ไม่พบผลการค้นหา
จากเหตุการณ์หนองบัวลำภู เราสามารถเรียนรู้อะไรได้อีกบ้างเกี่ยวกับความรุนแรง และเราควรขยายการมองความรุนแรงจากที่นั่นเชื่อมโยงสู่ส่วนอื่นๆ อย่างไร

“คนจำนวนมากมองปรากฏการณ์หนองบัวลำภู แยกขาดกับปรากฏการณ์ความรุนแรงภาพใหญ่ของสังคมไทย แต่จริงๆ แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่รุนแรงมาก” ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ’ นักวิจัยหัวหน้าโครงการ Monitoring Center on Organized Violence Events (MOVE) สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ใน พ.ศ.นี้ ยังไม่ต้องพูดกันถึงการแก้ปัญหาไม่ว่าในระดับไหน เพียงจะหาข้อมูลสถิติความรุนแรงในสังคมไทยเพื่อการวิเคราะเบื้องต้น รับประกันได้ว่าจะหาไม่เจอ นั่นเป็นแรงจูงใจให้จันจิราทำโครงการรวบรวมสถิติพื้นฐานขึ้นมา

“ข้อมูลที่มียังไม่ได้ตีความ อาจตีความในเบื้องแรกเวลาเลือกประเภทความรุนแรง ตั้งใจให้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สุด แล้วให้ส่วนอื่นนำไปตีความอีกรอบหนึ่ง เพราะสังคมไทยยังไม่มีฐานข้อมูลแบบนี้” จันจิรากล่าว

แม้เหตุการณ์ความรุนแรงใหญ่ๆ จะมีความสำคัญ แต่จันจิราบอกว่า ในสังคมไทยความรุนแรงหรืออาชญากรรมในชีวิตประจำวันคร่าชีวิตคนมากกว่าความรุนแรงใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ และรากของมันก็เชื่อมโยงกัน

เบื้องต้นจึงทำการรวบรวมข้อมูลจากสื่อกระแสหลักตั้งแต่ปี 2559-2565 โดยเลือกประเภทความรุนแรงแบ่งย่อยเป็น 13 ประเภทที่สำคัญ ไล่ตั้งแต่ความรุนแรงจากความขัดแย้งใหญ่ๆ อย่างเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ใช้กำลังทหารในการจัดการ, Mob Attack หรือความรุนแรงจากฝูงชน, การปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง, Mass Shooting, ความรุนแรงระดับกลุ่ม การคุกคามทางเพศเชิงกลุ่ม เป็นต้น

เว็บอย่างเป็นทางการของโครงการจะเผยแพร่ในเดือน พ.ย.นี้ โดยในเบื้องต้นจะเปิดข้อมูลถึงปี 2563 ก่อน โดยมีข้อมูลความรุนแรงอยู่กว่า 2,000 เหตุการณ์

จันจิรากล่าวว่า จากข้อมูลที่เก็บได้ พบว่า 32% ของเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต-บาดเจ็บ มาจากอาชญากรรมเชิงกลุ่ม ขณะที่ความรุนแรงใน 3 จังหวัดอยู่ที่ 27% ทั้งนี้ อาชญากรรมเชิงกลุ่ม หมายถึงการที่กลุ่มคนทำร้ายปัจเจกบุคคลหรืออีกลุ่มบุคคลหนึ่ง ด้วยแรงจูงใจที่เป็นเหตุผลเชิงอาชญากรรม เช่น การแก้แค้น การขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือการเมือง

จันจิรา สมบัติพูนศิริ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ ภาพจาก GM Magazine

ที่น่าสนใจคือ รูปแบบของอาชญากรรมเชิงกลุ่มเป็นสิ่งสะท้อนวิธีคิดของสังคมไทยในเรื่องความรุนแรงได้อย่างดี โดยจันจิราตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลในเบื้องต้น ดังนี้

1.เป็นความรุนแรงที่ก้าวกระโดดเร็วมาก เป็นความรุนแรงที่เกิดจากคนที่ปกติเรียบร้อย ไม่โต้เถียง หรือแทบไม่มีการทะเลาะโต้เถียงกัน แต่ก้าวกระโดดไปสู่การใช้อาวุธเลย

2.หลายกรณีเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีของกลุ่ม เป็นความขัดแย้งของกลุ่มอัตลักษณ์ย่อยๆ ในสังคม เช่นความขัดแย้งระหว่างคน 2 หมู่บ้าน

