ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัชชาติ’ ขอบคุณ ‘ประยุทธ์’ - ‘สุชาติ’ สนใจ 214 นโยบาย มองเป็นแรงกระตุ้น ต้องทำให้ดี-เร็ว-ครบถ้วน ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ฟิตลงพื้นที่ตรรวจการก่อสร้างรถไฟฟ้าแยกลำสาลี คืนผิวจราจรแก้รถติดหนัก แนะต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนก่อน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 พ.ค. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุระหว่างลงพื้นที่สำรวจโครงการก่อสร้างและการจราจรบริเวณแยกลำสาลี เขตบางกะปิ ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโห หยิบยกเรื่องนโยบายที่ ชัชชาติ ประกาศไว้ 214 ข้อ ขึ้นมาตั้งคำถามว่า นโยบายทั้งหมดที่นำเสนอมานั้น มีเป็นจำนวนมาก จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน หากทำได้คงเป็นรัฐบาลแล้ว

โดย ชัชชาติ กล่าวขอบคุณกำลังใจที่ให้ แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับนโยบายเรา ตนยินดีและรับฟังทุกคำวิจารณ์ซึ่งท่านเป็นผู้ใหญ่ยิ่งทำให้มีแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด ขอขอบพระคุณนายกฯ ที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐเอง มีนโยบายเยอะแต่ทำไม่ได้จริงก็เยอะมากเช่นกัน ชัชชาติ บอกว่า เรื่องนี้ตนไม่เกี่ยว เพราะไม่ได้เกี่ยวกับ กทม. ตนเน้นเรื่อง กทม.เป็นหลัก 

ขณะเดียวกัน ต่อคำปรารภของ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ผอ.พรรคพลังประชารัฐ หาก ชัชชาติ ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ไม่ได้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปคะแนนเสียงก็จะน้อยลงนั้น ชัชชาติ มองว่า สุชาติ มีสิทธิในการแสดงความเห็นเสมือนคนกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ยินดีน้อมรับความเห็นดังกล่าว ทำให้ตนต้องรีบทำตามนโยบายให้เร็วขึ้นและครบถ้วน เป็นเรื่องดีเมื่อมีการติติงอย่างสร้างสรรค์

ชัชชาติ’ลุยตรวจรถไฟฟ้าแยกลำสาลี เร่งก่อสร้างแก้รถติด ปลื้มหน่วยงานกทม.ตื่นตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากบริเวณแยกลำสาลี เขตบางกะปิ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯกทม. พร้อมทีมงานว่าที่ ส.ก.พรรคเพื่อไทย เขตบางกะปิ เขตคันนายาว และเขตสะพานสูง ร่วมสำรวจปัญหาต่างๆในพื้นที่ที่ทำให้จราจรติดขัด อาทิ การจัดการจราจรไม่ชัดเจน การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีส้มบริเวณแยกลำสาลี ที่มีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างมาโดยตลอดจนไม่สามารถคืนพื้นที่ถนนให้กับประชาชนได้

โดย ชัชชาติ กล่าวว่า แยกลำสาลีเป็นจุดที่สาหัสอีกฝั่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งมีการก่อสร้างอยู่ 3 โครงการหลักคือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสะพานข้ามแยกที่มาจากลาดพร้าวไปยังถนนสุขาภิบาล1 ส่วนที่ กทม.รับผิดชอบเองคือ สะพานข้ามแยกเป็นสัญญาส่วนต้นที่ทำโดย รฟม.และส่วนหลังเป็นของกทม.ซึ่งสัญญาผ่านไปแล้ว 65% หมดในเดือน ม.ค.ปีหน้า แต่ทำไปได้แค่ 5% แปลว่าความคืบหน้ามีปัญหา 

สิ่งแรกที่ต้องเร่งรัดคือการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งธนฯหรือฝั่งกรุงเทพฯ เพราะล่าช้ามาก น่าแปลกใจว่าทำไม กทม.ต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสร้างสะพาน เพราะต้องเป็นหน้าที่ของ รฟม.เป็นหลัก ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้า สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือทางเชื่อม เพราะทางเดินจากแยกบางกะปิถึงรถไฟฟ้าไม่ได้ถึงตัวชานชาลาและไม่มีลิฟต์คนพิการที่อาจจะเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ หากได้เป็นผู้ว่าฯอย่างเป็นทางการจะเร่งรัดการก่อสร้างและการคืนพื้นที่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ทำรางเสร็จเรียบร้อยต้องไม่ให้ผู้รับเหมาเอาที่ไปกองของ 

