ชาวอินโดนีเซียเฉลิมฉลองสัปดาห์ครบรอบ 20 ปี ที่พลเอกซูฮาร์โตประกาศลงจากอำนาจในวันที่ 21 พ.ค. 2541 และเริ่มต้นยุคใหม่ของอินโดนีเซียภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่า Reformasi หลังจากที่นักศึกษาและประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลซูฮาร์โตต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน และถูกกดดันจากนานาชาติ หลังจากที่ผู้นำเผด็จการซูฮาร์โตครองอำนาจมายาวนานกว่า 32 ปี
โลกโซเชียลของอินโดนีเซียร่วมกันติดแฮชแท็ก #20tahunreformasi เฉลิมฉลองประชาธิปไตย และครอบครัว และร่วมกันรำลึกถึงความยากลำบากและโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อนที่อินโดนีเซียจะหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการภายใต้ซูฮาร์โตและเหล่าเครือญาติ ขณะที่บางส่วนย้ำว่าชาวอินโดนีเซียได้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการกดขี่ไปแล้ว และจะไม่ยอมให้มีใครกลับมากดขี่ประชาชนได้อีก
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าอินโดนีเซียยังต้องปรับปรุงประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น และนับจากนี้ ชาวอินโดนีเซียก็จำเป็นต้องร่วมกันรักษาวัฒนธรรมการดีเบตตามระบอบประชาธิปไตย ต่อสู้กับกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งและเฮทสปีชบนโลกออนไลน์
ด้านแอนเดรียส ฮาร์โซโน นักวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์อินโดนีเซียทวีตว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ความเป็นประเทศมุสลิมแบบที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายเริ่มจางหายไปแล้ว กลับมีกลุ่มขวาจัดที่พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมือง เนื่องจากช่วงหลังมานี้ รัฐบาลมักมีมาตรการปราบปรามกลุ่มหลากหลายทางาเพศและปิดกั้นสิทธิผู้นับถือสาสนาอื่นๆ มากขึ้น
พลเอกซูฮาร์โตขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่ทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดในโลก โดยเขายึดอำนาจมาจากซูการ์โน กุนทูร์ ผู้ก่อตั้งประเทศและประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย และทำสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้มีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เสียชีวิตไปอย่างน้อย 500,000 ราย โดยซูฮาร์โตได้อ้างว่าเขาตัดสินใจเช่นนี้ เพราะการปฏิรูปจะต้องเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพื่อความสามัคคีของชาติ
หลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจบาคารุดดิน ยูซุฟ ฮาบีบีได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียแทนและปฏิรูปประเทศด้วยการออกกฎหมายกระจายอำนาจและงบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลางไปยังรัฐบาลท้องถิ่นในปี 12542
ต่อมาในปี 2547 ถือเป็นความสำเร็จแรกบนเส้นทางประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย เนื่องจากมีการเลือกตั้งที่ดำเนินไปอย่างสงบ จนได้นายสุซิโล บัมบัง ยุโดโยโนมาเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งพรรคการเมืองทั้งหมดยอมรับผลการเลือกตั้ง นอกจากนี้ โพลสอบถามความเห็นประชาชนก็พบว่า ร้อยละ 97 เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและไม่ค่อยมีการซื้อสิทธิขายเสียง
แม้นักวิเคราะห์ต่างชาติจะมองว่าประชาธิปไตยอินโดนีเซียจะดีขึ้นอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง แต่การเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาในปี 2560 แสดงให้เห็นถึงรอยร้าวบนถนนประชาธิปไตย หลังจากที่ บาสุกี จาฮาจา ปุร์นามา หรือ อาฮก ถูกกลุ่มมุสลิมเคร่งศาสนาโจมตีอย่างหนักที่เขามีเชื้อสายจีนและนับถือศาสนาคริสต์ และถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งทำให้เขาได้รับโทษจำคุก 2 ปีอยู่ในขณะนี้
ด้านอันวาร์ อิบราฮิม แกนนำฝ่ายปากาตัน ฮารัปปันที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งได้เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีกับอินโดนีเซียตามคำเชิญของบาคารุดดิน ยูซุฟ ฮาบีบี
อันวาร์กล่าวว่า ปี 2541 เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ของทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะวันที่ 21 พ.ค. 2541 เป็นวันที่อำนาจเก่าถูกโค่นล้ม เริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ส่งเสริมสถาบันทางประชาธิปไตย ส่วนวันที่ 2 ก.ย. 2541 ก็เป็นวันแห่งเริ่มต้นการล่มสลายของรัฐบาลพรรคบาริซาน เนชันนัล (BN) ที่อันวาร์นำขบวนประท้วง Reformasi และต่อสู้จนชนะในวันที่ 9 พ.ค. 2561
ที่มา: Asian Correspondent, SCMP