มันโกซูทู บูเทเลซี หัวหน้าเผ่าซูลู กล่าวว่าขณะนี้ กษัตริย์ซูลูทรงได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์อยู่ในประเทศเอสวาตีนี เนื่องจากพระองค์ทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยที่จะเข้ารับการรักษาในแอฟริกาใต้ โดยบูเทเลซีระบุเสริมว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของที่ปรึกษาอาวุโสของพระองค์ ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจถูกลอบวางยาพิษด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เจ้าชาย แอฟริกา ซูลู โฆษกอย่างเป็นทางการของกษัตริย์มิซูซูลู กล่าวว่า พระองค์ทรงมี "พระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง" ในขณะนี้ และพระองค์ไม่ได้ประทับในโรงพยาบาลแล้ว และไม่ควรสร้าง "ความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการพูดถึงของบูเทเลซีโดยอ้อม
เมื่อช่วงเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว กษัตริย์มิซูซูลูสวมมงกุฎขึ้นครองราชย์ต่อหน้าพสกนิกรนับพัน อย่างไรก็ดี ราชวงศ์ของเผ่าซูลูกลับมีเกมการแย่งชิงอำนาจที่ดุเดือด มาตลอดการสืบราชสันตติวงศ์ในเวลากว่า 48 ปีที่ผ่านมา โดยความตึงเครียดถึงสถานการณ์การแย่งชิงอำนาจปรากฏขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ระหว่างกษัตริย์ของเผ่าและบูเทเลซี ซึ่งเป็นหน้าเผ่าซูลู
ทั้งนี้ กษัตริย์ซูลูไม่มีอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นทางการ และบทบาทของกษัตริย์ในสังคมแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่มีเพียงแค่ในเชิงพิธีการ แต่พระองค์ยังคงมีอิทธิพลอย่างมาก ด้วยงบประมาณหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลต่อปี
สมาชิกกลุ่มหนึ่งในราชวงซ์ซูลูได้อ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์ผ่านการฟ้องร้องต่อศาล โดยสมาชิกราชวงศ์กลุ่มนี้ยืนกรานว่า กษัตริย์มิซูซูลูไม่ใช่รัชทายาทโดยชอบธรรมของกษัตริย์ กู้ดวิว ซเวลิทินี พระราชบิดาผู้ล่วงลับ โดยสมาชิกราชวงศ์กลุ่มดังกล่าวยืนยันว่า ลูกชายอีกคนของเจ้าชายซิมะกาเดควรขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ซูลู
กษัตริย์ซเวลิทินีมีมเหสี 6 พระองค์ และมีลูกอย่างน้อย 26 พระองค์ ทั้งนี้ พินัยกรรมของพระองค์ถูกนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องเห็นแย้งบนชั้นศาลโดยมเหสีองค์แรกอย่างราชินีซิบอนจิเล ดลามินิ-ซูลู และลูกสาว 2 พระองค์ของพระนาง โดยศาลยกฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว แต่ราชินีซิบอนจิเลและลูกสาวทั้งสองระบุว่า พวกเธอจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว
ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใดอยู่เบื้องหลังการวางยาพิษของกษัตริย์มิซูซูลูหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแอฟริกาใต้ยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว
ในแถลงการณ์บูเทเลซีกล่าวว่า ดักลาส ซาบา ที่ปรึกษาอาวุโสของกษัตริย์มิซูซูลู "ถึงแก่กรรมอย่างกระทันหันและมีข้อสงสัยว่าเขาถูกวางยาพิษ" บูเทเลซียังระบุอีกว่า “เมื่อพระองค์เริ่มรู้สึกไม่สบาย พระองค์ก็ทรงสงสัยว่าพระองค์อาจจะทรงถูกวางยาพิษด้วย”
“พระองค์ทรงขอรับการรักษาพยาบาลในเอสวาตีนีทันที ผมทราบข่าวว่าพระองค์ทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยที่จะทรงรับการรักษาในแอฟริกาใต้ เนื่องจากพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ได้รับการรักษาในแอฟริกาใต้และสวรรคตในเวลาต่อมา” บูเทเลซีกล่าว
หัวหน้าเผ่าบูเทเลซีกล่าวเสริมว่า ในขณะที่กษัตริย์ได้เพิ่งทรงแต่งตั้งเจ้าชายแอฟริกาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อสารในสำนักงานของพระองค์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีตามประเพณี เขามีภาระหน้าที่ที่จะต้องแจ้งให้ชนชาติซูลูทราบถึง "สถานการณ์ที่น่ากังวลนี้" และ “ความห่วงใยในทันทีของเราคือความผาสุกของกษัตริย์ เราในฐานะชนชาติซูลูขอภาวนาให้พระองค์หายเป็นปกติโดยเร็ว… หากมีเหตุผลใดสำหรับการสอบสวนเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่จะเข้าไปจัดการ” บูเทเลซีกล่าวเสริม
ในทางตรงกันข้าม จากแถลงการณ์ที่ออกมาในเวลาต่อมา เจ้าชายแอฟริกาตรัสว่า มีเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเป็น "วาระที่บงการและเรื่องเล่าที่สิ้นหวัง ในการสื่อสารด้วยคำกล่าวอ้างที่หมิ่นประมาทและไม่มีมูลความจริง" เกี่ยวกับพระอาการของกษัตริย์ “ในท้ายที่สุด สิ่งนี้สร้างความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็นและการรับรู้ถึงความไม่มั่นคงในราชวงศ์” เจ้าชายแอฟริกาตรัสเสริม
อย่างไรก็ดี เจ้าชายแอฟริกาทรงยืนยันว่ากษัตริย์ทรงเข้ารับการตรวจพระวรกายอย่างละเอียดในประเทศเอสวาตีนี ขณะเสด็จไปเยี่ยมกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปิตุลา โดยการตรวจพระวรกายในครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลของ "เวลาในปัจจุบันของเราที่มีการระบาดใหญ่ เช่น โควิด-19 และโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ" และ "เพื่อบรรเทาเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันใดๆ จากรายงานการจากไปอย่างกะทันหันของซาบา"
การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์มิซูซูลูเกิดเร็วกว่าที่คาดไว้ และพระองค์เป็นศูนย์กลางของการถูกวางอุบายแผนร้ายในพระราชวัง โดยพระราชบิดาของพระองค์สวรรคตระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือน มี.ค. 2564 จากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โดยพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในชนชาติซูลู ด้วยเวลานานกว่าเกือบ 50 ปี
พระราชมารดาของกษัตริย์มิซูซูลู คือราชินีมานต์ฟอมบี ดลามินี-ซูลู โดยหลังจากการสวรรคตของพระสวามี พระนางได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่พระนางสิ้นพระชนม์ในอีก 1 เดือนต่อมา ทั้งนี้ พระนางเป็นพระขนิษฐาในกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ของประเทศเอสวาตีนี ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ปกครองประเทศด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพียงพระองค์เดียวของแอฟริกา
เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งประธานของคณะกรรมการความไว้วางใจอินกอนยามา ซึ่งการจัดการกับพื้นที่ตามโฉนดอันกว้างใหญ่ที่ควบคุมโดยกษัตริย์ โดยกษัตริย์มิซูซูลูทรงแต่งตั้ง ทันดูยิเซ อึมซิเมลา หัวหน้าเผ่าอีกคนขึ้นเป็นประธาน แต่บูเทเลซีไม่เห็นด้วยเพราะเขารู้สึกว่าทันดูยิเซไม่มีประสบการณ์ในตำแหน่งนี้
ที่มา: