ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์ มอ.เผยความสำเร็จใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 หายเป็นรายแรกของภาคใต้ พร้อมชวนผู้ป่วยที่หายร่วมบริจาคพลาสมาเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย โดยเฉพาะในรายที่มีอาการหนัก ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา

สถานการณ์โควิด-19 ที่จังหวัดสงขลาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้เหลือผู้ป่วยที่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพียงแค่ 3 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ค.2563) จากยอดสะสมผู้ป่วยทั้งจังหวัด 128 คน ทั้งผู้ป่วยในจังหวัด ผู้ป่วยนอกจังหวัด กลุ่มดาวะห์ อินโดนีเซีย และกลุ่มแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองที่ศูนย์กักตัว ตม.สงขลา

ขณะเดียวกัน แพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สามารถใช้พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 ไปทำการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤติจนหายได้เป็นปกติเป็นครั้งแรกของภาคใต้

รศ.นพ.ศรัญญู ชูศรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่าตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ทำการรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 30 ราย โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยหรือคนไข้อาการวิกฤติ ซึ่งจะถูกนำมารักษาตัวที่หอผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อ 1 อาคารฉุกเฉิน (หลังเก่า) ชั้น 5 ซึ่งมีการแบ่งเป็น 3 โซน โซนละ 4 เตียง รวม 12 เตียง

ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหาย หรือรอพักฟื้น หรืออาการไม่หนักมากแล้วจะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์สาขา 2 ณ อาคารติณสูลานนท์ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ สวนประวัติศาสตร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

รศ.นพ.ศรัญญู เปิดเผยว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยใช้พลาสมาจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายเป็นปกติ และประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของภาคใต้นั้น ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นเพศชาย ซึ่งทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ส่งทีมแพทย์และพยาบาล เดินทางไปรับตัวผู้ป่วยรายนี้มาจากจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาการหนักปอดอักเสบรุนแรง ออกซิเจนในเลือด และค่าการหายใจแย่ลง เกิดเป็นอาการหายใจล้มเหลว และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

นอกจากนี้ หลังจากมีการให้ยารักษาสูตรมาตรฐาน หรือยาต้านไวรัสเป็นเวลา 3 วัน ผู้ป่วยก็ไม่ได้มีอาการดีขึ้น และเป็นเวลาเดียวกันกับที่ทางโรงพยาบาลสงขลานคินทร์ได้รับบริจาคพลาสมาจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโควิด-19 จากทางโรงพยาบาล และหายป่วยเป็นคนแรก ทางทีมแพทย์จึงตัดสินใจในใช้พลาสมาที่ได้รับบริจาคในครั้งนี้จำนวน 600 ซีซี มาทำการรักษาผู้ป่วยวิกฤติชาวจังหวัดนราธิวาสรายดังกล่าว

โดยวิธีการรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้พลาสมานั้นเป็นวิธีการรักษาทางเลือก และใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการใช้ยาตามสูตรมาตรฐานหรือยาต้านไวรัสเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้แพทย์ได้ให้พลาสมาแก่ผู้ป่วยไปทั้งหมด 2 โดสหรือครั้งละ 200 ซีซีติดต่อกันเป็นจำนวน 2 ครั้ง และผลปรากฏว่าในระยะเวลา 3-4 วัน ผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ในวันที่ 4 หลังได้รับพลาสมาและพักฟื้นจนกระทั่งหายเป็นปกติ และสามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา

การรักษาด้วยพลาสมาเป็นวิธีการรักษาทางเลือกและในเคสนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกของภาคใต้ที่ประสบความสำเร็จในการรักษา โดยการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายเป็นปกติแล้ว แต่สำหรับการรักษาด้วยพลาสมานี้เป็นเพียงแค่รายการการรักษาเคสแรกเท่านั้น และไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคนจะสามารถรักษาด้วยพลาสมาแล้วจะหายเป็นปกติได้ทุกราย

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการใช้พลาสมารักษา แพทย์จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและรอบคอบในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะความเป็นไปได้หรือความเข้ากันได้ของเลือดหรือสิ่งประกอบเลือดระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาคเป็นเคสๆ ไปและไม่จำเป็นต้องมีกรุ๊ปเลือดที่ตรงกันเสมอไป โดยรายนี้ผู้บริจาคพลาสมามีเลือดกรุ๊ปบี ส่วนผู้รับบริจาคมีเลือดกรุ๊ปโอ

แพทย์ยังได้เชิญชวนให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายเป็นปกติแล้วร่วมบริจาคพลาสมาเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในรายที่วิกฤติหรือมีอาการหนัก ซึ่งหากมีความเข้ากันได้ก็จะสามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยให้หายได้ ซึ่งสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่คลังเลือด พลาสมาที่บริจาคแต่ละครั้งจะมีปริมาณ 400-600 ซีซี และสามารถเก็บเอาไว้ได้นานเกือบ 1 ปี