สงครามกลางเมืองซีเรียถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หลายคนทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปรู้สึกหวาดกลัวผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ทะลักเข้าไปในจำนวนมหาศาลนับตั้งแต่ปี 2014 วิกฤตผู้ลี้ภัยกับเหตุก่อการร้ายที่เกิดบ่อยขึ้นในยุโรปช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้กระแสเกลียดกลัวคนต่างชาติและคนที่นับถือศาสนาอิสลามที่เคยถูกกดไว้ให้เป็นเพียงเสียงกระซิบในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงกลายเป็นเสียงตะโกนประท้วงตามท้องถนนและบนโซเชียลมีเดีย
รองศาสตราจารย์ราฟาล ปานกอฟสกี อาจารย์จากคอลเลกิอุม ซิวิตาส (Collegium Civitas) มหาวิทยาลัยในกรุงวอซอของโปแลนด์ และหัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังภูมิภาคยุโรปตะวันออกของสมาคม”นิกดี เวียนเซย์” หรือ “Never Again” Association ได้ทำงานทางสังคมเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในโปแลนด์มาหลายปี เล่าว่า สำหรับเขา ความน่ากลัวอยู่ตรงที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวคิดเหยียดเชื้อชาติกลายเป็นเรื่องที่คนสามารถพูดออกมาได้อย่างเปิดเผยขึ้นกว่าช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ปานกอฟสกีกล่าวว่า ฝ่ายขวาจัดรุ่นใหม่มักปฏิเสธว่าตัวเองเป็นพวกขวาจัด สมาทานแนวคิดของระบอบเผด็จการแบบนาซี อีกทั้งยังมักอ้างว่าตัวเองไม่ได้เป็นฝ่ายซ้ายหรือขวา แต่เป็นคนที่รักชาติและแสดงความคิดเห็นตามครรลองประชาธิปไตย
ปานกอฟสกีอธิบายว่า ชาตินิยม (nationalism) อาจไม่ใช่คำที่เป็นเชิงบวกหรือลบด้วยตัวของมันเอง แต่สำหรับคนโปแลนด์ที่เคยผ่านประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นภายใต้อำนาจของนาซีเยอรมนีและภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ คำว่า “ชาตินิยม” บ่งบอกถึงอันตราย
(รศ.ราฟาล ปานกอฟสกี จากคอลเลกิอุม ซิวิตาส และหัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังภูมิภาคยุโรปตะวันออกของสมาคม”นิกดี เวียนเซย์” หรือ “Never Again” Association)
แม้แนวคิดเรื่อง “ชาติ” จะเพิ่งเกิดในศตวรรษที่ 19 โดยโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้คนในพื้นที่นั้นๆ ต้องสื่อสารกันได้ ก็ต้องใช้ภาษาเดียวกัน ใช้ความรู้และทักษะเดียวกัน จนเกิดเป็นการกำหนดระบบการศึกษา มีค่านิยมในชีวิตคล้ายๆ กัน ทั้งหมดนี้นำมาสู่การสร้างชาติสมัยใหม่ แต่แนวคิดเรื่อง “ชาตินิยม” ลักษณะนั้นตกยุคไปแล้วในปัจจุบัน เพราะความหลากหลายถือเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มีค่า
อย่างไรก็ตาม หลายคนยุคนี้ยังมองมนุษยชาติโดยแบ่งเป็น “ชาติ” และแนวคิด “ชาตินิยม” จะอันตรายมากหากคนพยายามกีดกันคนกลุ่มน้อยต่างๆ ออกไป ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม (totalitarianism) ปานกอฟสกีกล่าวว่า นักวิชาการหลายคนให้คำนิยาม เผด็จการเบ็ดเสร็จขวาจัด หรือ ฟาสซิสต์ (fascism) แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับเขาแล้ว ขวาสุดโต่ง หรือ นีโอฟาสซิสต์ คือการเลือกปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ กีดกันคนอื่นอย่างสมบูรณ์ พยายามควบคุมวัฒนธรรมของสังคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ไม่มีพื้นที่สำหรับความหลากหลายหรือคนกลุ่มน้อยต่างๆ
(ประท้วงต่อต้านการทำแท้งในโปแลนด์ปี 2007)
