ไม่พบผลการค้นหา
‘นิติพล’ ชี้รื้อโฮมสเตย์ 'ม่อนแจ่ม' สะท้อนสันดานดิบชอบใช้อำนาจนิยมกดทับ ไร้การแก้ปัญหาสิทธิชุมชน เหน็บเป็นรัฐบาล 8 ปี ไม่เคยมุ่งแก้ปัญหาให้ประชาชน ชี้หวังทำให้เป็นสภาพป่าปิด เป็นวิธีล้าหลัง

วันที่ 31 ส.ค. 2565 นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน นำกำลังหลายร้อยนายพร้อมอาวุธและอุปกรณ์เครื่องมือ เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมรื้อโฮมสเตย์ม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ แต่ถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ม้ง โดยระบุว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นชาติพันธุ์ด้วย ตนมองว่า กรณีที่เกิดขึ้นแม้มีหลายปัจจัยซ้อนกัน แต่ปัญหาใหญ่สุดคือ การไร้ซึ่งความพยายามแก้ปัญหาที่ดินและสิทธิชุมชนของภาครัฐอย่างจริงจังและจริงใจ จึงทำให้แม้รัฐบาลนี้จะอยู่มานาน 8 ปี ควรได้รับรู้ปัญหาทั้งในด้านข้อเท็จจริงและด้านองค์ความรู้ที่มีแนวทางดีๆให้หยิบยกมาใช้แก้ปัญหา แต่กลับยังเลือกใช้วิธีการแบบเดิมๆ คือการอ้างเรื่องการอนุรักษ์เพื่อบังคับใช้กฎหมายเข้าไปจัดการพี่น้องประชาชน 

นิติพล กล่าวต่อว่า หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยที่รัฐอ้างเข้าไปจัดการนั้น ยังไม่เคยมีการพิสูจน์เรื่องสิทธิในที่ดิน หรือพิสูจน์ว่ามีการอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุทยาน ป่าสงวน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่กลับยอมใช้เวลา 8 ปีนี้ ทำให้มีแต่ความสับสนยังดำรงอยู่ เพราะเมื่อความคลุมเครือเกิดขึ้น ใครมีอำนาจก็เสียงดังกว่า ใช้กฎหมายและกลไกรัฐเข้าไปจัดการกับประชาชนได้ง่ายกว่า ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกิดครั้งแรกสำหรับพี่น้องม้งม่อนแจ่ม และไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่เดียว แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ จึงเป็นปัญหาที่สะท้อนสันดานดิบของรัฐที่ชอบใช้อำนาจกดทับประชาชน มากกว่าจะเป็นรัฐดำรงตนอยู่เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน

นิติพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีของม่อนแจ่ม พี่น้องยืนยันในหลักฐานของตัวเองว่าอยู่อาศัยในพื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ.2447 ก่อนจะมีประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเองที่ไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจนว่ามีการรังวัดชี้จุดโดยใครและอย่างไรเมื่อไหร่ จึงเป็นการบังคับใช้คำสั่งทางราชการอย่างเลื่อนลอย ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ที่มาพร้อมข้ออ้างที่เป็นการใช้ที่ดินผิดประเภทเท่านั้น 

“ปัญหาในเรื่องนี้เป็นความพยายามบังคับใช้กฎหมายบนความไม่ชัดเจนของฐานข้อมูลและการไม่ยอมปรับแนวคิดของรัฐด้านการอนุรักษ์หรือการดูแลรักษาป่า จึงมีความพยายามเอาประชาชนออกจากพื้นที่มาโดยตลอดเพื่อทำให้เกิดสภาพป่าปิดให้ได้ ซึ่งเป็นแนวคิดนี้ล้าหลังมาก เวลานี้ทั่วโลกต่างยอมรับแล้วว่า การมีอยู่ของกลุ่มคนดั้งเดิมนั้นสามารถรักษาผืนป่าไว้ได้ดีกว่าการกันเขตอนุรักษ์ เพราะการแยกคนออกจากป่ายังทำให้เกิดช่องว่างในการหาประโยชน์ของคนบางกลุ่มได้ เนื่องจากเมื่อเกิดสภาพปิดหมายความว่าจะไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในป่า ซึ่งก็เป็นข้อกังขามาตลอดว่า ขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าที่อ้างว่าชาวบ้านทำนั้น แท้จริงแล้วเกิดจากใครพยายามปกปิดความไม่ปกติจากสายตาของสาธารณะกันแน่”

