ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลประยุทธ์เผชิญวิบากกรรมต่อเนื่อง การสืบทอดอำนาจเป็นไปอย่างทุลักทุเล แม้ฉากหน้าเหมือนผู้มีอำนาจจะควบคุมทุกสิ่งได้ดั่งใจ ทว่าเต็มไปด้วยการบิดกติกา-บ่อนเซาะต้นทุนทางการเมืองลงไปเรื่อยๆ

รัฐบาลประยุทธ์ถูกตรวจสอบ-วิพากษ์-วิจารณ์ จากรอบทิศทาง

ตั้งแต่ปัญหาฝุ่นกลืนเมือง ที่นายกฯ ประกาศเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ กุมภา 62 แต่ผ่านมาเกือบหนึ่งปี กลับพบว่าวาระที่ผลักดันดำเนินไปอย่างล้มเหลว

รัฐบาลผสมแว้งกัดกันเอง เพื่อต่อรองอำนาจอยู่เป็นระยะ เช่นกรณี “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” เปิดประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน จนอาจเสี่ยงทำงบปี 63 เป็นโมฆะ

6 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเผยชื่อรัฐมนตรี พร้อมประเด็น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบของรัฐบาลประยุทธ์ ในเดือนหน้าที่จะมาถึง

ปิดท้ายด้วยกรณีการรับมือไวรัสโคโรน่า ซึ่งเป็นจุดตัดชี้ว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤติของรัฐบาลนี้เป็นไปอย่างล้มเหลว 

“ฝุ่นกลืนเมือง” – วาระแห่งชาติที่ล้มเหลวของนายกฯ หน้าเดิม

ย้อนกลับไปเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น “วาระแห่งชาติ”

ต่อมา เมื่อ 1 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติ เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่วิกฤต

นั่นคือการขยับผ่านตัวหนังสือ และระเบียบราชการ ทว่าหากวัดที่ผลลัพธ์ของการลงมือทำ พี่น้องประชาชนย่อมตัดสินการทำงานของรัฐบาลที่มี นายกฯ หน้าเดิม บริหารประเทศได้เป็นอย่างดี

ต้องตั้งคำถามกลับไปด้วยว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงมือแก้ปัญหาฝุ่นกลืนเมืองอย่างจริงจังหรือไม่ ? ถ้าทำ ทำอย่างไร ทำระดับไหน มีวิธีการประเมินผลอย่างไร ? ถ้าไม่ จะซ่อมแซมข้อบกพร่องอย่างไร ?

ไม่ใช่แก้ไขปัญหาด้วยการประชุมแบบขอไปที เกิดเหตุไปที ตามแก้ไขไปที เพราะปัญหาฝุ่นกลืนเมือง ต้องแก้ไขด้วยมาตรการระยะยาว มากกว่าจะแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า และที่สำคัญต้องไม่แก้ไขปัญหาด้วยการโยนความรับผิดชอบไปให้ประชาชน ด้วยการแนะนำเพียงแต่ให้สวมหน้ากากอนามัยไว้ป้องกันเท่านั้น!!

ด้าน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจ

“ฝุ่นละอองเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ข้าวโพดที่เผาที่เมียนมา อ้อยที่เผาที่กัมพูชา และปาล์มที่เผามาจากอินโดนีเซียมาถึงประเทศไทยทั้งหมด ท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่าต้องไปขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อบอกว่าเป็นการเผาในอุตสาหกรรมเกษตรก็ต้องไปขอความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรฯ”

“จะเปลี่ยนอธิบดีอีก 10 คน แต่ไม่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาด แบบต่างประเทศก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่ใครให้อำนาจตัดสินใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ข้อเสนอของพิธา จึงอยู่ที่การออกกฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งจะต้องให้อำนาจกับหน่วยงานแห่งใดแห่งหนึ่งอย่างชัดเจนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และระยะเฉพาะหน้าจำเป็นต้องตั้งวอร์รูมทันที เพราะสุขภาวะของพี่น้องประชาชนรอไม่ได้!! 

