ณวัฒน์ อิสรไกรศีล พิธีกรและผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ให้สัมภาษณ์กับ วอยซ์ออนไลน์ มองการเมืองปัจจุบัน และวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นของนางงามจักรวาล ปี 2531 ปุ๋ย - ภรทิพย์ ไซมอน
ตามความเห็นของณวัฒน์ความไม่เท่าเทียมและการใช้กฎหมายที่บิดเบี้ยว เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียกร้องในปัจจุบัน
ความผิดเพี้ยนเริ่มตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่ถือเป็นการบังคับให้ยอมรับ เพราะขณะนั้นกฎหมายมีความทับซ้อน จนผู้คนไม่สามารถออกความเห็นได้
“เราต้องยอมรับว่า ส.ว.เองก็ไม่ควรมาจาการแต่งตั้ง ไม่ว่าที่ไหนเขาก็ไม่มี นี่คือสิ่งหนึ่งที่มันผิดเพี้ยนมาจากสิ่งแรกๆ และยิ่งมีอำนาจการโหวตนายกรัฐมนตรี มันยิ่งไม่ใช่เพราะว่า นายกรัฐมนตรีมาสายบริหารน่าจะมาจากเสียงของประชาชน
"นายกฯ เองก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ ส.ส. ขึ้นมาก็เลือกใครมาเป็นรัฐมนตรีเยอะแยะได้หมด ถามว่าคุณสบายใจเหรอ ลองไปดูย้อนหลังสิครับว่าคนเหล่านั้นคือใคร เราเลือกตั้งแล้วไม่มีวันได้คนของเรา”
ในฐานะผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ เขาให้อิสระผู้เข้าประกวดแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยเฉพาะการเเสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะเชื่อว่าเสียงของนางงาม เป็นอีก 1 เสียงที่ดังในฐานะคนสาธารณะ
“หลายคนอาจจะมีความรู้สึกว่าอดีตที่ผ่านมานางงามไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากนัก เพราะถูกกดทับไม่อยากให้พูดเรื่องอะไรที่มีผลต่อสังคม อยากให้พูดเฉพาะเรื่องที่สวยงาม รักเด็ก วัฒนธรรมรอยยิ้ม แต่จริงๆ ประโยชน์มันไม่ใช่ ถ้าทำแบบนั้นเเล้วทุกคนมีความสุข ผมว่ามันก็ทำได้นะ แต่จริงๆ แล้วทุกวันนี้คนทุกข์ตลอด พูดเรื่องเหล่านั้นไปมันก็ไม่มีประโยชน์”
เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เมื่อนางงามจักรวาลปี 2531 ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ ไซมอน ที่อาศัยอยู่เมืองนอก โพสต์เฟซบุ๊กเตือนสติคนไทย ให้คิดถึงวัฒนธรรมอันภาคภูมิใจ จน 'ณวัฒน์' ออกมาโต้กลับว่าควรมองเมืองไทยในหลากมิติ เพราะสังคมในสหรัฐอเมริกาแตกต่างจากเมืองไทย
ณวัฒน์เผยว่า เคารพในความคิดเห็น แต่อยากจะเชิญ ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ มาอยู่เมืองไทย จะได้เห็นในหลากมิติมากขึ้น ถ้าทุกคนกินอิ่มนอนหลับ รู้สึกสะดวกปลอดภัย การชุมนุมเรียกร้องสิ่งต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น
“คุณปุ๋ยเองอยู่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยอิสรภาพ เต็มไปด้วยสิทธิมนุษยชน และกฎหมายมีความเสมอภาค มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต มีรายได้ที่ดี และอยู่ในลักษณะฐานะที่ดี เพราะฉะนั้นการที่เราอยากจะอธิบายอะไรสักอย่าง เราต้องดูพื้นเพในสิ่งที่เรามีอยู่ด้วย อยากให้เข้าใจความจริงว่า ถ้าคนกินอิ่ม นอนหลับ ไม่มีอันตราย มีความสุขใครจะออกมา ฉะนั้นนี่คือประเด็นสำคัญ
"ดูตัวอย่างง่ายๆ เบี้ยเลี้ยงคนพิการ หรือคนสูงวัยอยู่ๆ ก็ยังหยุดจ่าย ประเทศเราถึงขั้นตรงนี้แล้ว ถ้าเกิดคุณปุ๋ยอยู่ต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา ถ้าคุณตกงานคุณก็มีรัฐดูแลในอัตราที่สูงมาก ของเราแค่ 800 บาท เรายังจ่ายไม่ครบทุกเดือน เพราะฉะนั้นอยากให้เข้าใจจริงๆ อย่าคิดแค่ว่าอยากให้คนไทยนึกถึงวัฒนธรรม คือวัฒนธรรมทุกคนนึกถึงหมดล่ะครับ แต่สิ่งที่นึกถึงก่อนวัฒนธรรมคือปากท้องและความปลอดภัย ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การคอรัปชันถือเป็นเรื่องที่ยากมาก สามารถตรวจสอบได้ทุกมิติ แต่ประเทศเราตรวจสอบไม่ได้"
ปัจจุบันมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคม เขาบอกว่า แม้จะขัดแย้งแต่ต้องเคารพ และยอมรับในความต่าง โดยตัวเขายึดตรรกะในการแสดงความคิดเห็นอยู่ 2 ข้อ คือ 1.ต้องมีข้อมูล 2.ต้องดูเรื่องกฎหมายในการอธิบายและต้องไม่ใช้อารมณ์ รวมทั้งไม่ควรผลักคนเห็นต่างกลายเป็นศัตรู
"อย่าผลักคนพูดการเมืองหรือคนอยากพัฒนากลายเป็นเรื่องอื่น อันนี้ผมว่ามันไม่แฟร์"
เขายังยกตัวอย่างว่า ถ้าใครมาบอกให้ท่านนายกฯ ลาออก หรือให้แก้ไขที่มาของ ส.ว.แสดงว่าไม่ได้รักในจุดนั้น เขาบอกว่ามันไม่ใช่ นี่เป็นวลีที่ทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง
ณวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า อย่าไปบังคับให้ผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะคนเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องออกมาจากจิตใจของตัวเอง จะไปบังคับให้บอกว่ารัก ถ้าเขาไม่รักยังไงเขาก็ไม่รัก บอกให้เขาทำ ถ้าเขาไม่อยากทำยังไงก็ไม่ทำ ซึ่งเขาไม่ผิด
สำหรับคนที่ออกความเห็นไม่ว่าจะออกความเห็นเป็นรูปแบบใด ตรงใจหรือไม่ตรงใจก็อย่าไปว่าเขา เพราะเชื่อว่าทุกคนมีภูมิหลัง ตราบใดที่นำเสนอความคิดของคุณได้ คุณต้องยอมรับความคิดคนอื่นได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญ