ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์ปลอดภัย คนไข้มีความสุข… ส่องนวัตกรรมไฮเทค ยกระดับบริการสาธารณสุข ครั้งแรกในไทย ทรู ดิจิทัล เผยโฉม “หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน”

ในแต่ละปี ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์รายใหม่ประมาณ 2,800 ราย โดยหนึ่งในการวิธีการรักษา คือ การใช้สารรังสีไอโอดีน เพื่อให้รังสีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งไทรอยด์ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยรับประทานสารรังสีไอโอดีนแล้ว จะมีรังสีส่วนหนึ่งแผ่ออกมาจากตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงแม่บ้านทำความสะอาด มีโอกาสได้รับรังสีจากการดูแลผู้ป่วย และหากได้รับรังสีโดยตรงจากการปฏิบัติงานประจำในการดูแลผู้ป่วย อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากการได้รับรังสีสะสมเป็นระยะเวลานานๆ

676876.jpg

ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำเทเลคอม-เทคคอมปานีของไทย โดย ทรู ดิจิทัล ผู้ให้บริการดิจิทัลครบวงจร จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อช่วยยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ของไทย โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดตัว “หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน” เป็นครั้งแรกของไทยในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในงานด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มุ่งช่วยแบ่งเบาภาระและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากความเสี่ยงในการได้รับรังสีจากสารรังสีไอโอดีน ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและให้บริการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และคงคุณภาพเช่นเดิม

เทคโนโลยีที่ดีต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คน สังคม และประเทศในการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน บุคลากรทางการแพทย์จะต้องนำสารรังสีไอโอดีนเข้าไปให้ผู้ป่วย ซึ่งในขั้นตอนของการให้บริการ บุคลากรทางการแพทย์มีโอกาสที่จะได้รับรังสีโดยตรงทั้งในระหว่างการให้ผู้ป่วยรับประทานสารรังสีไอโอดีนและหลังจากที่ผู้ป่วยรับประทานสารรังสีไอโอดีนไปแล้ว เนื่องจากต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น การวัดความดันโลหิต สอบถามอาการ นำส่งอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการเข้าไปวัดการเปรอะเปื้อนของสารรังสีในห้องผู้ป่วย ซึ่งการได้รับรังสีสะสมเป็นระยะเวลานานๆ อาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพของบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาวได้ หุ่นยนต์อัจฉริยะจึงเป็นเสมือนผู้ช่วยแพทย์ยุคดิจิทัล เพราะสามารถช่วยส่งสารรังสีไอโอดีนให้ผู้ป่วย โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยในการรับประทานสารรังสีไอโอดีนผ่านหน้าจอของหุ่นยนต์ จึงช่วยลดรังสีที่บุคลากรทางการแพทย์อาจได้รับลงมากกว่า 20 เท่า ช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยมากขึ้น และลดความกังวลในการทำงาน ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการปกป้องและดูแลที่ดี ก็จะส่งต่อการบริการที่ดีให้กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็คลายความกังวลว่าการรักษาของตนอาจส่งผลต่อสุขภาพของบุคลากรทางแพทย์ที่ให้บริการด้วยเช่นกัน

โดย Humanize ดีไซน์คอนเซ็ปต์  ต่างกับหุ่นยนต์อื่นๆทั่วไป “หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน” ถูกออกแบบโดยผสานความเป็นมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยี Human-Tech Technology ในแนวคิด Humanize จึงมีรูปลักษณ์ลวดลายสีสัน หน้าจอและเสียงที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน เพิ่มสัมผัสและปฏิสัมพันธ์แบบคล้ายมนุษย์ สร้างรอยยิ้มและความพึงพอใจให้คนไข้ อีกทั้งยังใช้งานง่าย สามารถสั่งการและควบคุมผ่านแท็บเล็ต เชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G และ WiFi รองรับการสื่อสารแบบเรียลไทม์ ที่ให้ทั้งความเร็วในการสื่อสาร ความเสถียร และความปลอดภัยสูงสุดของข้อมูล 

676875.jpg


✅️ เจาะภารกิจหุ่นยนต์อัจฉริยะ

สำหรับฟังก์ชันของหุ่นยนต์นั้น มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งสารรังสีไอโอดีน ยา เวชภัณฑ์ และ อาหาร ให้แก่ผู้ป่วยในพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วย บริการการแพทย์ระยะไกลผ่านระบบวิดีโอคอล มีเครื่องวัดสัญญาณชีพให้ผู้ป่วยตรวจวัดได้เอง พร้อมเชื่อมโยงส่งข้อมูลภาพและผลตรวจแบบเรียลไทม์ไปยังบุคลากรทางการแพทย์ และมีระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ นอกจากนี้ หลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้ว หุ่นยนต์ยังสามารถช่วยตรวจสอบการเปรอะเปื้อนรังสีในพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วย ซึ่งอัจฉริยภาพเหล่านี้ สามารถนำไปพัฒนาและปรับใช้กับการรักษาโรคมะเร็ง และโรคอื่นได้อีกมากมายในอนาคต