โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เผยในวันที่ 23 พ.ย.ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะเดินหน้านำน้ำมันดิบสำรองที่อยู่ในคลังปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) ออกมาใช้จำนวน 50 ล้านบาร์เรล จากที่มีอยู่ทั้งสิ้น 604.5 ล้านบาร์เรล (อ้างอิงตัวเลขอัปเดตของวันที่ 19 พ.ย.)
น้ำมันดิบสำรองจะถูกนำออกมาใช้ระหว่างเดือน ธ.ค.2564 - เม.ย.2565 โดยการจำหน่ายให้กับบรรดาโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ เพื่อเป็นการรับมือกับวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำนักข่าว CNBC รายงานอ้างอิงคำแถลงของทำเนียบขาวซึ่งระบุว่า นี่คือความพยายามร่วมกันของบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีการใช้พลังงานในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น โดยความพยายามของทั้ง 6 ประเทศถือเป็นการร่วมมือกันเพื่อควบคุมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทั้ง 5 ประเทศที่เหลือจะนำน้ำมันดิบสำรองออกมาใช้เป็นปริมาณมากน้อยเท่าใด และในกรอบเวลาใด
การประกาศคำมั่นจากฝั่งสหรัฐฯ เบื้องต้นจะมีการนำน้ำมันดิบสำรองปริมาณ 32 ล้านบาร์เรลแรกออกมาใช้ก่อนในเดือน ธ.ค.นี้ โดยจะเป็นการนำออกมาใช้แบบ 'แลกเปลี่ยน' กับผู้ผลิตน้ำมันในประเทศ ซึ่งมีการทำข้อตกลงกันว่าบรรดาผู้ผลิตจะต้องส่งคืนน้ำมันดิบให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงปี 2565-2567
ขณะที่น้ำมันดิบปริมาณ 18 ล้านบาร์เรลที่เหลือจะถูกนำออกมาใช้ในลักษณะการ 'ขายโดยตรง' ให้กับโรงกลั่นน้ำมัน เป็นเสมือนโควต้าการขายที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณที่มีการอนุญาตก่อนหน้านี้
"ประธานาธิบดีมีความพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น และพร้อมที่จะใช้อำนาจประธานาธิบดีอย่างเต็มที่ในการร่วมมือกับโลกที่จะรักษาสภาพของคลังน้ำมันดิบสำรองที่เพียงพอ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เรากำลังก้าวออกจากวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปด้วยกัน" ทำเนียบขาวระบุ
ด้านสำนักข่าว VOA ชี้ว่า การที่ราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ส่งผลให้ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังเผชิญอีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือ 'เงินเฟ้อ' โดยเงินเฟ้อในดัชนีผู้บริโภคของสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับสูงที่สุดในรอบ 31 ปีในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาที่ตัวเลข 6.2% ราคาสินค้าในตลาดพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลว่าปัญหาเงินเฟ้ออาจยืดเยื้อไปถึงปี 2565 ซึ่งทำให้คะแนนนิยมของ ปธน.ไบเดนต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