หลังมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจกับรายงานจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ที่สะท้อนว่าสัดส่วนคนจนในไทย ลดลงจาก 9.85% ของประชากรทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 6.7 ล้านคน ณ ปี 2561 ลงมาเหลือ 4.3 ล้านคนในปีที่ผ่านมา
‘วอยซ์ออนไลน์’ ชวนทำความรู้จักกับประเภทของคนจนที่กำลังถูกพูดถึงกันอยู่และย้อนรอยว่าพวกเขาอาศัยอยู่จุดใดในสังคม
ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘เส้นความยากจน’ (poverty line) ซึ่งคำนวณจากต้นทุนในการได้มาซึ่งอาหารและบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์
โดยข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2562 ระบุว่า โดยเฉลี่ยทั่วประเทศ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,762.913 บาท/คน/เดือน ถูกจัดอยู่ในฐานะ ‘คนจน’ ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวขึ้นมาเป็น 3,276.475 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร
จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวว่าตัวเลขคนจนลดลงมาเหลือ 4.3 ล้านคนในปีที่ผ่านมา แท้จริงแล้ว ประเทศเคยมีระดับคนจนใกล้เคียงกันนี้ในปี 2558 ที่ตัวเลข 4.8 ล้านคน ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 5.8 และลดลงมาเล็กน้อยที่ 5.3 ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ
ตัวเลขข้างต้นสอดคล้องกับรายงานของธนาคาร ภายใต้ชื่อ ‘จับชีพจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย’ ที่ระบุว่า อัตราความยากจนของคนไทยลดลงจาก 65.2% ของประชากรทั้งหมดในปี 2531 มาอยู่ที่ 9.85% แต่ระหว่างปี 2558 - 2561 กลับเห็นรูปแบบกราฟความยากจนที่พุ่งขึ้น
จูดี หยาง นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกชี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขคนยากจนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพราะอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี โตต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นอกจากนี้ ประชากรในภาคเกษตรของไทยยังต้องเผชิญกับการค้าโลกที่อ่อนแอประกอบกับภัยแล้งที่ส่งผลโดยตรงกับผลผลิตและรายได้ของครัวเรือน ขณะที่มาตรการเยียวยาจากรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร
เมื่อกลับมาที่รายงานเดิมของสภาพัฒน์อีกครั้ง แม้สัดส่วนคนจนจะน้อยลงในปีที่ผ่านมา แต่หากไปดูตัวชี้วัดด้านความไม่เสมอภาคของรายได้ซึ่งวัดจากสัมประสิทธิ์จีนี (ค่ายิ่งเข้าใกล้ศูนย์ยิ่งมีความเสมอภาคของรายได้ ค่ายิ่งเข้าใกล้หนึ่งยิ่งมีความไม่เสมอภาคของรายได้) พบว่า นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติในปี 2531 มาจนถึงปัจจุบัน ค่าสัมประสิทธิ์ไม่ได้หนีห่างจากช่วง 0.4 - 0.5 แต่อย่างใด ข้อมูลปีล่าสุดอยู่ที่ 0.43 ขณะที่ 2 ปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 0.45
ด้านความเหลื่อมล้ำในรายได้ของประชากรที่รวยสุด 20% แรกของสังคม เมื่อเทียบกับ 20% ที่จนที่สุดของสังคม แตกต่างกันเกือบ 9 เท่าในปี 2562 ลดลงจากระดับ 10 เท่าในปี 2560
ตามรายงานฉบับเดิมจากธนาคารโลกสะท้อนว่าคนจนของไทยกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค แต่มีอัตราความยากจนกระจุกตัวมากที่สุดในจังหวัดทางภาคใต้ ขณะที่ 5 อันดับ จังหวัดที่มีอัตราความยากจนมากที่สุดได้แก่ แม่ฮ่องสอน, ปัตตานี, กาฬสินธุ์, นราธิวาส และตาก ตามลำดับ
ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์ TPMAP ซึ่งเป็นมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะทำงานอื่นๆ สะท้อนข้อมูลที่อยู่คนจนในประเทศไทยผ่านดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) ซึ่งเป็นการประเมินความยากจนจาก 5 องค์ประกอบสำคัญได้แก่ สุขภาพ, ความเป็นอยู่, การศึกษา, รายได้ และการเข้าถึงบริการรัฐ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ชี้ว่า ในปี 2562 เมื่อเรียงตามสัดส่วนคนจน แม่ฮ่องสอนยังครองแชมป์จังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ตามมาด้วยสตูล น่าน บึงกาฬ และ ตาก ขณะที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนน้อยที่สุดในประเทศ
เมื่อทราบว่าใครคือคนจนและพวกเขาอยู่ที่ไหน คำถามสำคัญจึงกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ในรายงานของธนาคารโลกชี้ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการที่หลากหลายทั้งการเข้าไปสนับสนุนเรื่องสวัสดิการทางสังคม แต่น้ำหนักสำคัญที่สุดยังคงเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;