ไม่พบผลการค้นหา
โป๊ป ฟรานซิส แสดงออกสนับสนุน LGBTQ แม้คำสอนของคาทอลิกระบุ "พฤติกรรมรักเพศเดียวกัน คือความผิดปกติโดยเนื้อแท้" ขณะที่บาทหลวง "เจมส์ มาร์ติน" ชี้กฎต้องบังคับใช้ผ่านจิตที่มีความเมตตา-เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ใจความช่วงหนึ่งในหนังสือคำสอนพระศาสนาจักรคาทอลิก (The Catechism of the Catholic Church) ที่สำนักวาติกันตีพิมพ์เมื่อปี 2535 (ค.ศ. 1992) ระบุว่า "พฤติกรรมรักเพศเดียวกันคือความผิดปกติโดยเนื้อแท้ (intrinsically disordered)" ขณะแนวโน้มการประพฤติดังกล่าวนับเป็น "ความผิดปกติอย่างไร้ข้อกังขา (objectively disordered)" และท้ายสุด "การกระทำดังกล่าวไม่อาจได้รับอนุญาตไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม"

ปัจจุบัน แม้คำสอนดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงแม้แต่ตัวอักษรเดียว ทว่านับตั้งแต่ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ โป๊ป ฟรานซิส ผู้ดำรงตำแหน่งประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกคนปัจจุบันเข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2556 มุมมองและจุดยืนที่ศาสนามีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ


ไม่เป็นทางการแต่เป็นรูปธรรม

ย้อนกลับไปในเดือน ก.ค.ของปีที่โป๊ปฟรานซิสได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ประมุขของนิกายโรมันคาทอลิกเริ่มศักราชด้วยการตอบคำถามนักข่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบาทหลวงที่แสดงตนว่าผู้รักเพศเดียวกันว่า "ฉันเป็นใครถึงมีสิทธิไปตัดสินผู้คนที่เป็นเกย์"

AP-LGBT-สีรุ้ง-หลากหลายทางเพศ-เกย์-เลสเบียน-คนข้ามเพศ

ตั้งแต่นั้นมา โป๊ปฟรานซิสยังได้แสดงออกถึงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้คู่รักเพศเดียวกันเข้าพบที่ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐฯ หรือการใช้สรรพนามเรียกชื่อชายข้ามเพศที่พบในนครรัฐวาติกันว่า "ชายผู้เคยเป็นหญิงแต่เป็นชายในปัจจุบัน" (he who had been she but is he) รวมไปถึงการออกมาเรียกร้องให้โบสถ์คาทอลิกต่างๆ ขอโทษกับพฤติกรรมที่มีต่อเกย์ตลอดอดีตที่ผ่านมา

บาทหลวงเจมส์ มาร์ติน นักบวชนิกายเยซูอิตชาวอเมริกัน ทั้งยังเป็นผู้เขียนหนังสือ "สร้างสะพาน" (Building a Bridge) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกบัความสัมพันธ์ของโบสถ์คาทอลิกและชาวคาทอลิกที่เป็นเกย์ ระบุว่า แม้จะไม่ต้องกลับไปเปลี่ยนคำสอนสักพยางค์เดียว แต่โป๊ปสามารถเปลี่ยนน้ำเสียง รูปแบบการเข้าถึง และบทสนทนาที่มีต่อประเด็น ชาวแคทอลิกที่เป็น LGBTQ ได้อย่างดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวนับเป็นรูปแบบหนึ่งของการสอน

ตลอดทั้ง 7 ปีที่ผ่านมา โป๊ปฟรานซิสแสดงออกอย่างไม่เป็นทางการตลอดถึงจุดยืนที่สนับสนุนชาว LGBTQ ช่วยกดดันให้โบสถ์คาทอลิกทั่วโลกประพฤติตัวดีขึ้นกับชาว LGBTQ อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของโป๊ปฟรานซิสนี้เรียกทั้งเสียงแซ่ซ้องจากคาทอลิกที่มีความหลากหลายทางเพศไปจนถึงความคับข้องใจจากกลุ่มคาทอลิกอนุรักษ์นิยมไม่แพ้กัน 

