นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตร (Digital Agriculture) เพิ่มทักษะทางดิจิทัลให้กับเกษตรกรไทย สร้างระบบนิเวศดิจิทัลให้สมบูรณ์ สนับสนุนการดำเนินโครงการ “1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) One Tambon One Digital” ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ในกระบวนการเพาะปลูกและดูแลรักษาพืช เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ให้เกิดการพัฒนาทักษะอาชีพใหม่ให้แก่ช่างซ่อมโดรนชุมชน สร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้เพิ่ม ยกระดับการเกษตรกรรมของประเทศสู่สังคมดิจิทัล
จากแนวนโยบาย The Growth Engine of Thailand เครื่องยนต์ใหม่ของประเทศไทย ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) รวมถึงการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรและชุมชนไทยประยุกต์นำเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินโครงการ “1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) One Tambon One Digital" ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อกิจการทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นโดรนที่ผลิตในประเทศไทยและผ่านการรับการรับรองมาตรฐาน dSURE นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาความสามารถและองค์ความรู้ ด้านการซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรให้ช่างในชุมชน เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงช่างอื่นๆ สู่การเป็นช่างซ่อมโดรนเกษตรในชุมชน เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาทักษะดิจิทัล ยกระดับภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีโดรน
โดยตั้งเป้าหมายภายในระยะเวลา 1 ปี เกิดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรทั่วประเทศ 50 ศูนย์ เกิดการใช้งานโดรน 500 ชุมชน หรือกว่า 10,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมรวมทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านไร่
ทั้งนี้ โดรนเพื่อการเกษตรสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดระยะเวลาการทำงาน ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยสำนักงานฯ ยังมีการอนุมัติศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรไปแล้ว จำนวน 35 แห่ง แบ่งเป็น
- ภาคเหนือ 8 แห่ง
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 แห่ง
- ภาคกลางและภาคตะวันตก 5 แห่ง
- ภาคตะวันออก 2 แห่ง
- ภาคใต้ 1 แห่ง
รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะการบิน การออกใบอนุญาต และการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ที่ดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงการพัฒนาระบบฝึกอบรมโดรนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาทักษะนักบินโดรนและช่างซ่อมบำรุงโดรน ซึ่งคาดว่าตลอดทางโครงการจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 20,000 ล้านบาท