ในความขัดแย้งทางการเมือง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หากถามว่ารัฐบาลใดที่เผชิญมรสุมทางการเมืองหนักหนาที่สุด หนึ่งในตัวเลือกย่อมต้องมี ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’
เพราะนอกจากเผชิญกับ ‘รัฐประหาร’ ที่เตรียมการมาแบบ ‘ไม่ให้เสียของ’ แล้ว ยังเผชิญกับคดีความมากมายในเชิงนโยบาย เช่น โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม 2 ล้านล้าน, คดีจำนำข้าว, คดีล้มล้างการปกครองเนื่องจากแก้รัฐธรรมนูญให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ หลายเรื่องลากยาวมานับสิบปี
ตัวอย่าง ‘คดีอาญา’ ล่าสุดที่เพิ่งเป็นข่าวคือ กรณีโยกย้ายข้าราชการ 1 คน ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ
ถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขา สมช. ตั้งแต่ปลายปี 2552 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ
ในปี 2553 ที่มีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง ถวิลยังมีตำแหน่งเป็น เลขานุการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) การควบคุมการชุมนุมในครั้งนั้นลงเอยด้วยการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก
ในช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถวิลเป็นข้าราชการระดับสูงที่ขึ้นปราศัยบนเวที กปปส.
หลังรัฐประหาร 2557 ถวิลได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และยังได้เป็นประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นพลเรือนคนแรก เพราะโดยปกติจะเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย หรืออธิบดีกรมการปกครอง
ต่อมา ถวิลได้รับแต่งตั้ง 1 ใน 250 สว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.ที่ยังมีวาระอยู่จนปัจจุบัน สื่อหลายสำนักรายงานว่าก่อนหน้านั้นเขาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านความมั่นคงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ถวิลเป็น เลขา สมช.ตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งแถลงนโยบายต่อสภาเมื่อเดือน ส.ค.2554 แล้วก็เริ่มมีการบริหารบุคคลในตำแหน่งสำคัญต่างๆ
การโอนเลขา สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฝ่ายข้าราชการประจำ (ผู้บริหารระดับสูง) นั้นผ่าน ครม. เมื่อต้นเดือน ก.ย. และมีประกาศสำนักนายกฯ เมื่อปลายเดือน ก.ย.2554
ถวิลไม่ยอมรับการโอนย้ายดังกล่าวโดยเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะตนเองไม่มีข้อบกพร่อง ดำเนินการโดยเร่งรัด และเกี่ยวพันกับการผลักดันญาติของนายกฯ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. จึงฟ้องศาลปกครองเมื่อ เม.ย.2555 ศาลปกครองกลางตัดสินเมื่อเดือน พ.ค.2556 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อเดือน ก.พ.2557
ในขณะที่ถวิลฟ้องยิ่งลักษณ์เรื่องการโยกย้ายตนเองจากตำแหน่ง เลขา สมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ตัวเขาเองก็ได้มาเป็นเลขา สมช. หลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์มีการย้าย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขา สมช.คนก่อน ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ เช่นกัน
คดีของถวิลนั้นมีความน่าสนใจ เพราะผ่าน 3 ศาล แต่ผลลัพธ์ออกมาต่างกัน
เรื่องนี้ทำเอาประชาชนงุนงงสงสัย ทำไมคดีจึงดำเนินไปตั้งสามศาล ทำไมคดีจึงยาวนานกว่าจะตัดสิน ทำไมผลลัพธ์จึงไม่เหมือนกัน ???
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่าเหตุที่คดีของศาลฎีกาฯ มีผลลัพธ์ต่างไปนั้น เป็นเพราะแต่ละศาลมีนิติวิธีที่แตกต่างกัน และผลลัพธ์ของศาลฏีกาฯ ก็ไม่มีผลลบล้างคำสั่งศาลปกครอง-ศาลรัฐธรรมนูญหรือเยียวยาอะไรให้แก่จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยใช้กฎหมายอาญาเป็นหลัก โดยดูจากการกระทำความผิดของบุคคลหรือโครงสร้างความรับผิดทางอาญาที่ต้องดูว่าใครจะทำความผิดอาญาต้องมีการกระทำที่มีเจตนา และมาตรา 157 ระบุว่าต้องมีเจตนาพิเศษด้วย เมื่อพิจารณาหลักฐานทั้งหมดแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่มีเจตนาและเจตนาพิเศษ เป็นการกระทำปกติที่นายกฯ เป็นผู้มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการ จึงไม่ผิดมาตรา 157
อย่างไรก็ดี คดีนี้มีความสำคัญและน่าสนใจทั้งในทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรม จึงน่าศึกษาในรายละเอียด ซึ่งจะขอสรุปโดยคร่าว ดังนี้
คดีศาลปกครอง - ถวิลเป็นโจทก์ฟ้องร้องนายกฯ จากกรณีโยกย้ายกล่าวหาว่ากระทำโดยมิชอบ คำตัดสินคดีปกครองไม่มีบทลงโทษ ศาลเพียงตัดสินว่าคำสั่งโยกย้ายถูกต้องหรือไม่ ซึ่งศาลตัดสินให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายเพราะมองไม่เห็นเหตุผลการโยกย้ายที่เพียงพอว่าถวิลบกพร่องตรงไหน อีกทั้งสั่งให้คืนตำแหน่งให้ถวิล
คดีศาลรัฐธรรมนูญ - คดีในศาลรัฐธรรมนูญ ดูมีความเป็น ‘การเมือง’ มากขึ้น คนตั้งเรื่องกรณีนี้ คือ สว.28 คน นำโดย ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ สมัยนั้น สว.มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละครึ่ง ไพบูลย์เป็นหนึ่งในคนสำคัญของ ‘กลุ่ม40 สว.’ ซึ่งกลุ่มนี้มีบทบาทเด่นชัดในการต่อสู้กับทักษิณ-สมัคร-สมชาย-ยิ่งลักษณ์
คดีในศาลรัฐธรรมนูญมีการเชื่อมโยงเรื่อง ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ โดยระบุว่า การย้ายถวิลจากเลขา สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้านความมั่นคงนั้น ก็เพื่อจะโยก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ในขณะนั้นมานั่งเป็นเลขา สมช.แทน แล้วจะได้แต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของนายกฯ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. (กรณีนี้กฎระเบียบกำหนดว่า พล.ต.อ.วิเชียรต้องมาด้วยความสมัครใจเท่านั้น ซึ่งเขาก็สมัครใจจะโยกย้าย) อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าผิดตามฟ้อง มีคำสั่งให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง โดยคดีนี้ใช้เวลาพิจารณาเพียงราวๆ 1 เดือนหลังไพบูลย์ยื่นเรื่อง
อย่างไรก็ดี คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเมื่อ 7 พ.ค.2557 ขณะที่ยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้วตั้งแต่ 9 ธ.ค.2557 เนื่องจากถูกม็อบ กปปส.กดดันอย่างหนัก ดังนััน ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ยิ่งลักษณ์จึงมีสถานะเป็นนายกฯ รักษาการ
ต่อมาหลังเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ต่อเนื่อง เพื่อเตรียมชงเรื่องส่งฟ้องต่อศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คดีอาญา - ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองจะพิจารณาคดีอาญา ซึ่งแปลว่ามีโทษจำคุกตามกฎหมาย การฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกระบวนการแล้ว ป.ป.ช.ต้องเป็นคนชงเรื่อง โดย ป.ป.ช.ชี้มูลว่า ยิ่งลักษณ์ทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (โทษจาคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจาทั้งปรับ)
ล่าสุด ศาลฎีกาฯ ตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากไม่พบเจตนาพิเศษที่จะกลั่นแกล้งถวิล การโยกย้ายข้าราชการโดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญด้านความมั่นคงเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยตลอดมา กระบวนการโอนย้ายเป็นไปตามกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ เป็น ผบ.ตร. เพราะแม้นายกฯ เป็นผู้เสนอชื่อ แต่อำนาจตัดสินใจเป็นของ ก.ต.ช. (คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ มี 14 คน) อีกทั้งการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ก็ทิ้งเวลาห่างจากการโอนย้ายจึงไม่นับเป็นกระบวนการเดียวกัน
(อ่านรายละเอียดคำพิพากษาด้านล่าง)
ทั้งนี้ ป.ป.ช. ใช้เวลาไต่สวนเรื่องนี้ราว 6 ปี ป.ป.ช.จึงมีคำสั่งชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์เมื่อ ก.ค.2563 อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์เมื่อ 28 ก.พ.2565 และศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้เวลาอีก 1 ปีกว่า จึงมีคำพิพกาษาเมื่อ 26 ธ.ค.2566 (หลังจากเลื่อนมา 2 ครั้ง)
ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า ในชั้นไต่สวนอันยาวนานของ ป.ป.ช.นั้น เบื้องต้นมีการไต่สวนความผิดทั้งตัวนายกฯ และครม.ทั้งหมด 30 กว่าคน ที่มีมติ ‘รับทราบ’ การโยกย้ายถวิล แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช.ชี้มูลว่า มีเพียงนายกฯ ที่ผิด