“เสียบบัตรแทนกัน” – หากใช้บรรทัดฐานคำพิพากษาก่อนหน้า ก็อาจทำให้งบปี 63 เสี่ยงเป็นโมฆะ

พรรคประชาธิปัตย์ ตอกย้ำการเป็นรัฐอิสระในรัฐบาลผสมอย่างต่อเนื่อง กรณีล่าสุด “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยข้อมูลการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

ของ “นาที รัชกิจประการ” ส.ส. พรรคภูมิใจไทย กับ “ฉลอง เทอดวีระพงศ์” ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย

ให้หลังจากนั้น “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ยังเปิดเผยคลิปของ “ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์” ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ปรากฎตัวในงานแบ่งปันร่วมแบ่งปันความรู้ในบทบาทแม่ในยุคดิจิตอล ที่สถาบันพัฒนาคุณภาพพัฒนาคุณภาพวิชาการ แต่กลับมีชื่อโหวตลงคะแนนเห็นชอบ พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10

ต่อมาติดๆ ยังปรากฎคลิป “โกวิทย์ พวงงาม” ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไท ที่เสียบบัตรแทนกันถึง 3 ใบ ทั้งที่พรรคพลังท้องถิ่นไท มีที่นั่งและที่เสียบบัตรครบทุกคนจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสียบบัตรแทนกัน

ปิดท้ายด้วยกรณีปรากฎคลิป "ถาวร เสนเนียม" รมช.คมนาคม และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังใช้มือขวาดึงบัตรใบหนึ่งออกจากช่องเสียบบัตรลงคะแนน และใช้มือซ้ายเสียบบัตรลงคะแนน อีกใบเข้าไปในช่องเสียบบัตร ทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันหรือไม่

แม้ผู้มีรายชื่อดังกล่าว จะทยอยออกมาแถลงข่าว โดยเบี่ยงเบนประเด็นไปสู่การโทษว่ารัฐสภามีเครื่องกดบัตรไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเสียบแทนเพื่อน ส.ส. และการเป็นกดโหวตตามเจตนารมย์ของเพื่อน ส.ส. ไม่ใช่กดโหวตตามเจตนารมย์ของตัวเอง

เหมือนที่ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ส.ส.สิงห์บุรี พรรคพลังประชารัฐ ประกาศในการแถลงข่าวอย่างมั่นใจว่า "ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลงคะแนนแทนกันแต่เป็นการช่วยกันลงคะแนน"

ประเด็นที่สุ่มเสี่ยงที่สุดในเวลานี้คืองบปี 63 อาจเสี่ยงเป็นโมฆะ หากยึดเอาคำพิพากษาในกรณีเดียวกันเป็นตัวตั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 กรณี “นริศร ทองธิราช” อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่ถูกข้อกล่าวหากดบัตรลงคะแนนแทน ส.ส.คนอื่น 4-5 คน ในระหว่างการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. (10 และ 11 ก.ย. 2556) และ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (20 ก.ย.2556) โดยผู้ที่บันทึกคลิปไว้คือ “รังสิมา รอดรัศมี” ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์

ศาลรัฐธรรมนูญ พิพากษาว่า “เห็นว่า การกระทําดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงําใดๆและต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๒ แล้ว ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๓ และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๖ วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนมีผลทําให้การออกเสียงลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิจารณานั้นเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย

เมื่อกระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันมีผลให้ร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับกรณีเกิดปัญหาเสียบบัตรแทนกันในการโหวตงบปี 63 ไว้วินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว และอาจมีคำวินิจฉัยออกมาในเร็ววันนี้

บรรทัดฐานกรณีเสียบบัตรแทนกันจากคำวินิจฉัยก่อนหน้า ถือว่าชัดเจน และยังผลให้ร่างกฎหมายเป็นอันตกไป

ขณะที่เนติบริกรหน้าเดิม เปรยแล้วว่า สำหรับกรณีล่าสุด อาจเป็นได้ทั้ง “ตกทั้งฉบับ-เสียไปเฉพาะมตินั้น-เสียไปเฉพาะหักคะแนนที่จับได้ว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน”

แนวโน้มหลังสดับฟังบทสัมภาษณ์เนติบริกรหน้าเดิม จึงอาจมีการเปิดช่องให้งบปี63 เดินหน้าต่อไปได้ แม้อาจล่าช้าไปอีกร่วมสองเดือน

ขณะที่ในทางการเมือง เห็นชัดแล้วว่า พรรคร่วมรัฐบาล "เสียบกันเอง" แบบไม่มีใครยอมใคร !!

