สำนักข่าวไทยรายงาน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดงานประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และพิธียกย่องเชิดชูเกียรติภาคีเครือข่ายดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อแสดงถึงความมีอยู่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่าง ๆ กระตุ้นส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟู และปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติให้เกิดความยั่งยืน
การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2562 จำนวน 18 รายการ ได้แก่ ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 1.ตำนานเขาสาปยา จ.ชัยนาท 2.ตำนานเมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ด้านศิลปะการแสดง 3.โปงลาง จ.กาฬสินธุ์ 4.กลองอืด จ.ตาก 5.รำมอญ จ.ปทุมธานี 6.รำตร๊ด จ.ศรีสะเกษ และ จ.สุรินทร์ 7.ลำแมงตับเต่า ไทเลย จ.เลย
ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล 8.ประเพณีอัฏฐมีบูชา จ.นครปฐม และ จ.อุตรดิตถ์ 9.โจลมะม็วด จ.สุรินทร์ 10.ประเพณีแห่นางดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้านความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 11.ทุเรียนนนท์ จ.นนทบุรี 12.ปลาสลิดบางบ่อ จ.สมุทรปราการ ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม 13.หม้อน้ำดินเผาเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี 14.งานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร จังหวัดเพชรบุรี 15.เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จ.นครราชสีมา 16.ซิ่นหมี่คั่นน้อยไทหล่ม จ.เพชรบูรณ์
ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว 17. อิ้นกอนฟ้อนแคน จ.นครปฐม และ 18.การแข่งขันว่าวดุ๊ยดุ่ย จังหวัดจันทบุรี
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนี้เป็นผลผลิตร่วมของคนในสังคม ที่เกิดจากการสั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อมา จนกลายเป็นองค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ แสดงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนในแต่ละพื้นที่ การที่จะดำเนินงานด้านวัฒนธรรมให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ยั่งยืน และต่อเนื่องไปสู่อนุชนรุ่นหลัง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
โดยกระทรวงวัฒนธรรม มีแนวนโยบายส่งเสริมให้มรดกภูมิปัญญามีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ผลักดันกลไกการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในระดับประเทศสู่ระดับนานาชาติ ส่งเสริม สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีแล้ว และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2562 จำนวน 18 รายการนี้ ถือเป็นหนทางหนึ่งในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ ทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญของประเทศในการประกาศความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่างๆ และในฐานะที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ.2546 จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งในการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศชาติ ให้ปรากฏในสังคมโลก เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นภาคีสมาชิก