นอกจากนี้ ในระหว่างไต่สวนมีผู้ถูกกล่าวหาหลายคนทำคำร้องคัดค้านอนุกรรมการไต่สวนด้วยเหตุแห่งการเป็นปฏิปักษ์ ไม่เป็นกลางอยู่หลายคน รวมถึงยิ่งลักษณ์ที่คัดค้าน ‘สุภา ปิยะจิตติ’ หนึ่งใน ป.ป.ช.ว่า มีอคติส่วนตัว และมีสาเหตุโกรธเคืองมาก่อน เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ป.ป.ช.พิจารณาแล้วปัดตก
หากค้นข่าวย้อนหลังจะพบว่า สุภา เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงการคลังที่มีความขัดแย้งกับเจ้ากระทรวงจากกรณีโครงการจำนำข้าว ต่อมาปี 2557 ได้เป็ ป.ป.ช.สอบคดีจำนวนข้าวในที่สุด
ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ สุภาในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสากิจได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 ผู้ทรงคุณวุฒินั่งใน ก.ต.ช.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการโหวตเลือก ผบ.ตร.และในปี 2554 ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เสนอชื่อ พล.อ.ต.เพรียวพันธ์ รองผบ.ตร.ที่มีอาวุโสสูงสุดเป็น ผบ.ตร.นั้น ที่ประชุม ก.ต.ช.ซึ่งมีสุภาร่วมอยู่ด้วยก็ได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์
ในคำแถลงปิดคดีของฝ่ายจำเลย-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สรุปข้อต่อสู้ในส่วนข้อเท็จจริงได้ดังนี้
หลังจากที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินยกฟ้องยิ่งลักษณ์ ‘สุรชาติ บำรุงสุข’ นักวิชาการด้านความมั่นคงเขียนบทความลงในมติชนสุดสัปดาห์ สรุปความได้ว่า อำนาจในการ ‘บริหารบุคคล’ โดยเฉพาะในสายงานความมั่นคงนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร และเป็นปกติธรรมของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องใช้คนที่ไว้วางใจ พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงคำตัดสินในศาลปกครอง-ศาลรัฐธรรมนูญว่า แทรกแซงอำนาจบริหารหรือไม่
“หากตีความตามคำตัดสินเช่นนี้ในทางกฎหมาย เราอาจกล่าวได้ว่า นายกรัฐมนตรีในทางนิติศาสตร์ไม่มีอำนาจในการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งในกรณีนี้คือ เลขา สมช. แต่คำตัดสินเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามในทางรัฐศาสตร์ตามมาอย่างมากว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการเพียงใดหรือไม่ เพราะอำนาจเช่นนี้น่าจะเป็น ‘เอกสิทธิ์ของฝ่ายบริหาร’ ที่สามารถกระทำการได้โดยไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย และเอกสิทธิ์เช่นนี้ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ “ฝ่ายตุลาการ” ใช้อำนาจแทรกแซงได้ มิฉะนั้นแล้ว อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านการโยกย้ายข้าราชการจะอยู่กับฝ่ายตุลาการ” ตอนหนึ่งในบทความของสุรชาติ
ขณะที่ มุดา สุวรรณชาติ คอลัมนิสต์อีกคนหนึ่ง เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลใดก็ต้องเลือกคนที่ไว้วางใจได้ มาคุม สมช.เนื่องจากเป็นเครื่องมือป้องกันประเทศและรัฐบาล เป็นทั้งโล่และหอก
“สรุปบทเรียนสมัยนายกฯ ทักษิณ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เข้ามารับตำแหน่ง เลขาฯ สมช.ในปี 2545 และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2549 วันที่เกิดการรัฐประหาร ก็ยังเป็นเลขาฯ สมช. การรัฐประหารครั้งนั้น สมช.ไม่ได้มีบทบาทช่วยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เลยแม้แต่น้อย ในที่สุดความจริงก็ปรากฏว่า พล.อ.วินัย กลับมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของคณะรัฐประหาร แม้แต่ชื่อคณะรัฐประหาร (คปค.) ก็เป็นคนตั้ง งานนี้ต้องถือว่ารัฐบาลโดนหอกข้างแคร่แทงทะลุหลัง และ พล.อ.วินัย ก็โดดขึ้นชั้นจากเลขาฯ สมช. กลายเป็นเลขาฯ ของคณะรัฐประหาร (คปค.) เป็นหนึ่งในหกของคณะผู้มีอำนาจสูงสุดของคณะรัฐประหารขณะนั้น” มุกดาเขียนไว้ไว้ตอนหนึ่ง
[ส่วนของการบรรยายฟ้อง]
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้น
เห็นว่า การดำเนินคดีในระบบไต่สวน เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องตรวจคำฟ้องว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้อง และเมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องแล้ว หากจำเลยไม่เข้าใจข้อหาแห่งคำฟ้องอย่างไรก็ชอบที่จะแถลงเพื่อให้ศาลสั่งให้โจทก์ชี้แจงข้อหานั้นหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดแห่งคำฟ้องจนจำเลยเข้าใจได้ดี แต่จำเลยมิได้ดำเนินการดังกล่าว ประกอบกับฟ้องโจทก์บรรยายถึงการกระทำของจำเลยตั้งแต่การดำเนินการโยกย้ายให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 เป็นส่วนหนึ่งและเชื่อมโยงกับการโอนย้ายพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ และบรรจุแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นการแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือให้พ้นไปจากตำแหน่ง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามมาตรา 157 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 123/1 ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 อันเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายในบรรดาที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่จำเลยสามารถให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมีรายละเอียดชัดเจนครบถ้วนแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อต่อสู้ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
