อาสาสมัครด้านการมอบความช่วยเหลือ ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (10 ส.ค.) ว่า มีชาวโรฮิงญาจำนวน 8 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือจากเรือที่ล่มลำนี้ ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของชาวโรฮิงญาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาต่างพยายามอพยพหลบหนีการประหัตประหารและความยากจนในเมียนมาและบังกลาเทศ จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมา
“เราพบศพหลายร่างตั้งแต่วันที่ 7 ส.ส.” มินตาลวา ประธานมูลนิธิฉ่วยยวงเมตตา ซึ่งเป็นองค์กรกู้ภัยในรัฐยะไข่ของเมียนมา กล่าว “ภายใน 3 วัน เราพบศพผู้เสียชีวิต 17 ศพ… เราพบบางคนที่ยังมีชีวิตอยู่” มินตาลวากล่าว พร้อมระบุเสริมว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตมีผู้หญิงจำนวน 10 คน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในเมืองหม่องดอว์ ที่ติดกันกับชายแดนบังกลาเทศ กล่าวว่า เรือลำดังกล่าวออกเดินทางด้วยสภาพอากาศเลวร้าย และยังคงมีชาวโรฮิงญาอีกประมาณ 500 คน ที่ยังคงหวังที่จะข้ามมหาสมุทรจากเมียนมาและบังกลาเทศไปยังมาเลเซีย
ชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในสภาพแออัดในบังกลาเทศ โดยชาวโรฮิงญาในจำนวนนี้เป็นผู้หลบหนีการปราบปรามของกองทัพเมียนมาในปี 2560 อย่างไรก็ดี กองทัพเมียนมาปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชาวโรฮิงญา ทั้งนี้ มีชาวโรฮิงญาจำนวนนับไม่ถ้วนที่เสียชีวิตกลางทะเลจากโรคภัยไข้เจ็บ ความหิวโหย และความเหนื่อยล้า ในขณะที่พวกเขาพยายามเดินทางไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ด้วยเรือซึ่งมีสภาพไม่มั่นคง
ตามข้อมูลเมื่อเดือน ม.ค. ของสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ มีชาวโรฮิงญามากกว่า 3,500 คนในเรือ 39 ลำที่พยายามข้ามทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอลในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 700 คนในปีที่แล้ว ทั้งนี้ มีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 348 คนเสียชีวิตหรือสูญหายในทะเลเมื่อปีที่แล้ว โดยสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการตอบสนองระดับภูมิภาคเพื่อหยุดความสูญเสียเพิ่มเติม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ว่าเป็นการ “แบ่งแยกสีผิว” ทั้งนี้ เมียนมาเผชิญข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากศาลสูงสุดของสหประชาชาติ หลังการอพยพครั้งใหญ่ของชาวโรฮิงญา
บังกลาเทศและเมียนมาได้หารือกันในประเด็นการเริ่มส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับภูมิลำเนา อย่างไรก็ดี ทูตด้านสิทธิระดับสูงของสหรัฐฯ ซึ่งประจำการอยู่ในบังกลาเทศ กล่าวเมื่อเดือน ก.ค. ว่า เงื่อนไขความเป็นอยู่ในเมียนมายังคงไม่ปลอดภัย สำหรับการส่งผู้ลี้ภัยกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญากลับไปยังเมียนมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ มีการระงับส่งเงินช่วยเหลือไปยังเมียนมา ส่งผลให้หน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติต้องหยุดการปันส่วนความช่วยเหลือ ไปยังค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศถึง 2 ครั้งในปีนี้ ในขณะที่เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุพายุไซโคลนพัดถล่มรัฐยะไข่ และเผด็จการทหารเมียนมาได้ขัดขวางความพยายามของนานาชาติในการส่งมอบความช่วยเหลือไปในพื้นที่รัฐยะไข่
เมียนมาตกอยู่ในความโกลาหล นับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนของ อองซานซูจี โดยกองทัพเมียนมาเข้าโค่นล้มลงจากอำนาจ ด้วยการทำรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564 ซึ่งส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยของเมียนมาในระยะเวลาสั้นๆ สิ้นสุดลงอีกครั้ง
ที่มา: