ไม่พบผลการค้นหา
21 ส.ค.2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในวาระ2 และ3 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นวันที่สี่ โดยมีการพิจารณาต่อในมาตรา 25 งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 37,543,236,900 บาท ซึ่งมีสมาชิกยื่นแปรญัตติ และสงวนความเห็นหลายคน โดยส่วนใหญ่อภิปรายเน้นการปรับลดงบประมาณ เพราะรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จต่อการแก้ปัญหาโควิด-19 และล่าสุดพบว่ามียอดผู้ติดเชื้อหลักล้านคน แม้จะยอดการฉีดวัคซีนให้คนไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นการจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ อสม. ยังพบว่ามีปัญหาและไม่ทั่วถึง พร้อมกับใช้เวทีอภิปรายเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ อสม. ด้วย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะรองประธานกมธ.งบประมาณฯ อภิปรายสงวนความเห็นว่า ในมาตรา 25 ตนสงวนความเห็นขอปรับลด 0.2 % เป็นเงิน 75 ล้านบาทในเรื่องการซื้อรถประจำตำแหน่งและการฝึกอบรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข สิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นคือการจัดหาวัคซีน เมื่อไปดูแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้คือสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กลับได้รับงประมาณปีนี้แค่ 22 ล้าน น้อยกว่าปีที่แล้วที่ได้ 23 ล้านบาท ทั้งที่ตอนนี้ผู้ติดเชื้อล้านกว่าราย เสียชีวิตสะสมเกือบหมื่น และยังไม่มีที่ท่ายอดจะลดลง เรื่องยอดคนเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่รัฐบาลไม่เคยคำนึงว่ามีคุณค่าหรือไม่ และไม่เคยบอกว่เราจะป้องกันคนไม่ให้ตายได้อย่างไร ส่วนที่บอกว่าจะหาวัคซีนให้ได้ 105 ล้านโดส วันนี้ยังขาด 80 กว่าล้านโดส รวมถึงปัญหาเรื่องยี่ห้อวัคซีนที่ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่หาวัคซีนที่ดี ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่ฟังคนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจหน้าที่ ถือเป็นความล้มเหลว

นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอตัดงบกระทรวงสาธารณสุข 22 % เป็นเงิน 8,259 ล้านบาท เพราะไม่เห็นด้วยกับหลักการในการจัดงบประมาณแบบนี้ที่ยังจะต้องไปสร้างสิ่งก่อสร้างอาคารมากมาย และซื้ออุปกรณ์ที่ไม่สอดคล้องกับการต่อสู้โรคระบาดร้าย ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยังค้างจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง อสม. จึงขอให้เร่งแก้ไขและช่วยดูแลอสม.ด้วย และ 1 ปีผ่านมาจากงบที่ให้ไปสามารถซื้อวัคซีนฉีดประชาชนได้ครบทุกคน แต่กลับไม่ทำ แถมยังไม่เข้าร่วมโครงการกับสหประชาชาติอีก เพราะถือว่าร่ำรวย จึงขอตัดงบเพื่อไปสู้กับโรค และนำมาให้กับ อสม. รวมถึงนำมาดูและผู้ที่พักคอยรักษาบำบัด

นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การแก้ปัญหโควิด-19 ของรัฐบาลคล้ายกิ้งกือตกท่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พูดคนละภาษา ตนมองว่ารัฐบาลกำลังหากินอยู่กับความตายของประชาชน โดยเรื่องวัคซีนที่สั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มเติมทั้งที่ไม่มีใครต้องการฉีด เช่นพื้นที่ จ.เชียงราย มีประชากร 1.3 ล้านคน ต้องฉีดให้ได้ 8 แสนคน พบว่ามีผู้ลงทะเบียน 5 แสนคน และฉีดแล้ว 2 แสนคน ไม่มีใครต้องการฉีดวัคซีนซิโนแวค เชื่อว่าหากสั่งซื้ออีกจะไม่มีใครต้องการ ส่วนกรณีวัคซีนไฟเซอร์ที่นำเข้า เชื่อว่ามีการอม อย่างไรก็ตามสถาบันวัคซีนแห่งชาติเคยชี้แจงในกรรมาธิการฯ ระบุว่ามีงบวิจัยเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น