ในประเด็นแรกที่ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนปราฏว่า มูลกรณีคดีนี้เคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 แล้วนั้น องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า แม้มูลกรณีคดีนี้จะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 แล้วก็ตาม แต่คดีของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว คงพิจารณาวินิจฉัยแต่เพียงว่า ผู้ถูกร้อง (จำเลยคดีนี้) ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคพรรคการเมืองในเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 266(2) และ (3) อันมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นพิจารณาวินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาของบุคคลใด และผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงผูกพันศาลนี้ให้รับฟังได้เพียงว่า ความเป็นรัฐมนตรีของจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้ว
ส่วนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2554 ที่สั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ที่สั่งให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นพิจารณาวินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาของบุคคลใด
ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้องคดีนี้หรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย และยังไม่มีศาลใดวินิจฉัยมาก่อน จึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะวินิจฉัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการปก้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 76 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 10 การที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของจำเลยในคดีนี้ นอกจากพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 และเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจรริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 ด้วย
โดยศาลต้องไต่สวนพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายและศาลอาจเรียกพยานมาไต่สวนเองเพื่อค้นหาความจริงและใช้ดุลพินิจวินิจฉัยพยานหลักฐานทั้งปวง โดยจะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคสาม โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด.....” ดังนั้น หากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยจึงจะลงโทษจำเลยตามฟ้องได้
กรณีจึงไม่อาจเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมาผูกพันให้ศาลนี้ต้องรับฟังตาม คงรับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานส่วนหนึ่ง
ในส่วนประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า การกระทำความผิดตามฟ้อง นอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว เจ้าพนักงานผู้นั้นยังต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือต้องมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเจตนาพิเศษนี้ต้องมีอยู่ในขณะกระทำความผิด
สำหรับปัญหาว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งในกรณีนี้คือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายถวิล เปลี่ยนศรี หรือไม่นั้น พยานหลักฐานจากการไต่สวนได้ความจากนายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พยานโจทก์เบิกความว่า ก่อนวันที่ 5 ก.ย.2554 จำเลยโทรศัพท์มาสั่งการให้พยานทำเรื่องเสนอโยกย้ายนายถวิล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่นายบัณฑูรมิได้เบิกความถึงที่มาหรือมูลเหตุจูงใจที่ทำให้จำเลยสั่งการ ซึ่งการสั่งการดังกล่าวจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 อันรวมถึงกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และข้อเท็จจริงยังได้ความจากนายบัณฑูรอีกว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีตำแหน่งลอยประมาณ 7-8 ตำแหน่ง ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อนุมัติเป็นกรณีพิเศษสำหรับแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินในกรณีที่ไม่สามารถจะโยกย้ายไปลงตำแหน่งอื่นได้ เพราะบางครั้งตำแหน่งระดับสูงไม่ว่างให้สับเปลี่ยนคนได้ อันแสดงให้เห็นว่าการโยกย้ายให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่มีเหตุผลพิเศษเฉพาะกรณีจนถึงกับมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดตำแหน่งไว้รองรับล่วงหน้า ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาโยกย้ายแตกต่างจากกรณีข้าราชการอื่นทั่วไป