3.บทบาทของอาวุธปืนและอาวุธสงครามที่ใช้ในการทำร้ายกันโดดเด่นมาก บางกรณีไม่ใช่แค่อาวุธปกติ พลเรือนธรรมดาใช้อาวุธสงคราม กราดยิงคนรู้จัก เช่น กรณีที่ร้านรถ อุบลฯ แสดงถึงการเข้าถึงอาวุธสงครามของพลเรือน

ทั้งนี้ ดัชนีอาชญากรรม ปี 2565 (Crime Rate Index 2022) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 89 จาก 136 ประเทศ ส่วน World Population Review สำรวจประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนประจำปี 2565 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับ 15 มีผู้เสียชีวิต 2,804 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 คน

4.ประเภทของคนที่ใช้ความรุนแรงมีหลากหลาย แม้แต่คนที่สังคมไม่คาดคิดว่าจะใช้ความรุนแรง เช่น เด็กอายุ 10-11 ปี, บุคคลในเครื่องแบบ, พระสงฆ์ สะท้อนถึงค่านิยมเกี่ยวกับบทบาทของคนในสังคมที่อาจผลักให้คนคนหนึ่งหันใช้ความรุนแรง เช่น เด็กวัยรุ่นผู้ชายอาจมีคุณค่าความเป็นชายที่ผูกติดกับความรุนแรง 

จันจิรายังกล่าวด้วยว่า ช่วงโควิดปี 2563 ปรากฏว่าตัวเลขเหตุการณ์ความรุนแรงกระโดดขึ้น โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากนี้ยังเห็นว่าความรุนแรงในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมีปัจจัยผสมกันหลายเรื่อง เช่น ความขัดแย้งทางธุรกิจ ความเครียดทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งในครัวเรือนที่เกิดจากการล็อกดาวน์

เมื่อถามว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร? โครงการนี้เก็บข้อมูลแบ่งเป็น 2 ทิศทาง คือ ผู้ก่อเหตุเป็นภาคเอกชน กับ ภาครัฐ โดยพบว่า ผู้ก่อเหตุมีสังกัดเกี่ยวกับภาครัฐมีจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะในสังกัดตำรวจ ทหาร กอ.รมน.ยังไม่รวมถึงพระ ครู ข้าราชการอื่นๆ และที่น่าสนใจคือ พบว่ามีอดีตข้าราชการด้วยจำนวนหนึ่ง

ผลการรวบรวมพบว่า ความรุนแรงเกิดจากตำรวจภูธรคิดเป็น 4.2% , พระสงฆ์ 1.1%, ฝ่ายความมั่นคง (ไม่ได้ระบุสังกัดชัด) 1.1%, ทหารพราน 1%, กองทัพ 0.9%

ส่วนความรุนแรงที่เป็น Mass Shooting มีกรณีหนองบัวลำภู โคราช และยังมีกรณีพลเรือนอีก 2 กรณี ถ้านับจากจำนวนคนเสียชีวิต ผู้เสียชีวิตจากการกราดยิงของเจ้าหน้าที่กรณีโคราช มีมากกว่าการกราดยิงของพลเรือน 

จันจิรากล่าวว่า คนจำนวนมากมองปรากฏการณ์ ‘หนองบัวลำภู’ แยกขาดกับปรากฏการณ์ความรุนแรงภาพใหญ่ของสังคมไทย แต่จริงๆ แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่รุนแรงมาก

“คนที่ทะเลาะกันแทนที่จะเถียงกันทำร้ายกันก็ได้ แบบไม่ต้องถึงตาย ปรากฏว่าคนเลือกใช้ความรุนแรงแบบทำให้เสียชีวิตกันเร็วมาก เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมคนที่มีความขัดแย้ง หรือมีปมในชีวิต หรือว่าคับแค้นกับความอยุติธรรมในสังคม ในพื้นที่ส่วนตัว ทำไมคนถึงเลือกใช้ความรุนแรงต่อกันได้ง่าย”

“สมมติฐานหนึ่งคือ คนไม่มีวิธีการจัดการกับความคับข้องเหล่านี้ผ่านทางเลือกอื่นๆ ไม่มีฐานทางสังคมที่บอกว่า เรามาทะเลาะถกเถียงกัน ดิฉันอยู่มา 2-3 ประเทศ ถ้าให้เทียบในระดับที่ใกล้กัน อย่างอินเดียคนจะเถียงกันเลยบนถนน ถ้าขับรถปาดหน้ากัน หรือมีใครแซงคิว แต่เราไม่ค่อยเห็น road rage (การใช้ความรุนแรงบนท้องถนน) ในทางกลับกัน เราเห็นในเมืองไทยเยอะมากที่ขับรถปาดหน้ากันแล้วเอาปืนไปยิงหัวอีกคนเลย เป็นการกระโดดจากจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งไปสู่การฆ่ากันด้วยอาวุธ”

