คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน นายชาลี ลอยสูง พร้อมเครือข่ายแรงงาน ร่วมแถลง 'จุดยืนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ' ก่อนเข้าพบ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 5 ด้านต่อรัฐบาล คือ
รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรมตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (ILO) เเละค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการที่เป็นอิสระเเละมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างเเละปรับค่าจ้างทุกปี เเละต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นายสาวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน เเรงงานมีค่าจ้างที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งจากการสำรวจค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมกับเเรงงานคนเดียว คือ 360 บาท แต่ตามหลักการของ ILO คือ คนทำงาน 1 คน จะต้องเลี้ยงครอบครัวได้ 2 คน หมายความว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวได้ 3 คน เพราะเมื่อสำรวจหนี้แต่ละคน พบว่ามีหนี้สินเฉลี่ยต่อวันถึง 226 บาท ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ส่วนตัวเลขค่าแรงที่ 712 บาทต่อวัน ไม่ใช่ข้อเสนอของ คสรท. เเต่เป็นค่าจ้างที่มีการสำรวจค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท บวกกับอัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3 ต่อปี
ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ยังเป็นการพิสูจน์คำสัญญาของรัฐบาลที่เคยบอกไว้ว่า การบริหารประเทศจะต้องยึดหลักการทางสากล ซึ่งล่าสุด เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติประกาศวาระแห่งชาติ เรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่หากค่าแรงขั้นต่ำยังไม่เพิ่มขึ้น มีความเหลื่อมล้ำสูง เป้าหมายนี้ก็เป็นไปได้ยาก
ดังนั้น ค่าแรงต้องเพิ่มเท่ากันทั่วประเทศ และเพียงพอต่อการยังชีพทั้งครอบครัว ขณะเดียวกัน ต้องดูแลราคาสินค้าด้วย เพราะทุกครั้งที่รัฐบาลปรับค่าแรง ราคาสินค้าจะปรับขึ้นเช่นกัน ทั้งที่ข้อเท็จจริง ค่าจ้างแรงงานต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น มีไม่ถึงร้อยละ 1 หรือเพียงร้อยละ 0.4 - 0.5 เท่านั้น นอกจากนี้ รัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี เพื่อให้ลูกจ้างสามารถวางแผนชีวิตล่วงหน้าได้ เช่น การวางแผนซื้อบ้าน วางแผนด้านการศึกษาบุตร ไม่ใช่ต้องรอกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับกรณีหอการค้าไทย เสนอว่าหากจะต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3-5 นั้น นายสาวิทย์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น หากผลสำรวจพบว่า 712 บาทเลี้ยง 3 คนได้ แต่หากรัฐบาลมีสวัสดิการที่ดีพอ ทั้งรักษาพยาบาล การศึกษา ก็อาจลดทอนลงไป ซึ่งบอกไม่ได้ว่า ควรเป็นตัวเลขใด จึงจะเพียงพอ
น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. กล่าวว่า การสำรวจแรงงานเกือบ 3,000 คน พบว่า ทุกคนมีหนี้สินแตกต่างกันไป บางคนมีหนี้เป็นแสน แต่เมื่อเฉลี่ยแล้วพบว่า จะมีหนี้เฉลี่ยวันละ 225.87 บาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้สหกรณ์ กู้นอกระบบ และหนี้ธนาคาร ค่าจ้างขั้นต่ำจึงต้องเพียงพอหลังจากหักหนี้แล้ว
สิ่งสำคัญ คือ อยากให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพราะที่ผ่านมา เมื่ออนุกรรมการฯ เสนอเรื่องเข้ามาคณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลาง ก็ไม่ได้พิจารณาตามอยู่ดี พร้อมเสนอรื้อคณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลาง เพราะไม่ได้มาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง