2 ต.ค.2565 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาที่ 3 ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ‘35 จัดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทวงคืนเอกสิทธ์การเลือกนายกรัฐมนตรีจากเจตจำนงค์ของประชาชน โดยมีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม., พิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมอภิปราย
อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีบารมีสูงสุดของประเทศไทย ที่สามารถทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินขัดต่อความรู้สึกของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งไม่รู้ว่าต่อไปนี้คณะนิติศาสตร์จะเรียนกฎหมายกันต่อแบบไหน ในอนาคตบ้านเมืองจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร
“ที่ผ่านมาวันที่ไม่มีนายกฯ ประยุทธ์ 38 วันต่างกันเหลือเกินกับวันที่มีนายกฯ ประยุทธ์ 8 ปี ชัดเจนแล้วว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ และมีปัญหาธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศและการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาด” นายอดุลย์กล่าว
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวว่า ตัวแทน 3 ป. เป็นตัวแทนฝ่ายอำนาจนิยมที่ออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 การวินิจฉัยครั้งนี้เป็นหลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของ คสช. โดย คสช. เพื่อ คสช. ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าจึงควรมีการประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ข้อสังเกตข้อที่หนึ่ง ละเลยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาใช้ตีความเลย เพราะถ้านำมาใช้พิจารณาจะไม่สามารถทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อได้ แม้ตุลาการเสียงข้างน้อยได้หยิบมานำเสนอ
ข้อสังเกตที่สอง ม.264 ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้และเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นนายกฯ ต่อเนื่อง ผลกระทบที่ตามมา ทำให้สังคมสิ้นหวังในการใช้กฎหมายในประเทศไทย เป็นยุคมืดแห่งการใช้กฎหมาย การตีความของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่เกิดความหวังในการสร้างบรรทัดฐานในสังคมไทย
“พล.อ.ประยุทธ์ ดูเหมือนจะดีใจมากเพราะโพสต์เฟสบุ๊คหลังจากศาลตัดสินเพียงไม่กี่นาที เหมือนรู้คำตัดสินมาก่อน ภาพลักษณ์แย่ลงมากในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับพล.อ.ประวิตร ที่ดูเหมือนว่าบริหารประเทศได้ดีกว่า ในช่วงนี้เป็นต้นไปก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกแรงกดดันอย่างมากเพราะสูญเสียความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง รวมถึงเงื่อนไขที่มีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ จะทำให้ประชาชนสบายใจในการใช้สิทธิทางการเมืองชุมนุมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ มากขึ้น เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ยอมถอยดูจากเจตจำนงค์ในความต้องการอยู่ในอำนาจต่อ” พิชาย กล่าว
เมธา มาสขาว กล่าวว่า ข้อ 1. พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายคนตีความว่าเป็นการตัดตอน ม.264 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 60 เป็นผลพวงโดยตรงจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยมีหลักทางกฎหมายมากกว่า โดยเฉพาะที่นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ หนึ่งในตุลาการเสียงข้างน้อย
ช้อ 2. อยากเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ แสดงสปิริตโดยการลาออกอย่างสง่างามหลังคำวินิจฉัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้หาทางลงของท่านและน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อลดความขัดแย้งในบ้านเมือง เพราะเรื่องนี้คาบเส้นจริยธรรมคุณธรรมที่พล.อ.ประยุทธ์ มีมลทินติดตัวและได้รับความไว้วางใจต่ำลงมาก
ข้อ 3. การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มตั่งแต่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้นตั้งแต่ปี 2557-2560 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เถื่อนใช่หรือไม่ ตนจึงขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ คืนเงินเดือนทั้งหมดที่ผ่านมา เพื่อแสดงความเป็นสุภาพบุรุษ
ข้อ 4. สถานการณ์ขณะนี้ต้องถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทำไมต้องไปต่อ มีอะไรที่ทำไว้แล้วกลัวถูกเช็คบิลหรือไม่ และมีอะไรที่ยังไม่ทำบ้าง แล้วยังอยากอยู่ต่อเพื่อจัดการ ซึ่งตนก็คิดไม่ออกนอกจากการประชุมเอเปคที่กร่อยลงทุกขณะ เนื่องจากผู้นำโลกอาจจะไม่มาเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังยึดกุมอำนาจอยู่
เมธา กล่าวว่า สุดท้ายคงต้องเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากฎหมายพรรคการเมืองและการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว โดยภาคประชาชนทั้ง 30 องค์กรประชาธิปไตยและเครือข่าย 99 พลเมือง จะจัดเวทีพอกันที ยกเลิกระบอบประยุทธ์ และร่วมกันหาแนวทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนต่อไป ในวันศุกร์ที่ 7 ต.ค.นี้ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน
รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นครั้งแรกที่บัญญัติให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปีมิได้ แต่เว้นวรรคได้ ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เขียนไว้ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม แต่การวินิจฉัยให้นับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญไทยเป็นเหมือนการปลูกถั่วงอก ไม่มีความต่อเนื่องในการบังคับใช้เพื่อเป็นบรรทัดฐานใดๆ ทั้งสิ้น ประเพณีการเมืองการปกครองไทยไม่ถูกปลูกฝังเจตจำนงเพื่อความต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยเลย รัฐธรรมนูญไทยจึงไม่มีโอกาสเป็นต้นไม้ใหญ่ของประเทศ เพราะหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 เราไม่คิดว่าจะมีการรัฐประหารขึ้นอีกก็เกิดขึ้นอีกในที่สุด
“ผลกระทบประชาชนก็ยังคงถูกเก็บค่าไฟฟ้าแพงขึ้นต่อไปตามที่มีการเอื้อให้การผูกขาดไฟฟ้า แทนที่จะมีการเปิดให้ทำโซลาร์รูฟเสรีและเก็บไว้ในระบบไฟฟ้าของประเทศได้ซึ่งจะปฏิวัติระบบไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจาก 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เกิดการผูกขาดพลังงานสูงสุด ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันทั้งแผ่นดิน คงต้องรอหลังการเลือกตั้งที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้ถล่มทลาย และฝ่ายประชาชนเข้มแข็งหลุดพ้นจากการถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง ไม่ถูกครอบงำจากทั้งฝ่ายมุมน้ำเงินและฝ่ายมุมแดง” นางสาวรสนากล่าว
พิภพ ธงไชย กล่าวว่า ตุลาการเสียงข้างน้อยให้ความเห็นเรื่องเจตจำนงค์ของรัฐธรรมนูญชัดเจนมากว่า ไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดอำนาจต่อเนื่อง ทำให้คำวินิจฉัยเสียงส่วนใหญ่เกิดจุดอ่อน เรื่องนี้มีเจตนารมณ์มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งยกการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ยึดถือประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติในการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี หรือ 2 สมัย มาตั้งแต่ประธานาธิบดีคนแรก จึงต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเจตนารมณ์ของประชาชนด้วย
“พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรเป็นนายกฯ ต่ออีกสมัยด้วยเหตุผลนานัปการ ที่น่าผิดหวังที่สุดคือรัฐบาลประยุทธ์ไม่ปฏิรูปการศึกษา ไม่ปฏิรูปตำรวจ และไม่ปฏิรูปการผูกขาดด้านพลังงานที่เริ่มในรัฐบาลคุณทักษิณ ดังนั้นจึงไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปนำไปสู่ความล้มเหลวของสังคม” นายพิภพกล่าว
พิภพ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันตนยังไม่เห็นพรรคการเมืองพรรคไหนที่ต่อสู้เรื่องเหล่านี้ เพื่อจะแก้ไขกฎหมายและยกเลิกเรื่องเหล่านี้ นอกจากพรรคก้าวไกล ดังนั้น ประชาชนไทยจะต้องแอคทีพขึ้นในการกำหนดนโยบายสาธารณะและการกำหนดนโยบายพรรคการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในไม่นานนี้ ที่ต้องมีนโยบายเรื่องไฟฟ้า เรื่องน้ำมันที่ชัดเจนอย่างไร มีกฎหมายอะไรที่ติดขัดในการแก้ปัญหาบ้าง ต้องแก้ไขและยกเลิกอย่างไร
“อยากชี้แจงเพื่อนมิตรว่าที่ออกมาไล่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่แค่ไล่พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้ารัฐบาลชุดนี้เท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีความขัดแย้งส่วนตัว แต่ผมออกมาไล่รัฐบาลทหาร พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพียงหนึ่งในตัวแทนรัฐบาลทหารเท่านั้น” พิภพกล่าว