ส่วนการที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ผู้รับเหมาสามารถส่งงานได้ล่าช้านั้น ชัชชาติ ระบุว่า เมื่อใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้รับเหมาก็ไม่มีแรงจูงใจให้ทำงานเร็ว เพราะไม่มีเรื่องค่าปรับ เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ ส่วนการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอย้ำจุดยืนว่า ไม่ได้ค้านการต่อสัญญาแต่คิดว่าควรจะผ่านกระบวนการ พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะเป็นการพิจารณาถี่ถ้วน ไม่เข้าใจว่าทำไมรถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องข้ามหลักการนี้ มิเช่นนั้นโครงการอื่นในอนาคตก็สามารถทำได้หรือไม่

ชัชชาติ รถเมล์ ADDC-86951A492727.jpegชัชชาติ แยกลำสาลี จราจร -88E5-414E-82E2-6816C5537501.jpegชัชชาติ จราจร เพื่อไทย สก -0982-4A40-A2BE-0E05D4150AC2.jpegจราจร แยกลำสาลี  BBA055527D.jpeg

ส่วนกรณีสำนักงานเขตต่างๆทยอยเรียกประชุมผู้บริหารเขตเพื่อเตรียมพร้อมขับเคลื่อนงานตามนโยบายว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ทุกมิติ ทั้ง 214 นโยบาย และนโยบายที่เกี่ยวข้องระดับเขต ชัชชาติ กล่าวว่า ดีใจที่ยังไม่ได้เข้าทำงานแต่สำนักงานเขตตื่นตัวกันแล้ว เป็นมิติใหม่ของระบบราชการ กทม.ที่ไม่เคยเห็น เชื่อว่าทำได้หมด แม้ยังไม่ได้ลงมือก็เกิดความกระตือรือร้นแล้ว

หากประชาชนจะแจกการบ้านให้ผู้ว่าฯ กลับ ชัชชาติ ตอบรับด้วยความยินดี เพราะต้องรับความเห็นทั้งสองด้าน อย่างในเว็บไซต์ของตนมีคนแสดงความเห็นมา 2,000 กว่าข้อแล้ว ว่านโยบายดีหรือไม่ดี อยากจะเพิ่มอะไรบ้าง และ 214 นโยบายอาจจะมีเพิ่มต่อไปเพราะเมืองเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นโยบายไม่ใช่ศิลาจารึก แต่เปลี่ยนตามความต้องการของคน และเมื่อเรามีโจทย์แบบนี้ ข้าราชการก็มีทิศทางว่าจะทำอะไร ถ้าไม่มีโจทย์ เขาก็จะทำเหมือนเดิม

ไม่ติดใจ ‘รสนา’หาเสียง - ยึดประโยชน์ต่อสัญญาสายสีเขียว

ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้รับโทรศัพท์แสดงความยินดีจาก รสนา โตสิตระกูล อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) โดยกล่าวว่า ตนเคารพรสนาเหมือนญาติผู้ใหญ่ ยินดีเป็นอย่างยิ่งหากได้รับคำแนะนำหรือข้อคิดเห็นด้านนโยบาย สำหรับประเด็นระหว่างการหาเสียง ไม่รู้สึกไม่ติดใจอะไร เพราะเคารพสิทธิ์ของทุกคนในการแสดงออก ทั้งนี้ รสนาให้พิจารณาเรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าเป็นพิเศษ ซึ่งมีจุดยืนเดียวกัน นั่นคือ ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง สามารถพูดคุยกันได้ด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร

ชัชชาติ เรือด่วน คลองแสนแสบ -1692-4CFF-8DFF-393807A6E6DE.jpegชัชชาติ ทางเท้า 3BD8B9F87.jpegชัชชาติ เรือ คลองแสนแสบ -5300-4555-AD5A-BDC4AB0653B6.jpeg

เวลา 15.00 น. ภายหลังเสร็็จสิ้นการลงพื้นที่แยกลำสาลี ชัชชาติ ได้โดยสารเรือคลองแสนแสบ จากท่าเรือเดอะมอลล์บางกะปิ ไปท่าเรือประตูน้ำ ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจสำรวจแยกลำสาลี ร่วมกับ ว่าที่ ส.ก. พรรคเพื่อไทย เขตสะพานสูงและเขตคันนายาว ชัชชาติได้สำรวจปัญหาการใช้งานเรือโดยสาร และรับฟังความต้องการจริงจากประชาชนต่อการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในอนาคต