'คุณหยี' เจ้าของวังพุดตาล หนึ่งในไร่ชาที่ตั้งอยู่บนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย เล่าว่า ต้นตระกูลสืบสานเชื้อสายชาวจีน โดยบรรพบุรุษเดินทางมาจากประเทศจีน สมัยก่อนปี 1949 ซึ่งที่จีนเกิดสงครามภายใน คุณปู่มากับพรรคทหารก๊กหมินตัง อพยพมาช่วงสงครามเย็น จากมณฑลยูนนาน เดินเท้าเปล่า ชายแดนพม่าและเข้ามาปักหลักที่ประเทศไทยเมื่อ 60 ปีที่แล้ว จากนั้นได้เริ่มปลูกชาและต้นบ๊วยมานานกว่า 30 ปี แต่ผลผลิตจากต้นบ๊วยไม่ได้ราคา ไม่สามารถจำหน่ายได้ จึงอยากเพิ่มมูลค่านำมาผสมกับชาอู่หลงชั้นดีของไร่ โดยนำสูตรนี้จากประเทศไต้หวัน เริ่มทำปีที่แล้ว ใช้เวลาหมัก 7 เดือน วางจำหน่ายปลายปีที่ผ่านมา พบว่าเสียงตอบรับดีมาก จากนั้นได้เริ่มทำแยมบ๊วยเพิ่มขึ้นอีก ปรากฎว่าขายดีเช่นกัน นับว่าเป็นการนำบ๊วยที่ขายไม่ได้ราคามาเพิ่มมูลค่าทำให้จำหน่ายได้
'คุณหยี' บอกด้วยว่า บ๊วยมีคุณสมบัติเป็นยา จะช่วยเรื่องลำไส้ น้ำบ๊วยที่ได้จากการทำชาบ๊วย เมื่อนำมาผสมกับน้ำผึ้งและโซดา จะได้เครื่องดื่มที่มีรสชาติกลมกล่อม หลังจากนี้จะพัฒนาสูตรและผลิตให้ได้ปริมาณเพียงพอกับตลาดอย่างต่อเนื่อง
ด้านนักท่องเที่ยว บอกว่า ได้ลองชิมที่นี่เป็นครั้งแรก รสชาติมีกลิ่นหอมของชา มีความซ่า เปรี้ยวของบ๊วย เป็นรสชาติ ที่ลงตัว เป็นการพัฒนารสชาติที่ดี เชื่อว่าจะเป็นที่นิยมของผู้ที่ได้ลิ้มลอง
สำหรับการปลูกบ๊วยในประเทศไทย
ในประเทศไทยจะมีปลูกในพื้นที่ทางตอนเหนือ เช่น จังหวัดเชียงรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมืองเรียกว่าพันธุ์เชียงรายหรือแม่สาย ปัจจุบันมีปลูกเพิ่มมากขึ้นเพราะปลูกง่าย ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนัก โรคและแมลงรบกวนค่อนข้างน้อย
ขณะที่ให้ผลผลิตสูงตามอายุและขนาดของลำต้น ตลอดถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม บ๊วยเป็นพืชที่ต้องการอุณหภูมิต่ำอยู่ที่ประมาณ 7.2 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า แบบต่อเนื่องประมาณ 50-100 ชั่วโมง ตามชนิดของพันธุ์ บางพันธุ์ เช่น พันธุ์เชียงรายหรือแม่สายสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีความสูง 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล เช่น บางแห่งของพื้นที่ราบของจังหวัดเชียงราย แต่ผลจะมีขนาดเล็ก ขณะที่ทางโรงงานแปรรูปต้องการบ๊วยที่มีขนาดใหญ่ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 2 เซนติเมตรขึ้นไป ส่วนพันธุ์ที่มีคุณภาพดีซึ่งนำมาจากต่างประเทศต้องปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป สำหรับราคาผลสุกจะขายได้กิโลกรัมละประมาณ 13-15 บาท