นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวบนเวทีสมาคมฟินเทคประเทศไทย เปิดตัว 'F13 Grand Opening' บนอาคาร KX center อาคารรวบรวมนวัตกรรม ความรู้ต่างโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. ว่า เร็ว ๆ นี้กระทรวงการคลังจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีการเงินแห่งชาติ ภายใต้การกำกับและดูแลของกระทรวงการคลัง เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการกำกับดูแล พัฒนาเกี่ยวกับผู้ประกอบการฟินเทคแบบครบวงจร ทั้งธนาคารพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกันภัย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณจากกองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ กองทุนเอสเอฟไอ รวม 500 ล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี
โดยการจัดตั้งสถาบันนี้ จะยึดโมเดลตามที่ไปศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกามาก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นแหล่งให้ผู้ประกอบการมาทดลองสร้างเครือข่ายระหว่างกัน และเชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน หรือประกันภัยได้ หากพบว่าผู้ประกอบการใดสำเร็จจะสามารถผลักดันให้สู่การระดมทุนได้ต่อไป
"เรื่องนี้เป็นภารกิจเร่งด่วนที่รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้สั่งการไว้ หากไม่เสร็จก็ต้องเอาคอขึ้นเขียงได้เลย" นายสมชัยกล่าว
ส่วนความคืบหน้าของการควบคุม วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายสกุลเงินดิจิตอลในประเทศไทยนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อยู่ระหว่างการหารือเพื่อร่างกฎเกณฑ์ควบคุมดูแลเงินดิจิทัลที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปเดือน ก.พ.นี้
ขณะเดียวกัน จึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้ปฏิบัติตามหนังสือเวียนของ ธปท.คือ หยุดทำธุรกรรมซื้อขายเงินดิจิทัลหรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีมาเป็นสกุลเงินบาท เพื่อรอหลักเกณฑ์ที่แน่นอนที่จะประกาศออกมา ซึ่งเชื่อว่าสถาบันการเงินจะให้ความร่วมมืออย่างดี
อีกทั้ง ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่าเงินสกุลดิจิทัล ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานเหมาะสมที่จะควบคุมเรื่องนี้ โดยให้ไปศึกษาดูว่ามีกฎหมายหรือร่างระเบียบฉบับใดที่จะเข้ามาควบคุมดูแลได้บ้าง โดยเฉพาะการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล หรือไอซีโอ เพราะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายการระดมทุนด้วยหลักทรัพย์ ดังนั้น ก.ล.ต.จึงควรเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดูแล ไม่ใช่ ธปท. เพราะคริปโตเคอเรนซีไม่ใช่เงินชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
"ช่วงนี้ขอความร่วมมือการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีเป็นเงินบาทควรหยุดไปก่อน เพื่อรอผลศึกษาออกมา เมื่อผลออกมาแล้วหน่วยงานกำกับอาจจะมีการมาตรการผ่อนคลายภายหลัง เพราะที่ผ่านมาพบว่าบางบริษัทนำเงินสกุลดิจิทัลมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจะเกิดผลกระทบต่อค่าเงินบาทหรือไม่ จึงไม่อยากให้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และขณะนี้ได้ประสานงานไปยัง ก.ล.ต. แล้วให้เร่งพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นเดือน ก.พ. นี้" นายสมชัย กล่าว
นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า ประกาศของ ธปท. ที่ออกมาล่าสุด เรื่องขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์เข้าไปทำธุรกรรมหรือสนับสนุนธุรกรรมเงินสกุลดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี) โดยเบื้องต้นมองประกาศนี้สมเหตุสมผล เพราะ ธปท.กังวลกับความเสี่ยงของราคาเหรียญที่ผันผวนสูงมาก และยังมีความเสี่ยงด้านอื่นอีก จึงยังไม่อยากให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ท้ายสุด ก็ชัดเจนว่า เราไม่สามารถปฏิเสธคริปโตเคอเรนซีเสียทีเดียว แต่ต้องมองว่าเวลานี้ไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น
อีกทั้ง เราไม่ควรไปปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนวัตกรรมเทคโนโลยี เพราะนวัตกรรมนี้จะมีผลต่อแนวทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในอนาคต ธนาคารจึงควรมีโอกาสเรียนรู้ ศึกษาและนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการให้บริการ รักษาความสามารถการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์
"ไอซีโอเป็นช่องทางที่ทำให้สตาร์ทอัพ โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจเทคโนโลยี เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะไปปฏิเสธการมีแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการ เพราะในระบบการเงินปัจจุบัน ธุรกิจที่เริ่มจัดตั้ง ไม่มีหลักประกัน ไม่มีลูกค้า มีแค่แนวคิด กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ได้ยาก เมื่อมีแหล่งทุนใหม่ เปิดโอกาสธุรกิจประเภทนี้ก็ควรหาวิธีที่เหมาะสมป้องกันไม่ให้มีผลลบ ไม่ให้มีการหลอกลวง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทำงานกับฝ่ายกำกับต่อเนื่องเรื่องนี้" นายกรณ์ กล่าว