ประกอบกับจำเลยมิได้มีสาเหตุขัดแย้งอันใดกับนายถวิลเป็นการส่วนตัวมาก่อน อันจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยประสงค์ที่จะกลั่นแกล้งนายถวิลแต่อย่างใด จำเลยคงอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลก่อนได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีนายถวิลเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งจำเลยอ้างว่านำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลภายใต้การนำของจำเลยจึงต้องการเปลี่ยนตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แสดงว่ากรณีมีเหตุที่จะโอนนายถวิลมาปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนแล้วโดยไม่ได้มีข้อคำนึงถึงว่า พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จะยินยอมย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่
ทั้งพลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พยานจำเลยก็เบิกความว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยเหตุผลของความต้องการผู้ได้รับความไว้วางใจสูงสุดก็มีความชอบธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่เพื่อให้เกียรติผู้ดำรงตำแหน่งคนเดิมก็จะใช้เหตุผลว่า เพื่อความเหมาะสม เรื่องความไว้วางใจนี้ข้าราชการที่ทำงานด้านความมั่นคงเข้าใจกันและยอมรับการโยกย้ายด้วยความเต็มใจ ทั้งยังได้ความจากพล.ต.อ.โกวิท ว่า ก่อนที่นายถวิลจะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีพล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเข้าสู่สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการโอนย้ายพล.ท.สุรพลจากต้นสังกัดเดิมมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเฉกเช่นเดียวกับกรณีของนายถวิล ตามเอกสารหมาย จ.114-119
เห็นได้ว่าการใช้ดุลพินิจจำเลยในการโยกย้ายนายถวิลจึงเป็นไปตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม แม้จะไม่มีการอ้างเหตุผลในการโยกย้ายว่าได้ปฏิบัติงานโดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายรัฐบาลก็ตาม
ข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายถวิล
ส่วนปัญหาว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยต้องการให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ญาติของจำเลยขึ้นดำรงตำหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น การที่รับฟังข้อเท็จจริงว่าขั้นตอนกระบวนการขอรับโอนนายถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นส่วนหนึ่งและมีความเชื่อมโยงกับการขอรับโอนพล.ต.อ.วิเชียร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน อันจะทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง แล้วจะได้แต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น ทางไต่สวนไม่ปรากฏประจักษ์พยานรู้เห็นมาเบิกความยืนยัน กรณีจำเป็นต้องพิจารณาจากพยานแวดล้อมที่ปรากฏในการไต่สวน ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนประกอบกัน
สำหรับการโอนายถวิลอาจทำได้เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 57 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนนั้นแล้ว และทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งในขั้นตอนนี้ พล.ต.อ.โกวิท รองนายกรัฐมนตรี พยานจำเลย ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น เบิกความว่า เมื่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือขอความเห็นชอบในการรับโอนนายถวิล พยานเห็นชอบโดยจำเลยมิได้ก้าวก่ายแทรกแซงสั่งการ ส่วนนางสาวกฤษณา พยานจำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดในขณะนั้น ก็เบิกความว่า อำนาจในการสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชาการพลเรือนให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่่งประจำในหน่วยงานระดับกรม เป็นอำนาจของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดที่พยานจะไม่เห็นชอบต่อข้อเสนอของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พยานจึงลงนามให้ความเห็นชอบยินยอมให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทาบทามไปยังผู้บังคัญบัญชาเจ้าของสังกัดของนายถวิล
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่า พล.ต.อ.โกวิทและนางสาวกฤษณาต่างพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยตนเองโดยลำพัง พยานหลักฐานจากการไต่สวนจึงไม่อาจบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายได้มีการคบคิดวางแผนกันล่วงหน้าในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยตั้งแต่แรก ทั้งหากจำเลยมีเจตนาตระเตรียมการให้รับโอนนายถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และรับโอนพล.ต.อ.วิเชียร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน เพื่อที่จะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง การดำเนินการก็น่าจะต้องมีการแจ้งหรือทาบทาม พล.ต.อ.วิเชียรให้ยินยอมที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเสียก่อน แต่ขณะที่นายบัณฑูรจัดทำบันทึกขอรับโอนนายถวิลเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2554 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติการโอนนายถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2554 นั้น ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยสั่งการหรือมอบหมายให้ผู้ใดทาบทามพล.