“เราไม่ถูกสอนให้จัดการกับความขัดแย้งแบบอื่น เราจึงเห็นตัวอย่างของการใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งเต็มไปหมดในสังคม แต่เราไม่เห็นตัวอย่างของการลุกขึ้นมาถกเถียงกัน หรือทะเลาะกันด้วยวาจาที่เคลียร์ใจกัน ไม่เห็นวิถีปฏิบัติแบบนี้ที่เป็นรากในสังคม”

จันจิรากล่าวถึงปัญหาในระดับวัฒนธรรมของสังคมไทย

เธอยังระบุถึงสมมติฐานที่สองว่า สังคมไทยเต็มไปด้วยความอยุติธรรม มีปัญหาในระดับโครงสร้าง คนคับข้องใจเต็มไปหมด บางเรื่องที่เหมือนเป็นปัญหาในครอบครัวหรือปัญหาส่วนตัวก็มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง เช่น ทำไมตำรวจที่ก่อเหตุจึงถูกให้ออกจากงาน จากการอ่านข่าวดูเหมือนเขาพยายามขอความช่วยเหลือ แต่เขาอาจสำคัญไม่พอที่ผู้ใหญ่จะฟังหรือช่วยเหลือ

“ในแง่นี้ข้อค้นพบที่น่าสนใจอันหนึ่งในการกราดยิงของสหรัฐอเมริกาก็คือ คนที่ตัดสินใจกราดยิง คือ เป็นการฆ่าตัวตาย เพราะเขารู้สึกสิ้นหวัง โกรธ เกลียดผู้คนและเกลียดตัวเอง เป็นการเกลียดที่ไม่ใช่ลักษณะบุคคลแต่เป็นการเกลียดอะไรที่เป็นนามธรรมมากๆ ในสังคม เขาก็ตัดสินใจใช้ความรุนแรงขนาใหญ่ โดยตั้งใจปลิดชีวิตตัวเองด้วยและเอาคืนกับสิ่งที่เขารู้สึกว่าอยุติธรรมด้วย มันจึงอาจเกี่ยวข้องกับความอยุติธรรมในทางโครงสร้าง”

จันจิราขยายความต่อว่า ในอีกด้านหนึ่ง มันอาจมีความคาดหวังจากสังคม เช่น หลายกรณีที่ผู้ชายเป็นผู้ใช้ความรุนแรง เพราะมีความคาดหวังจากสังคมว่าผู้ชายต้องจัดการปัญหาเองให้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีที่พึ่ง ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องทนให้ได้ ฯลฯ คุณค่าแบบนี้ต่อบทบาทของผู้ชายบางทีก็อาจผลักให้เขารู้สึกว่าพึ่งใครไม่ได้แล้ว ผู้ชายในบางแง่มุมจึงเป็นอะไรที่น่าสงสาร

นอกจากนี้ จันจิราระบุว่า หลายกรณีผู้ใช้ความรุนแรงก็มีมูลเหตุมาจากความรู้สึกเป็นเหยื่อของสังคม เพราะโครงสร้างทางสังคม ระบบลำดับชั้น (hieraechy) มันกดทับผู้น้อย ความรุนแรงจึงกลายเป็นการปลดปล่อย

"เราเก็บข้อมูลเจอว่าเด็กอายุน้อยใช้ความรุนแรงต่อเด็กด้วยกัน หรือต่อผู้ใหญ่ เนื่องจากความรุนแรงทำให้เขารู้สึกมีอำนาจ เพราะสังคมไม่ให้อำนาจกับเด็ก หรือโครงสร้างสังคมที่ไม่ให้อำนาจกับข้าราชการชั้นผู้น้อย สังเกตดูเจ้าหน้าที่ที่ใช้อาวุธก่อความรุนแรงกราดยิง โดยมากเป็นชั้นผู้น้อย ดังนั้น ในแง่หนึ่งเราอาจต้องดูด้วยว่าโครงสร้างสังคมปฏิบัติต่อผู้น้อยอย่างไร

"แต่ที่น่าสนใจคือ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ตัดสินใจใช้ความรุนแรง ส่วนใหญ่เป้าหมายกลับไม่ใช่ผู้มีอำนาจ มันก็เหมือนกับหนัง 'ปรสิต' ที่ตัวเองก็ไปใช้ความรุนแรงกับคนที่มีอำนาจน้อยเหมือนกัน มันจึงไปลงที่ภาษาทหารเรียก soft target เช่นเด็กในโรงเรียน ศาสนสถาน หรือเป็นพื้นที่ที่คนวางใจที่สุด เป็นพื้นที่ที่เป้าหมายไม่มีอาวุธ เช่นในห้าง ในบ้าน