“งบประมาณทั้งหมดไม่มีใครที่ต้องการให้สูญเสีย แต่ผมต้องถามว่างบซื้อวัคซีน และชุดตรวจเอทีเค อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ขณะที่สังคมออนไลน์ ชื่นชม ลุงต๋อยหรือนายสุรเสกข์ เนื่องน้อย สัปเหร่อวัดสุทธาวาสที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ต้องเผาศพผู้ติดเชื้อหลายร่างต่อวัน ผมอยากให้ลองมาโหวตว่า ระหว่างลุงต๋อยกับลุงตู่ ประชาชนจะฟังใครมากกว่ากัน” นายวิสาร อภิปราย

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนอยากให้นายกฯ ออกคำสั่งปรับชั้นยศให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เพิ่มชั้นยศ และให้เงินราชการทวีคูณ รวมถึงบรรจุลูกจ้างเป็นข้าราชการ ขณะที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลเขาทำงานกันเหนื่อยมาก แต่ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ขอให้รีบหาวิธีการเพิ่มขวัญกำลังใจ อีกทั้ง อสม.เรียกร้องขอช่วยซื้อเครื่องวัดความดันยี่ห้อดีๆ เครื่องตรวจเบาหวาน เครื่องตรวจออกซิเจน เพราะเขาเป็นบุคลากรด่านหน้าและทำงานเหน็ดเหนื่อยมาก แต่ไม่มีเครื่องมือที่สมบูรณ์ในการดูแลประชาชนในหมู่บ้าน

เวลา 14:07 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 242 :124 งดออกเสียง 1 ให้ความเห็นชอบงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขตั้งรับงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 37,543 ล้านบาทแบบรายมาตรา หลังใช้เวลาอภิปรายนาน 4 ชั่วโมง

ช่วงหนึ่งนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เพื่อไทย ทั้งชี้ถึงความล้มเหลวในการบริหารรับมือโควิด-19 ทั้งข้อทักท้วงการรวบอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขไปอยู่ใน ศบค.รวมถึงตั้งคำถามเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ อย่าให้ได้ข่าวว่ามี ส.ส.ได้วัคซีนเพิ่ม ก่อนจะเสนอให้หมอสู้เพื่อประชาชนในแนวทางที่ถูกต้อง และชี้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ควรให้หมอมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

นอกจากนี้ยังมีสมาชิกอภิรายตั้งคำถามถึงการจัดหาวัคซีนให้กับคนไทย โดยเปรียบเทียบไว้ว่า "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อาจจะเห็นได้ง่ายกว่า" ที่ตั้งข้อสังเกตุถึงความไม่ชอบมาพากลในการจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีนที่ไม่เป็นธรรม หรือการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่สังคมยังเคลือบแคลงสงสัย ท้วงติงการตัดงบสถาบันวัคซีนเหลือ 22 ล้านบาท สวนทางกับความสำคัญที่ประเทศต้องดำเนินการพัฒนาวัคซีนรองรับสถานการณ์ในอนาคต

 ด้านกรรมาธิการเสียงข้างมากนายภราดร ปริศนานันทกุล ชี้แจงการจัดสรรงบกระทรวงสาธารสุข กระทรวงสาธารณสุขว่า ถูกตัดงบไป 60 ล้านบาท แต่มีงบประมาณที่ปรับลดจากหน่วยงานอื่นๆ กว่า 16,000 ล้านบาทในงบกลางที่จะนำมาแก้ไขวิกฤติโควิด-19 และชี้แจงถึงการจัดซื้อวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขว่า ได้เตรียมไว้ 3-4 ยี่ห้อ คือ แอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดส ,ไฟเซอร์ 30 ล้านโดส,ซิโนแวค 20 ล้านโดส ,ซิโนฟาร์ม 5 ล้านโดส และอื่นๆอีก 10 ล้านโดสเป็น mRNA รวม120 ล้านโดส

ส่วนความล่าช้าในการฉีดวัคซีน ภราดรชี้แจงว่า ด้วยเพราะในช่วงแรก ศบค.พยายามจำกัดพื้นที่ระบาด และฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานครให้มากที่สุด ทำให้วัคซีนที่กระจายไปต่างจังหวัดสัดส่วนน้อย และในเดือนสิงหาคมเริ่มมีการกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสีแดงเข้มและสีแดงมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าภายในเดือนหน้าประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่านี้