ไม่พบผลการค้นหา
หอการค้าไทยขอนายกฯ เร่งตั้ง 'รมว.คลัง' เดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวั่นคนตกงานเพิ่ม 4-5 ล้านคน ห่วงม็อบยืดเยื้อทำเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า

ภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการทางด้านการเงินการคลังของประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งแต่งตั้งบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนปรีดี ดาวฉาย ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้เพื่อขับเคลื่อนมาตรการที่สำคัญเพื่อให้เกิดการกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบผ่านมาตรการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

"ถ้าไม่มี รมว.คลัง ก็จะเหนื่อย การสนับสนุนเงิน หรือแคมเปญเก่า ก็จะไม่มีช่วยดึง ดังนั้นต้องรีบมี รมว.คลัง และทำอย่างไรก็ได้ให้คนมีเงินออกมาใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" ภูมินทร์ กล่าว

ส่วนที่มีการปรากฏรายชื่อของบุคคลที่มีโอกาสเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น สมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง, ชาติชาย พยุหนาวีชัย อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน หรือ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่วนตัวไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใด ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ เพียงแต่ต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะเข้ามารับตำแหน่ง เนื่องจากการทำงานด้านการคลังเป็นเรื่องที่ยาก และต้องมีการประสานงานจากต่างประเทศด้วย ซึ่งบางคนที่อยากเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ไม่รู้เรื่องการกู้เงินเลย ก็เป็นเรื่องยากที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ได้ 

ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้สนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น มาตรการ Cash Card หรือ การซื้อคูปองท่องเที่ยว ร้านอาหาร ชอปปิง เพื่อให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ เช่น ประชาชนซื้อ Cash Card ได้ในราคา 7,500 บาท แต่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ 10,000 บาท ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จ่ายส่วนต่างให้ เชื่อว่าจะทำให้จูงใจประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มได้ มากกว่ามาตรการหรือโครงการที่มีขั้นตอนลงทะเบียนซับซ้อน ซึ่งล่าสุดจากการหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้แล้ว

ห่วงชุมนุมยืดเยื้อ เศรษฐกิจฟื้นช้า

ขณะที่ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่จะมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนักศึกษา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า ส่วนตัวยังมีความกังวลต่อกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ หากการชุมนุมยืดเยื้ออาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และอาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน หรือ เลิกจ้างในอนาคต ซึ่งประเมินว่าจะมีมากถึง 4-5 ล้านคน ซึ่งรวมคนที่ไม่ตกงานแต่ไม่มีงานทำ

ด้าน ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ภาคสังคม ธุรกิจ รวมถึงต่างชาติ กำลังให้ความสนใจอย่างมาก เพราะน่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ ซึ่งส่วนตัวมีความกังวลว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นการขยายวงกว้าง และการชุมนุมยืดเยื้อ เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นเพียงแฟลชม็อบที่จบภายในวันเดียวเท่านั้น ซึ่งประเมินว่าหากการชุมนุมยืดเยื้อ จะเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เกิดการชะลอจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และจะกระทบต่อเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวช้าจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1/2564 ไปเป็นไตรมาสที่ 2/2564 รวมถึงจะกระทบต่อการลงทุนในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวประเมินว่ายังไม่เห็นสัญญาณของการยืดเยื้อ ดังนั้นสถานการณ์การชุมนุมจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเพียงระยะสั้น หรือมีผลกระทบต่อระบบเศรฐกิจในระดับน้อยถึงปานกลางเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: