รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ครม.เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 พร้อมทั้งเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เป็นรายเขต 9 เขต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้
กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้
1.ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 1,002.20 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. (ราคาอ้อยขั้นต้น ณ 23 ก.พ.2564 อยู่ที่ 920 บาท)
2.อัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 60.13 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
3.ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 429.51 บาทต่อตันอ้อย
ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่เสนอครั้งนี้ อยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ส่วนรายได้สุทธิที่ได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย โรงงานน้ำตาลต้องนำส่งเงินส่วนต่างระหว่างรายได้สุทธิและราคาอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย อัตราตันอ้อยละ 8 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 533.27 ล้านบาท
กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 โดยคำนวณราคาอ้อยเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ
1.ราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตราตันอ้อยละ 1,070 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 93.34 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,110.66 บาทต่อตันอ้อย
2.อัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 64.20 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
3.ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เท่ากับ 458.57 บาทต่อตันอ้อย
ทั้งนี้ ในส่วนของส่วนประเด็นข้อพิพาทกรณีน้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างประเทศไทยกับบราซิลนั้น เรื่องนี้ไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด