ไม่พบผลการค้นหา
ประชากรกว่า 3.2 พันล้านคนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาดินเสื่อมโทรมทั่วโลกปีละกว่า 24 ล้านตัน และจะทำให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกตามมาได้

รายงานของสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ประชากรกว่า 3,200 ล้านคน คิดเป็น 2 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดทั่วโลก และปัญหาดินเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ประชากรอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ

ผู้บริโภค บริษัทเอกชน และรัฐบาลทั่วโลก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องควบคุมหรือลดการบริโภคที่มากเกินไป โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่มาจากอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้พื้นที่เป็นจำนวนมหาศาล และกลายเป็นตัวการรุกล้ำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ทางทะเล และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ

โรเบิร์ต สโคลล์ ประธานการจัดการประชุมโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศวิทยา (IPBES) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวนี้จะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

รายงานของยูเอ็นกล่าวอีกว่า สัญญาณดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อนักวิทยาศาสตร์ออกมากล่าวว่า ดินที่มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์กำลังเสื่อมไปกว่า 24 ล้านตันต่อปี ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านเกษตรกรรม ผลิตผลลดลง ทั้งพืชผัก ป่าไม้ ปัญหาดินไม่ซับน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองที่เป็นมลพิษทางอากาศในเมืองเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความมั่นคง และความสุขของมนุษย์

"ถ้าพวกเราไม่เปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และวิธีการใช้ที่ดิน พวกเราจะเป็นผู้ทำลายโลกใบนี้ในไม่ช้าก็เร็ว"

ในรายงานยังประเมินอีกว่า มูลค่าความเสียหายจากการสูญเสียพื้นดินที่เกิดขึ้นคิดเป็นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั่วโลก และการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์และผลผลิตทางการเกษตร จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วม ดินถล่ม และโรคระบาดต่างๆ เช่น โรคอีโบลาและเชื้อไวรัสต่างๆ

นอกจากนี้ การสูญเสียพื้นดินดังกล่าวยังส่งผลกระทบถึงภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ด้วยเช่นกัน ในรายงานกล่าวว่าในภูมิภาคที่มีความแห้งแล้งอยู่ก่อนแล้วจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งต่างๆเพิ่มขึ้นถึง 45 เปอร์เซ็นต์ และภายในปี 2050 การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการลดลงของดินที่มีแร่ธาตุสมบูรณ์จะส่งผลกระทบต่อประชากร 50 -700 ล้านคนให้อพยพโยกย้ายไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ ส่วนพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ทางตอนใต้ของอิรัก อัฟกานิสถาน ดินแดนซาฮาราในแอฟริกา และพื้นที่ในเอเชียใต้

คริสเตียน สตีล ผู้อำนวยการของ 'ซาบิมา' องค์กรสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพแห่งนอร์เวย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมป่าไม้และเกษตรกรรมทำให้ดินเสื่อมโทรมมากขึ้น ยุโรปต้องนำเข้าอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริโภคของพวกเรา 

ลูก้า มอนทานาเรลลา ประการจัดประชุมร่วมในครั้งนี้กล่าวว่า ถ้าพวกเราไม่เปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และวิธีการใช้ที่ดิน พวกเราจะเป็นผู้ทำลายโลกใบนี้ในไม่ช้าก็เร็ว  

ที่มา The guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง