ปัจจุบัน ไต้หวันมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 34 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และอีก 6 รายได้รับการรักษาหายจากการติดเชื้อแล้ว แต่ 'ผู้ติดเชื้อรายที่ 32' เป็นแรงงานชาวอินโดนีเซียที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ทำให้องค์กรภาคประชาชนในไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณามาตรการลดหย่อนโทษหรือนิรโทษกรรมแรงงานกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลและเยียวยาอาการป่วยจากโรคโควิด-19
ศูนย์โรคระบาดกลางของไต้หวัน (CECC) ระบุว่า แรงงานชาวอินโดนีเซียคนดังกล่าวทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ และที่ผ่านมามีประวัติการใช้ระบบขนส่งสาธรณะในกรุงไทเปเป็นประจำ ระหว่างวันที่ 11 - 16 ก.พ. ได้พบปะเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อรายที่ 27 และ 31
คาเรน ซู เลขาองค์กรแรงงานโลกกล่าวกับสื่อทางการของไต้หวัน (CNA) ว่า แรงงานผิด ก.ม.ในไต้หวันและกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กำลังจะกลายเป็นช่องโหว่ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสในไต้หวัน เพราะพวกเขากลัวว่าการขอความช่วยเหลือหรือการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จะทำให้พวกเขาถูกส่งกลับไปยังประเทศของตน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไต้หวันประกาศพร้อมที่จะรับแรงงานผิด ก.ม.เข้ารับการรักษาหากติดเชื้อโควิด-19 โดย 'หลินวันอี้' รัฐมนตรีที่ไม่ได้สังกัดกระทรวง และ 'เฉิน สื่อจง' รัฐมนตรีสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมของไต้หวัน ต่างกล่าวว่า แรงงานชาวต่างชาติซึ่งมีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในไต้หวัน ต่างมีความเสี่ยงในด้านสุขภาพเหมือนกัน แต่แรงงานที่ถูกกฎหมายสามารถเข้าถึงข้อมูลการป้องกันโรคได้ง่ายกว่ากลุ่มแรงงานผิด ก.ม. ซึ่งอาจกลายเป็นช่องโหว่ในการรณรงค์เพื่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 และไต้หวันจะไม่กีดกันกลุ่มแรงงานเหล่านี้ออกจากการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาด
'รัฐบาลไต้หวันจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องการรักษาพยาบาล หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และจะไม่มีการลงโทษในความผิดที่ลักลอบเข้าทำงานผิดกฎหมาย' รมว.สาธารณสุขฯ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขฯ ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทยของไต้หวัน จัดตั้งคณะทำงานเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านสาธรณสุขให้แก่แรงงานชาวต่างชาติ โดยมีการจัดทำข้อมูลใน 5 ภาษา ซึ่งหนึ่งในนั้นมีภาษาไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อแจ้งข้อมูลให้กับแรงงานทั้งหมดได้รับทราบถึงวิธีการปฏิบัติตนและดูแลสุขอนามัยของตัวเองในภาวะแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ไต้หวันมีแรงงานที่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 700,000 คน และมีการประเมินว่าเป็นแรงงานที่ลักลอบทำงานแบบผิด ก.ม. 50,000 คน โดยผู้ประกอบอาชีพในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ เช่น พยาบาล-ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ ซึ่งมีทั้งการเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทางการไต้หวันกล่าวว่าจะเริ่มตรวจสอบเอกสารของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่รับผิดชอบผู้ป่วยของโรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบแรงงานผิด ก.ม.ที่แอบแฝงอยู่ในไต้หวัน
ที่มา: Taiwan News / The Diplomat
ข่าวที่เกี่ยวข้อง