ในสารคดีที่มีชื่อว่า 'Francesco' (ฟรานเซสโก) โป๊ปชี้ว่า "ผู้รักเพศเดียวกันมีสิทธิที่จะอยู่ในครอบครัว พวกเขาเป็นบุตรของพระเจ้าและมีสิทธิในครอบครัว ไม่มีใครสมควรถูกขับไล่ออกจากครอบครัวหรือทำให้ทุกข์ลำเค็ญเพียงเพราะเป็นผู้รักเพศเดียวกัน" อีกทั้งยังระบุว่า "สิ่งที่พวกเราต้องร่วมกันสร้างคือกฎหมายคู่ชีวิต พวกเขามีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ข้าพเจ้าสนับสนุนสิ่งนี้"

การแสดงออกครั้งนี้ของประมุขแห่งชาวคาทอลิกได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากจากฝ่ายหนึ่งที่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ทว่าในสังคมคาทอลิกเองยังมีกลุ่มคนอีกมากที่ยึดถือในหลักปฏิบัติแบบเดิมตามคำสอน จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของโป๊ปฟรานซิส อาทิ กรณีของพระคาร์ดินัลเรย์มอนด์ บรู๊ก จากสหรัฐฯ ที่เขียนจดหมายวิจารณ์เปิดผนึกว่า การแสดงออกเช่นนั้นก่อให้เกิดความสับสนอย่างใหญ่หลวง ทั้งยังสร้างความความเชื่อผิดๆ ให้กับเหล่าผู้ศรัทธาคาทอลิก 

พระคาร์ดินัลเรย์มอนด์ บรู๊ก ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์โป๊ปฟรานซิสอย่างสม่ำเสมอ ยังชี้ต่อว่า การตอบคำถามระหว่างการสัมภาษณ์ของโป๊ปฟรานซิสไม่ควรถูกนำมาพิจารณาว่าเป็นคำสอนอย่างเป็นทางการจากโบสถ์คาทอลิก แต่ให้มองว่าเป็นความเห็นของคนผู้หนึ่งเท่านั้น 

หลังจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวออกไปและกลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก สำนักวาติกันออกมาชี้แจงว่า บทสัมภาษณ์ดังกล่าวมีการตัดต่อพร้อมยืนยันว่า โป๊ปฟรานซิสไม่สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ขณะที่ถ้อยคำที่สนับสนุนกฎหมายคู่ชีวิตนั้นเป็นการกล่าวถึงการบังคับใช้ในบางรัฐ "แต่ไม่ใช่กับคำสอนของโบสถ์คาทอลิกอย่างแน่นอน"

แม้การแสดงออกของประมุขคาทอลิกตลอดช่วงที่ผ่านมา จะสร้างความสับสนไม่มากก็น้อยว่าท้ายสุดแล้ว คาทอลิกจะเลือกทางใดกันแน่ ขณะที่คำสอนไม่เปิดรับการมีอยู่ของ LGBTQ แต่ประมุขสูงสุดกลับเคลื่อนไหวแสดงออกถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง บางฝ่ายมองว่าสิ่งที่โป๊ปฟรานซิสทำคือการหว่านเมล็ดพันธุ์ความคิดให้กับคาทอลิกอนุรักษนิยม 

ขณะที่ บาทหลวงมาร์ติน ทิ้งท้ายว่า "ข้าพเจ้าไม่คิดว่าโป๊ปฟรานซิสมุ่งหวังในการเปลี่ยนคำสอนเรื่องการรักเพศเดียวกันของโบสถ์ ทว่าสิ่งที่ท่านย้ำเตือนพวกเราคือ คำสอนนั้นต้องถูกนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่เหมาะ...รูปแบบที่มีความเห็นอกเห็นใจมากกว่านี้"

แม้จารีตประเพณีหรือคำสอนที่สืบต่อกันมาจะเป็นแบบหนึ่ง หากแต่ 'ประมุข' มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง ย่อมสามารถพาทุกฝ่ายไปถึงจุดที่สามารถประนีประนอมและมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีใครถูกลิดรอนสิทธิอันพึงมี

อ้างอิง; WSJ, BBC, DW

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;