แม้ประชาธิปไตยมีพื้นที่ให้กับเฉดความหลากหลายของความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งซ้าย ขวา หัวก้าวหน้า เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม มันเป็นเรื่องปกติในประชาธิปไตยที่จะมีความหลากหลายทางความคิด แต่ฝ่ายขวาสุดโต่งจึงไม่ได้อยู่ในเฉดความหลากหลายของประชาธิปไตย แต่อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย และเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยด้วย เพราะมันปฏิเสธค่านิยมเบื้องต้นของสังคมประชาธิปไตย ทั้งเสรีภาพและความเสมอภาค
แม้การเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาจัดมักไม่โจมตีประชาธิปไตยโดยตรง พยายามจะอ้างว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย และใช้ประโยชน์จากการอ้างประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงทศวรรษ 1920 - 1930 พวกฟาสซิสต์ก็ได้รับคะแนนนิยมค่อนข้างมากในหลายประเทศของยุโรป และได้เก้าอี้จากการเลือกตั้งด้วย
ส่วนประชานิยม (populism) ก็เหมือนกับชาตินิยม เป็นคำที่ไม่ได้มีความหมายบวกหรือลบด้วยตัวของมันเอง แต่ปานกอฟสกีมองว่า ประชานิยมที่มาผสมกับชาตินิยมอาจเป็นเรื่องอันตรายได้ เพราะพรรคที่เป็นประชานิยมมักจะใช้ภาษาง่ายๆ พูดกึ่งตะโกน ปลุกเร้าอารมณ์คน หลายครั้งพรรคการเมืองสัญญาในสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยาก โดยอ้างว่าเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน หยิบสิ่งที่คนรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองขึ้นมาพูด แต่จริงๆ นโยบายนั้นกลับเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะชนชั้นนำ
(กลุ่มขวาจัดต่อต้านกลุ่มหลากหลายทางเพศในโปแลนด์ ปี 2009)
ปานกอฟสกีกล่าวว่า ที่ผ่านมา ฝ่ายขวาจัดไม่เคยชนะการเลือกตั้งได้เกินร้อยละ 5 แต่แนวคิดขวาจัดก็ถูกสังคมละเลยมานานมากเกินไป แม้พวกเขาจะมีเสียงไม่มาก แต่ก็เสียงดังพอที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางหรือนโยบายของรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และความหลากหลายทางเพศ
“ในยุคนี้ การเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาจัดไม่มีแนวโน้มว่าจะได้อำนาจจากเสียงส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตย แต่แม้พวกเขาจะไม่ได้อำนาจทางการเมือง พวกเขายังมีอิทธิพลต่อวาทกรรมด้านสังคม การรับรู้ ‘ความเป็นจริง’ รวมถึงวาทกรรมทางการเมืองและนโยบายของรัฐ ดังนั้น แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมรัฐบาล พวกเขายังมีอิทธิพลต่อความหลากหลายทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตย และพวกเขาก็จะส่งผลเสียต่อคุณภาพของประชาธิปไตย”
ปานกอฟสกียังกล่าวว่า กระแสขวาสุดโต่งในยุโรปปัจุบันมีสาเหตุมาจากวิกฤตค่านิยมประชาธิปไตยในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้นโยบายของรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนไปเอาใจคนกลุ่มนี้เท่านั้น แต่กระแสยังทำให้เส้นแบ่งระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกระแสหลักกับฝ่ายขวาจัดเริ่มจะเลือนลาง
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มหันหลังให้ประชาธิปไตยก็คือ ความกังวลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งเห็นได้ชัดหลังปี 2015 ที่ผู้ลี้ภัยทะลักเข้าไปในยุโรป เพราะหลายคนกังวลว่า ผู้ลี้ภัยจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคมของพวกเขา โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ค่อยได้รับผู้ลี้ภัยมากนักช่วงก่อนปี 2015 อย่างโปแลนด์ ทำให้มีคนสร้างความหวาดกลัวและอคติ
(ผู้ลี้ภัยทะลักเข้าไปในยุโรปในปี 2016)
