นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุถึงกรณี ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. เห็นชอบยืดระยะเวลา การประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน และประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิวออกไปอีก 1 เดือนจนถึงวันที่ 29 พ.ค. ผ่านเฟซบุ๊กว่า ตนมีข้อสังเกตว่าประกาศและคำสั่งหลายฉบับที่ออกมาเพื่อดำเนินการควบคุมสถานการณ์นั้น
อันที่จริงแล้วมักจะอ้างอำนาจตามกฎหมายปกติเป็นหลัก โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่บรรดาประกาศและคำสั่งของแต่ละจังหวัดที่ออกมาเพื่อปิดสถานที่ สถานประกอบการ และช่องทางเข้าออกต่างๆ ก็อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 และมาตรา 35 ว่าด้วยการสั่งปิดสถานที่และห้ามเข้าออกที่ต่างๆ เพื่อการควบคุมโรค ส่วนข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นมีลักษณะเป็นส่วนเสริมการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อเสียมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่สูง แต่เรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ใช้อำนาจต่ำ การมีอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในแง่หนึ่งจึงอาจเป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่รู้สึกว่าสามารถออกประกาศหรือคำสั่งใดๆ ได้โดยไม่กังวลว่าจะถูกอุทธรณ์หรือฟ้องเป็นคดีในภายหลังมากกว่า กล่าวง่ายๆ คือมีไว้แล้วเจ้าหน้าที่สบายใจกว่า ดังนั้นความสบายใจนี้นำไปสู่การใช้อำนาจปราบปรามประชาชนที่ถูกมองว่าแหกกฎ
โดยไม่เห็นถึงความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตของผู้คน หรือความปรารถนาดีที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในยามวิกฤต ทั้งการขัดขวางผู้อาสาบริจาคอาหารและสิ่งของจำเป็นแก่ผู้ที่ขาดแคลน จับกุมคนไร้บ้านที่ “ออกนอกเคหสถาน” ในช่วงเคอร์ฟิว ฉีกทำลายเอกสารอนุญาตของคนงานที่เดินทางในช่วงเคอร์ฟิวโดยอ้างว่าการทำโอทีไม่เข้าเกณฑ์ยกเว้น ดำเนินคดีต่อประชาชนเหล่านี้ในข้อหา “ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
"สำหรับผมนี่เป็นการใช้อำนาจที่ไร้หัวใจต่อเพื่อนร่วมชาติ ชนิดที่อภัยไม่ได้ การใช้อำนาจโดยได้รับการยกเว้นความรับผิดเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และหากรัฐบาลยังยืนยันที่จะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป ผมก็ขอฝากคำถามไปยังรัฐบาลว่าหากเกิดกรณีการใช้อำนาจแบบไร้หัวใจเช่นนี้ขึ้นอีก รัฐบาลจะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร" รังสิมันต์ ระบุ
อ่านเพิ่มเติม