นิติพล ยังกล่าวต่อว่า การทวงคืนผืนป่าหรือการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดของรัฐบาลนี้ ยังมีลักษณะที่เคร่งครัดเฉพาะกับประชาชนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นพวกพ้องหรือผู้มีอำนาจก็แทบจะไม่ถูกแตะต้อง ไม่งั้นคงไม่เกิดกรณีแบบเขายายเที่ยง หรือกรณีป่าแหว่งดอยสุเทพ รวมถึงกรณีการหาประโยชน์จากการออกเอกสารสิทธิไม่ชอบ ดังเช่น กรณีเกาะนุ้ย หรือกรณีรีสอร์ทหรูภูเก็ตของไฮโซคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อสามารถหาประโยชน์จากความคลุมเครือแบบนี้ได้มหาศาล จึงไม่แปลกที่ภาครัฐจะกระเหี้ยนกระหือรือในการดึงอำนาจการบริหารจัดการที่ดินและผืนป่าเข้ามาอยู่ในมือตัวเองมากที่สุด โดยผลักความเสียหายต่างๆให้กลายเป็นความผิดของประชาชนเท่านั้น

“ในกรณีของม่อนแจ่ม เท่าที่ผมติดตาม ประชาชนในพื้นที่ยืนยันมาตลอดว่า พร้อมเจรจาและทำตามข้อตกลงร่วมกับภาครัฐว่าต้องการเห็นการพัฒนาของม่อนแจ่มไปทางไหน แต่รัฐเอาแต่อ้างว่าทำผิดเงื่อนไขที่ดินตรงนี้ต้องมีไว้ปลูกผักเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วต้นเหตุของปัญหาทั้งมวลก็มาจากนโยบายของรัฐบาลทั้งสิ้น ที่ไปเปิดตลาดการค้าเสรีกับจีนทำให้ผักราคาถูกเข้ามามหาศาลจนผักที่ปลูกขายไม่ได้ เมื่อไม่มีรายได้เขาก็หาทางออกด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเป็นโอกาสให้พี่น้องประชาชนมีรายได้มากขึ้น สามารถพัฒนาตัวเองและยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆได้ด้วย จึงไม่เข้าใจว่า รัฐบาลนี้อยากจะเห็นแต่ประชาชนยากจนที่รอแต่การสงเคราะห์หรืออย่างไร จึงไม่พยายามหาวิธีให้เขานำทรัพยากรในท้องถิ่นตัวเองมาสร้างการพัฒนาตัวเองให้ได้ ผมคิดว่า หากภาครัฐต้องการแก้ปัญหาให้ประชาชนทุกกลุ่มอย่างจริงใจ ก็คงสามารถใช้กลไกอื่นมาช่วยได้โดยไม่จำเป็นต้องตีความกฎหมายแบบกำปั้นทุบดิน เพื่อแสดงอำนาจและสร้างความขัดแย้งกับประชาชนเสมอไป”

นิติพล กล่าวต่อไปว่า ในภาพใหญ่ หากมีความตั้งใจจริง ตนคิดว่า 8 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ เป็นเวลานานพอที่จะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงและความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินได้มากกว่านี้ หรืออย่างน้อยที่สุดคือเกือบ 4 ปีมานี้ ก็ต้องเคยฟังการอภิปรายกระดุม 5 เม็ด ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลบ้าง เพราะเราได้อภิปรายเรื่องนี้เป็นวาระแรกๆในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากปัญหาที่ดินคือกระดุมเม็ดแรกที่จะปลดปล่อยศักยภาพของประชาชนและประเทศได้ ถ้ารัฐบาลทำจริงตั้งแต่วันนั้น มาถึงวันนี้จะต้องเห็นทางออกที่มากกว่าการไล่รื้อได้แล้ว แต่หากตอนนี้พวกท่านยังหาทางออกไม่เจอ ก็นำข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาของพรรคก้าวไกลไปใช้ได้ โดยศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center ศึกษาและจัดทำแนวทางออกแบ่งเป็น 5 ประการหลัก ตนขอสรุปมาสั้น ดังนี้