ต.อ.วิเชียร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงกลับได้ความจาก พล.ต.อ.วิเชียร พยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้นายถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ พล.ต.อ.โกวิทได้โทรศัพท์มาทาบทามว่า ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังจะว่างลง พยานจึงตัดสินใจที่จะไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหนังสือฉบับลงวันที่ 29 ก.ย.2554 เอกสารหมาย จ.161 อันเป็นการยินยอมภายหลังจากที่โยกย้ายนายถวิลไปแล้วนานถึง 22 วัน ซี่งหากมีการสมคบคิดอันเป็นส่วนหนึ่งและมีความเชื่อมโยงกันก็ไม่น่าจะต้องปล่อยเวลาให้ล่วงเลยนานถึงเพียงนี้
ยิ่งกว่านั้นขณะที่จำเลยสั่งการให้โอนนายถวิลก็ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยทราบว่า ต่อมาภายหลังพล.ต.อ.วิเชียรจะสมัครใจย้ายหรือไม่ หรือจะย้ายไปดำรงตำแหน่งใด เมื่อใด ย่อมรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยสั่งการให้รับโอนนายถวิลโดยมีเจตนาเพื่อจะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง และก็ไม่อาจฟังได้ว่า การสมัครใจย้ายของพล.ต.อ.วิเชียร เป็นผลโดยตรงจากการโยกย้ายนายถวิลอีกด้วย
นอกจากนี้แม้นายบัณฑูร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะมีบันทึกข้อความ ลับมาก ที่ นร 0401.2/8303 ถึงรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ.โกวิท) เพื่อขอรับโอนนายถวิลมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยระบุว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวกฤษณา) ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบและยินยอมการรับโอนแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.114 หน้า 1203 และ 1204 แต่ความจริงนางสาวกฤษณายังมิได้ให้ความเห็นชอบ อันเป็นการแจ้งข้อความไม่ถูกต้องหรือมีลักษณะเป็นการปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้อีกฝ่ายทราบเพื่อพิจารณายินยอมให้โอน และยังมีการแก้ไขวันที่ที่ทำเอกสารจากวันที่ 4 ก.ย.2554 เป็นวันที่ 5 ก.ย.2554 ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับข้อความในเอกสารฉบับดังกล่าว
ส่วนการดำเนินการในการขอรับโอน ขอรับความเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ รวมทั้งการที่จำเลยได้มีคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีใช้เวลาเพียง 4 วันนั้น ก็ได้ความจากนายบัณฑูร และนายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักเลขาธิการนายรัฐมนตรี เบิกความว่า การเสนอแต่งตั้งโยกย้ายเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดให้ทันต่อการเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นบ่อย พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เบิกความตรงไปตรงมา ไม่มีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำเบิกความในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ประกอบกับผู้ที่แจ้งว่าการรับโอนนายถวิลเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจึงขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจร คือนางสาวกฤษณา จำเลยเพียงแต่อนุมัติตามที่ได้เสนอมาเท่านั้น ดังนั้นการเร่งรีบดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นพิรุธของจำเลย
นอกจากนี้แล้วข้อเท็จจริงคงได้ความว่า จำเลยมีส่วนในการดำเนินการโยกย้ายนายถวิลให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยจำเลยเป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนุมัติในวันที่ 6 ก.ย.2554 ทั้งจำเลยได้ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและลงมติอนุมัติให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จำเลยก็ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย.2554 ให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายในการโอนย้ายข้าราชการระดับสูง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงย่อมไม่อาจนำมารับฟังว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์ของพล.ต.อ.เพรียวพันธ์
ส่วนเรื่องที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ในเชิงกดดันพล.ต.อ.วิเชียรดังกล่าว เมื่อร.ต.อ.เฉลิมมิใช่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดที่มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบและยินยอมในการโอนและรับโอนนายถวิลหรือ พล.ต.อ.วิเชียร กรณีจึงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของ ร.ต.อ.เฉลิม ทั้งไม่มีพยานแวดล้อมกรณีหรือพยานอื่นใดที่มีน้ำหนักมาประกอบ
พยานหลักฐานจากการไต่สวนไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้เชื่อได้ว่า จำเลยกระทำโดยมีเจตนาพิเศษในการกระทำความผิดเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาข้ออื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายกฟ้อง