อภิปรายไม่ไว้วางใจ” – บททดสอบสำคัญยิ่งของรัฐบาลประยุทธ์ในเดือนกุมภา

ในที่สุด “6 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ก็ได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “6 รัฐมนตรี” เรียบร้อยแล้วต่อประธานรัฐสภา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม

-ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ที่กำกับดูแลภาพรวมนโยบายทั้งงานความมั่นคง งานด้านเศรษฐกิจ

-ปมประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน คุณสมบัติไม่เหมาะสม

-การขายที่ดินมูลค่า 600 ล้านบาท ไปให้เครือข่ายคนใกล้ชิด “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งมองได้ว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทนผ่านการแก้ไขสัญญาการเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง

-เป็นประเด็นใหม่ ที่พรรคอนาคตใหม่ ประกาศว่ามีหลักฐานชัดเจน แต่ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

-ในฐานะที่กำกับดูแลการปกครองส่วนท้องถิ่น มีการบริหารงานที่ผิดพลาดเยอะ รวบอำนาจจากท้องถิ่นมาเติมอำนาจให้กระทรวงมหาดไทย

-ปมการใช้จ่ายงบประมาณที่ลงไปสู่ท้องถิ่น การออกเรื่องระเบียบค่าใช้จ่าย พ.ศ.2562

-ปมการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ โยงกับนักลงทุนจีนไม่กี่รายที่ได้รับอนุญาตนำเข้าขยะ รวมถึงปมโรงไฟฟ้าขยะ โรงกำจัดขยะ ที่ขึงพืดบริษัทคนใกล้ตัว ซึ่งว่ากันว่าฝ่ายค้านมีข้อมูลการจดจัดตั้งบริษัทที่มาจากตึกเดียวกัน แล้วมาประมูลแข่งกันพอเป็นพิธี 2-3 บริษัท ซึ่งท้ายสุดเข้าข่ายล็อกสเปก

-ปมประเด็นท่าทีแข็งกร้าวที่แสดงออกอย่างดุเดือดต่ออดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบางคน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ

-ปมประเด็นที่อาจเกี่ยวโยงต่อการให้ความช่วยเหลือ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ยักษ์ใหญ่บุหรี่นอก

กระแสข่าวรายงายว่า ฝ่ายค้านมี ’เอกสารลับ’ อย่างน้อย 2 ฉบับ ที่ดอนทำหนังสือหารือวิษณุ ฉบับแรกคือ หนังสือลับที่สุด ด่วนมากที่ กต. 0804/438 ลงวันที่ 23 ก.ค.2561 เรื่องความเห็นเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ กรณีสินค้าบุหรี่นำเข้า (DS371) และหนังสือลับที่สุด ด่วนที่สุด ที่ กต. 0804/13 เรื่อง การะงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ กรณีสินค้าบุหรี่นำเข้า (DS371) ว่ากันว่า หนังสือที่ทำไปถึง บางฉบับได้แนบความเห็น ข้อดี ข้อเสีย ตามที่บางหน่วยงานเสนอทางแก้ ทางออก ประเมินผลแห่งคดีในห้วงเวลานั้นเอาไว้ด้วย 

-การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ....ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และให้ใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ....ฉบับใหม่แทน เมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระบุให้ใช้ดุลพินิจปรับได้ตั้งแต่ 0.5 เท่า ถึง 4 เท่า และในท้ายที่สุดบริษัทยักษ์ใหญ่เสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

-ผลจาก พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ ทำให้บุหรี่ไทยต้องปรับราคาขึ้น แต่บุหรี่นอกกลับลดราคาลง เฉลี่ยต่อซองราคาไม่ต่างกันมากนัก ทำให้สิงห์อมควันสูบบุหรี่ไทยน้อยลง โรงงานยาสูบรายได้หดหายลดลงไปจากเดิมนับหมื่นล้าน ท้ายสุดเมื่อแบกภาระขาดทุนไม่ไหว อาจต้องเลิกกิจการหรือเปลี่ยนมือจากองค์กรภายใต้การกำกับของรัฐไปสู่มือเอกชน ที่งานนี้ฝ่ายค้านตีกระชบสามชิ่ง นายกฯ-วิษณุ-ดอน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย

-ปมเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

-ปัญหาการตีความทางกฎหมาย เอื้อการสืบทอดอำนาจ คสช.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

-ปมคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรี ขณะนี้ได้ข้อมูลจากศาลประเทศออสเตรเลียมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้ความจริงปรากฎชัดเจนมากขึ้น ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

-ปมการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ สส.ร่วมพรรคพลังประชารัฐ

รัฐบาลประยุทธ์ ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักต่อการรับมือไวรัสโคโรน่าว่า ประเมินเหตุต่ำเกินไป-แก้ไขสถานการณ์ไม่ทันใจพี่น้องประชาชน-ส่งเครื่องบินไปรับคนไทยช้าเกินไป หนักที่สุดคือสื่อสารในภาวะวิกฤติล้มเหลว!!

วยาส
24Article
0Video
63Blog