หนึ่ง การพิสูจน์สิทธิในที่ดิน จะเป็นพื้นฐานขั้นแรกของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ภาครัฐจึงต้องเร่งรัดกระบวนการจัดทำแนวเขตที่ดินหรือ One Map เร็วที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลกลางในการตกลงกันเรื่องความทับซ้อนของหน่วยงานที่อ้างอำนาจในมือผ่านแผนที่คนละฉบับ เพราะถ้าใช้ข้อมูลคนละชุดแบบนี้ สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็เหลือแค่ประชาชน 

สอง สร้างเครื่องมือตรวจสอบสิทธิ รัฐบาลต้องพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดินสำหรับการตรวจสอบสิทธิในที่ดิน (Land Information System for Land Right Verification: LIV) เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนหรือชุมชน สามารถใช้งานระบบดังกล่าวตรวจสอบที่ดินของตนเองหรือของชุมชนว่ามีการทับซ้อนกับหน่วยงานรัฐใดได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และยอมรับในข้อเท็จจริงพื้นฐานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ การเร่งพิสูจน์สิทธิในปัญหาที่ดินรัฐทับซ้อนที่ดินประชาชนก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำทันที ซึ่งในระยะเริ่มต้นสามารถใช้งบกลางและการระดมกำลังเจ้าหน้าที่แบบบูรณาการในฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วของคณะกรรมาธิการวิสามัญปัญหาที่ดินฯมาจัดการต่อได้

นิติพล ก้าวไกล -115C-49D1-BE50-6A953E0C893B.jpeg

สาม การปรับปรุงด้านสิทธิหรือหนังสืออนุญาตการใช้พื้นที่ของประชาชน รัฐบาลควรพัฒนาหลักการสิทธิในที่ดินที่รัฐบาลจะยอมรับหรือจัดสรรให้ เช่น หลักการสิทธิชุมชนในการถือครองที่ดินและร่วมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และมีมาตรการสนับสนุนให้การใช้สิทธิในที่ดินของประชาชน มีความมั่นคงและสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น

สี่ การทบทวนการใช้ประโยชน์ของหน่วยราชการในที่ดินของรัฐ เพราะปัจจุบันหน่วยงานของรัฐมีการครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์อยู่มากถึง 12.12 ล้านไร่ แต่การใช้ประโยชน์จริงน้อยมาก เช่น พื้นที่ของหน่วยงานทหารที่รวมๆกันประมาณ 4.6 ล้านไร่ ตรงไหนไม่จำเป็น ไม่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศก็ควรส่งคืนแก่หน่วยงานเจ้าของพื้นที่และนำไปพิจารณาแนวทางนำที่ดินดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ของชุมชน เป็นต้น

ห้า การปรับโครงสร้างเชิงสถาบัน เพื่อให้มีการกำกับดูแลการดำเนินนโยบายตามแนวทางทั้ง 4 ข้อข้างต้นอย่างเต็มรูปแบบ ควรปรับปรุง ‘คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ’ ให้กลายเป็นหน่วยกำกับควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ และการพิสูจน์สิทธิระหว่างรัฐกับเอกชน รวมถึงเป็นหน่วยงานจัดการกระจายเป็นที่ดินประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังควรมีบทบาทในการดำเนินการประสานงานในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นอุปสรรคในการดำเนินการ เช่น แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518, แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ,แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และ พระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองสัตว์ป่าตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองส่งเสริมชาติพันธุ์ เพื่อรับรองสิทธิชุมชนของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ เป็นต้น