“เวลาเราฟังบทวิเคราะห์ในข่าวทั่วไป คนจะพูดถึงปัญหายาเสพติด ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาการครอบครองปืน อันนี้ก็จริงทั้งหมด แต่ถ้ามองลึกๆ เอาปรากฏการณ์นี้มาตั้งในโครงสร้างสังคม ทั้งสังคมไทยและโลก เราเห็นรากของมันเต็มไปหมด และเราเห็นสเกลของความรุนแรงที่อาจไม่ใหญ่ขนาดนี้แต่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และจริงๆ คร่าชีวิตคนเป็นหมื่นๆ แต่ละปี อาชญากรรมที่คร่าชีวิตคนเป็นหมื่นๆ แต่ละปี มันต้องมีอะไรผิดปกติในสังคมไทยแล้ว”

เมื่อถามถึงถึงวิธีแก้ปัญหา จันจิราเสนอว่าอาจต้องแบ่งระดับของการแก้ไข เช่น

ระยะสั้น ปัญหาเรื่องปืน ปัญหาการทำงานในหน่วยราชการ เหล่านี้สามารถแก้ได้ในทางนโยบาย

ระยะยาว ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตอาจไม่สามารถแก้ได้โดยง่าย ต้องใช้การวางแผน ต้องใช้ทรัพยากร

“พูดจากประสบการณ์ที่เคยสอนหนังสือ เราพบว่านักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตเยอะมาก โดยที่สังคมไทยไม่พูดถึงมัน การพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตเป็น taboo หมายถึงการเป็นบ้า ทั้งที่การหานักบำบัดจิตในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติมาก เรื่องนี้สะสมจนบางครั้งปัญหาขยายตัว และสังคมไทยก็มีระบบสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเพียงพอสำหรับประชาชน งบประมาณก็จำกัด”

ระยะยาวมาก ส่วนปัญหาเชิงวัฒนธรรมในการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย นับเป็นปัญหาระยะยาวที่สุด ต้องสอนกันใหม่ในโรงเรียน ตอนนี้ก็เริ่มมีบางโรงเรียนที่มีหลักสูตรการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ต้องชกต่อยหรือตบกัน และต้องเริ่มจากบ้าน เริ่มจากสื่อ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นเจนเนอเรชั่น นอกจากนี้จะทำอย่างไรให้คนในสังคมรู้สึกว่า การทะเลาะกัน ถกเถียงกันโดยไม่ต้องใช้กำลังหรือฆ่ากันเป็นสิ่งปกติ ทำได้ โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทยมีวิธีคิดเรื่องการเสียหน้า ผู้ใหญ่-ผู้น้อย เหล่านี้ทำให้เกิดความคับข้องใจ โดยเฉพาะในหมู่ผู้น้อยถูกกดทับ อัดแน่นนานวันเข้าจนถึงจุดหนึ่งก็ระเบิด

“เวลาที่เกิดเหตุรุนแรงใหญ่ๆ แล้วเหยื่อเป็นอะไรที่น่าตกใจ สลดหดหู่ใจ เราจะหันกลับมาพูดถึงมันมาก ในขณะที่มันยังมีความรุนแรงที่ซึมลึกอยู่ในสังคมอีกมากมายเต็มไปหมด ทำไมคนจึงชินกับของพวกนั้น ทำไมคนถึงชินกับความรุนแรงบนถนน ในโรงเรียน ในบ้าน เป็นคำถามถึงสังคมไทยว่าต้องอาศัยความตายของคนจำนวนมากใช่ไหม คนจึงเห็นความซีเรียสของปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ทั้งที่เราอยู่กับโศกนาฏกรรมย่อยในชีวิตประจำวันเต็มไปหมด”

“คนที่ลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงกับคนอื่นบางทีเขาเป็นเหยื่อมาก่อน แต่เสียดายที่เรายังไม่ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงเชิงปัจเจกซึ่งเป็นความรุนแรงจากความสัมพันธ์ มีกรณีผู้หญิงลุกมาใช้ความรุนแรงก็เยอะเพราะถูกตบ ถูกทำร้ายในครอบครัว ถึงวันหนึ่งก็ยิงสามี หรือกรณีผู้ชายถูกดูถูก ถูกกดขี่มากๆ โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน เมื่อถูกกดจากที่อื่นก็มาใช้ความรุนแรงในบ้าน เช่นกับลูกชาย ของพวกนี้กลายเป็นปมที่ทำให้เด็กเห็นว่าความรุนแรงเป็นเครื่องมือปกติ และเขาก็มีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือนั้นเช่นกัน” จันจิรากล่าว