุมทันทีโดยนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค.นี้