ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านกฎหมายแกะปมคำวินิจฉัย ชี้ยังมีประเด็นให้สืบสวนต่อ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องถูกปฏิรูปเพื่อให้เป็น 'องค์กรอิสระ' ตามเจตจำนงค์ของสถาบัน ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองอย่างที่ผู้คนตั้งคำถาม

พลันศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยกรณี 'บ้านพักหลวง' มีมติเอกฉันท์ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รอดทุกข้อหา ได้สร้างความสงสัยจากสาธารณชนต่อการตีความทางกฎหมายและความเที่ยงธรรมต่อหลักการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

'วอยซ์' ชวนตั้งข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยซึ่งอาจส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ผ่านทัศนะของนักวิชาการนิติศาสตร์ ด้านกฎหมายมหาชนต่อไปนี้

แหล่งข่าวจากคณะนิติศาสตร์ สถาบันชั้นนำของประเทศ ระบุกับ วอยซ์ว่า ในคดี พล.อ.ประยุทธ์ ศาลอ้างถึงระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะอดีต ผบ.ทบ. จึงมีสิทธิเข้าอาศัยบ้านพักรับรองได้ 

ส่วนในคดีสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 แหล่งข่าวมองว่า แทนที่จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และใช้ ป.พ.พ. ตีความว่า การรับจ้างทำกับข้าวออกทีวีคือสัญญาจ้างทำของสมัคร จึงเป็น “ผู้รับจ้าง” ไม่ใช่ “ลูกจ้าง”

“แต่ศาลกลับนำเอาพจนานุกรมมาใช้ตีความว่า คุณสมัครเป็นลูกจ้าง เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป” แหล่งข่าวระบุ

สืบปมเอื้อประโยชน์

ส่วนข้อเท็จจริงที่นักนิติศาสตร์ดังกล่าวชวนให้สืบสวนต่อไปคือ อาคารเลขที่ 253/54 ซึ่งเคยเป็นอาคารที่พักของทางราชการ ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดกองทัพบก พ.ศ. 2553 และพล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยมาตั้งแต่ปี 2553

“เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. (หรืออาจพักมาก่อนหน้านั้น) ได้มีการเปลี่ยนประเภทอาคารเลขที่ 253/54 ให้เป็น ‘บ้านรับรอง’ ตามระเบียบบ้านพักรับรอง ปี 2548 ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีสิทธิอยู่ในบ้านดังกล่าวต่อไป แม้จะออกจากราชการแล้ว แต่เป็นการออกคำสั่งหรือระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือไม่ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนประเภทอาคาร พล.อ.ประยุทธ์ ต้องย้ายออก และย้ายไปเข้าอยู่ในบ้านรับรองหลังอื่นตามระเบียบ 2548” แหล่งข่าวระบุ

ผลผลิตรัฐธรรมนูญปราบโกง

ขณะที่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้ศึกษาปัญหาสถาบันตุลาการผ่านวิกฤตการเมืองไทย ชวนย้อนมองที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและประเด็นความเป็นกลางในการตัดสินว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ศาลรัฐธรรมนูญนั้นถูกออกแบบมาเพื่อวินิจฉัยข้อบังคับและบทบาทหน้าที่ขององค์กรทางการเมืองต่างๆ แต่หลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นต้นมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีท่าทีไม่เป็นกลางในหลายคดี

รศ.สมชาย ยกตัวอย่างคดีสมัคร สุนทรเวช กรณีจัดรายการทำอาหาร สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยศาลวินิจฉัยตีความคำว่า 'ลูกจ้าง' ไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งล้วนค้านสายตาของประชาชน

โดยคำวินิจฉัย ศาล รธน. คดีดังกล่าวระบุตอนหนึ่งว่า “คำว่าลูกจ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 จึงมีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของกฎหมายอื่น โดยต้องแปลตามความหมายทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างว่า หมายถึงผู้รับจ้างทำการงาน ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากมีการตกลงเป็นผู้รับจ้างทำการงานแล้ว ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าลูกจ้าง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ทั้งสิ้น" 

ที่มา-อำนาจ-การตรวจสอบ

นักกฎหมายมหาชน จาก มช. ได้ฉายภาพให้เห็น 3 ข้อปัญหาหลักของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องถูกปฏิรูปเพื่อให้เป็น 'องค์กรอิสระ' ตามเจตจำนงค์ของสถาบัน ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองอย่างที่ผู้คนตั้งคำถาม ดังต่อไปนี้

1. นับตั้งแต่ปี 2550 รัฐธรรมนูญออกแบบให้เพิ่มสัดส่วนผู้พิพากษาอาชีพ เข้ามามีบทบาทมากเกินไป รวมถึงกระบวนการให้ความเห็นชอบในการคัดเลือกไม่สอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตย

2. อำนาจที่ถูกกำหนดตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ โดยเฉพาะอำนาจที่ถูกสร้างขึ้นผ่านการตีความ สะท้อนให้เห็นในหลายคดี ทั้งการยุบพรรคการเมืองหรือคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

3. การตรวจสอบของประชาชน ถูกลดทอนให้บางเบาลงจากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งไม่ได้บัญญัติว่าสามารถเข้าชื่อถอดถอนหรือตรวจสอบการทำหน้าที่ของตุลาการศาลฯ หากมีคำวินิจฉัยขัดต่อเท็จจริง หนำซ้ำยังเพิ่มข้อบังคับห้ามหมิ่นศาล ซึ่งเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง

บรรทัดฐานตุลาการ

รศ.สมชาย ย้ำว่าทุกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะคดีใดก็ตาม จะถูกหยิบยกมาเป็นบรรทัดฐานในอนาคต และอาจสร้างปัญหาที่นำไปสู่วิกฤตความขัดแย้งได้ หากไม่ยึดหลักปฏิบัติตามข้อเท็จจริงทางกฎหมาย และตีความให้เหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ศาล รธน.มติเอกฉันท์ 'ประยุทธ์' รอดทุกข้อหาคดีพักบ้านหลวง ชี้เป็น ผบ.ทบ.ทำคุณประโยชน์

พท.รับผล ศาล รธน.กรณีบ้านพักหลวง แต่หวั่นเพิ่มภาระต้นทุนสร้างบ้านรับรองให้กองทัพ