นอกจากนี้ ความสับสนเกี่ยวกับค่านิยมประชาธิปไตย และความล้มเหลวในการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยก็ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เกิดในสังคมประชาธิปไตยกลับไม่เข้าใจเรื่องนี้มากนัก ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาเกี่ยวกับระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่โรงเรียนไม่ใช่แค่สถาบันเดียวที่จะให้ความรู้คนรุ่นใหม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของสังคมประชาธิปไตย เรายังต้องพูดถึงสถาบันครอบครัว คริสตจักรโรมันคาทอลิกที่มีอิทธิพลมากในโปแลนด์ รวมถึงวัฒนธรรมป๊อปอย่าง วัฒนธรรมฟุตบอลที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด ไปจนถึงดนตรี อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย
ช่องทางเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายชาตินิยมสุดโต่งก็ใช้ในการเผยแพร่แนวคิดของตัวเอง ทั้งเรื่องการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ การไม่ยอมรับความหลากหลาย รวมถึงการเกลียดกลัวกลุ่มหลากหลายทางเพศและการเหยียดเชื้อชาติ คนรุ่นใหม่ที่อาจยังไม่มีทักษะการคิดวิเคราะห์เพียงพอจึงอาจถูกชักจูงได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ปานกอฟสกีเชื่อว่า แนวคิดขวาสุดโต่งในโปแลนด์จะไม่นำไปสู่การเป็นสังคมเผด็จการอีก เพราะก็ยังมีคนที่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ที่พยายามจะส่งเสริมประชาธิปไตย ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ เรียกร้องให้มีการปรับปรุงนโยบายผู้อพยพและผู้ลี้ภัย รวมถึงเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ และคนกลุ่มน้อยอื่นๆ
ประวัติศาสตร์ของทุกชาติก็มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี แต่คนรุ่นใหม่ก็มีทางเลือกในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และเลือกสร้างสังคมยุคใหม่ให้เป็นทางไหน ฝ่ายที่มองเห็นปัญหาการเลือกปฏิบัติในสังคมจำนวนมากเลือกเข้าร่วมการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ซึ่งมีรากฐานที่ค่อนข้างเข้มแข็งโปแลนด์ เพื่อไม่ให้ประเทศกลับไปสู่บรรยากาศที่กีดกันคนกลุ่มน้อยต่างๆ
ปานกอฟสกีแบ่งปันประสบการณ์ว่า “Never Again” Association องค์กรต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในโปแลนด์ที่เขาทำงานอยู่ พยายามทำกิจกรรมที่เข้าถึงคนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้พึ่งการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยและความหลากหลายในสังคมผ่านระบบการศึกษาเท่านั้น นอกจากจะต้องสื่อสารทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น ยังต้องเปลี่ยนพื้นที่ทางสังคมอื่นๆ เป็นสถานที่ให้ความรู้ความเข้าใจกับพลเมืองด้วย
กิจกรรม Let’s Kick Racism out of The Stadium เป็นการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติผ่านกีฬา เนื่องจากฟุตบอลเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของโปแลนด์ แต่ถูกฝ่ายขวาจัดใช้เป็นเครื่องมือปลุกเร้ากระแสชาตินิยมและเหยียดเชื้อชาติ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องช่วยกันทำให้กีฬากลายเป็นเรื่องของการสานสัมพันธ์และยอมรับความหลากหลายในสังคม
อีกหนึ่งกิจกรรมหนึ่งที่ “Never Again” Association ทำมายาวนานกว่า 20 ปีก็คือ Music Against Racism ซึ่งเป็นการชักชวนวงดนตรีและนักร้องชาวโปแลนด์มาร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงและการเหยียดเชื้อชาติผ่านเสียงดนตรี กิจกรรมนี้ก็สามารถจะไปร่วมกับเทศกาลดนตรี Pol ‘and’ Rock หรือที่เคยเรียกกันว่า เทศกาลดนตรีวูดสต็อกแห่งโปแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลดนตรีกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ทำให้พวกเขาสามารถทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายในสังคมกับคนรุ่นใหม่จำนวนมากได้