ไม่พบผลการค้นหา
ผู้หนีภัยรัฐคะเรนนีนับแสนวิกฤตขาดแคลนอาหารเหตุทหารพม่าปิดเส้นทางขนส่ง“กัณวีร์”จี้ไทยเปิดประตูมนุษยธรรมช่วยเหลือ กองทัพพม่าส่งบินรบทิ้งระเบิดต่อเนื่อง-คลื่นมนุษย์หนีตายประชิดไทยอีก-เข้ามาเพิ่มวันเดียว 300 คน

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 นายเตโหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มบรรเทาทุกข์คะเรนนี หรือ CTER (The Coordination Team for Emergency Relief- Karenni) เปิดเผยว่าสถานการณ์ในค่ายผู้หนีภัยการสู้รบในรัฐคะเรนนีขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต โดย 6 เมืองหลักของรัฐ ยกเว้นเมืองลอยก่อซึ่งเป็นเมืองหลวง ได้ถูกกองทัพพม่าโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมากกว่า 2 แสนคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน (IDPs) หลบซ่อนในป่า หรือรวมกันเป็นค่ายผู้พลัดถิ่น

“การส่งความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะมีการปิดถนนสายหลัก โดยเฉพาะที่เมืองเดโมโส่ ซึ่งเชื่อมกับเมืองหลวง ทำให้ข้าวสาร อาหาร สิ่งของจำเป็นไม่สามารถส่งถึงมือประชาชนได้ ขณะนี้มีประชาชนจากรัฐคะเรนนีที่หนีภัยความตายจำเป็นต้องข้ามมาพักพิงในฝั่งไทย ที่แม่ฮ่องสอน ประมาณ 1 หมื่นคน แต่ก็มีผู้พลัดถิ่นจากพื้นที่ชั้นในต้องหนีมาใกล้ชายแดนเช่นกันเนื่องจากการโจมตีจากทหารพม่า ขณะนี้มีตัวเลขผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นสูงสุดเท่าที่เคยมีมา” ผู้ประสานงานกลุ่มบรรเทาทุกข์ กล่าว

ด้านสำนักข่าวคะเรนนี Kantarawaddy Times รายงานเมื่อวันที่  25 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ค่ายผู้ลี้ภัยสงครามมากกว่า 50 แห่ง ทางตะวันตกของเมืองเดโมโส่ รัฐคะเรนนี กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารอย่างเร่งด่วน ขณะที่พบว่ามีผู้บริจาคให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในพื้นที่ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ขณะที่ราคาสินค้าและอาหารในพื้นที่ได้พุ่งสูงขึ้นเป็นสองเท่า โดยราคาข้าวสารเพิ่มขึ้นเป็นกระสอบละ 100,000 จั้ต (1,675 บาท) และยังพบว่ากองทัพพม่านั้นได้ปิดและควบคุมการขนส่งไม่ให้อาหารเข้าถึงผู้ลี้ภัยจากสงครามในพื้นที่ โดยเฉพาะข้าวสาร น้ำมันและเกลือ ถูกห้ามขนส่งระหว่างเมืองลอยก่อซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะเรนนี และเมืองเดโมโส่ โดยใช้นโยบายตัด 4  

“นโยบายตัด 4 นั้นคือการตัดเงินช่วยเหลือ ตัดเส้นทางลำเลียงอาหาร ตัดการติดต่อสื่อสารและตัดกำลังพล มุ่งเน้นใช้กับกลุ่มติดอาวุธและหวังให้ประชาชนอ่อนแอ เพื่อไม่ให้สามารถลุกขึ้นมาต่อสู้กับกองทัพพม่าหรือสนับสนุนแก่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์” Kantarawaddy Times ระบุ

เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เปิดเผยว่า ตามด่านตรวจต่างๆนั้น มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อหน่วยงานบรรเทาทุกข์และกลุ่มผู้บริจาคที่ต้องการนำความช่วยเหลือไปยังค่ายผู้ลี้ภัย และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่ออาหารในค่ายผู้ลี้ภัยสงครามหมดลง เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านจำนวนมากในรัฐคะเรนนีจึงหนีออกจากบ้านและขาดโอกาสในการจ้างงาน ทำให้ผู้ลี้ภัยต้องพึ่งพาอาหารที่เก็บไว้อย่างจำกัดเพื่อการยังชีพ 

ผู้ลี้ภัยสงครามรายหนึ่งกล่าวว่า ค่ายผู้ลี้ภัยสงครามต่างๆ ทางภาคตะวันตกของเมืองเดโมโส่ เหลืออาหารไม่มาก และผู้บริจาคให้ความช่วยเหลือก็มีไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อน ทั้งนี้ทางตะวันตกของเมืองเดโมโส่นั้น มีประชาชนราว 150,000 คน ต้องหนีภัยสงคราม 

ด้านนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่าเดมอโซฝั่งตะวันตกอยู่ไกลออกจากไทยไม่มาก เราสามารถส่งความช่วยเหลือมนุษยธรรมผ่านจากฝั่งไทยไปได้ หากเรามีสิ่งที่เรียกว่า cross-border interventions จากฝั่งไทย จะทำให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมไปถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ 

“การที่ทหารพม่าปิดกั้นการให้ความช่วยเหลือมีมาตลอดครับ แต่หากเราสามารถเปิดพื้นที่ส่งความช่วยเหลือผ่านจากฝั่งไทยไปได้ด้วย เราจะสามารถช่วยผู้คนได้อย่างมาก”นายกัณวีร์ กล่าว

ขณะที่สำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ กระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ว่าวันที่ 26 สิงหาคม 2566 มีผู้หนีภัยพำนักฝั่งไทยเพิมขึ้น 300 คน รวมยอดเก่าแล้วมีผู้หนีภัยจากรัฐคะเรนนีเข้ามาหลบภัย จำนวน 9,429 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 5 แห่งใน อ.แม่สะเรียง อ.ขุนยวม และ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชายแดนติดรัฐคะเรนนี