เครือข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคน พร้อมด้วยเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ แถลงข่าว "แผงลอยกับเมือง จัดการปัญหา หันหน้าคุยกัน" ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมออกแถลงการณ์จาก 3 องค์กร
รองศาสตราจารย์ นฤมล นิราทร จากเครือข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคน ขอให้คณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคมที่นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เร่งดำเนินการบรรเทาผลกระทบและทบทวนนโยบายการจัดระเบียบแผงลอย เนื่องจากกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้า ผู้ค้าแผงลอยยังไม่มีงานทำขาดรายได้
โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวควรเร่งดำเนินการเพื่อลด ความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในมิตินี้ ให้เป็นตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังดังที่ได้สัญญาไว้ พร้อมระบุถึงผลกระทบที่ผู้ค้าได้รับจากการลงพื้นที่ทำการวิจัยว่า มีบางรายจำใจต้องขายบริการทางเพศ เพื่อเลี้ยงดูบุตร เพราะไม่มีช่องทางหารายได้อื่น
ส่วนนายเรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายผู้ค้าแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ค้าจาก 30 จุดใน 25 เขต จาก 50 เขตในกรุงเทพมหานคร รวมกว่า 1 หมื่นราย ระบุถึงความเดือดร้อนของผู้ค้าที่ต้องเผชิญกับปัญหาไม่มีที่ให้ค้าขาย ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว ต้องกู้หนี้ยืมสินหลายคนเครียดจนเสียสติและบางรายถึงขั้นเสียชีวิต
พร้อมทั้งยกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งจากนักวิชาการไทยและต่างประเทศ ที่ชี้ว่าหาบเร่แผงลอย เฉพาะใน กรุงเทพมหานคร สร้างรายเข้าประเทศกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี หากรวมอีก 76 จังหวัดทั้งประเทศจะเป็นเม็ดเงินมหาศาล เพียงแต่เป็นรายได้นอกระบบ หรือที่คำนวนภาษีได้ไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรี, สำนักงานกรุงเทพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะช่วยเร่งรัดให้คณะกรรมการชุดนี้จัดประชุมอย่างเร่งด่วน โดยจะให้เวลา 2 เดือนนับจากนี้ หากยังไม่มีความคืบหน้า จะกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวต่อไป ซึ่งอาจจำเป็นต้องสมาชิกไปเรียกร้องที่กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า ได้ติดตามปัญหาการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่อง และพบว่าการจัดระเบียบที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการปรับปรุงให้การค้าริมทางมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด ไม่กีดขวางทางเดินและการจราจรตามที่ภาครัฐกล่าวอ้าง
ส่วนมาตรการดังกล่าวเป็นการยกเลิกไม่ให้กลุ่มผู้ค้าที่เคยอยู่ในพื้นที่ผ่อนผันของกรุงเทพฯ ทำการค้าได้ ซึ่งนอกจากทำให้ผู้ค้าเป็นจำเลยสังคมแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ค้า รวมทั้งแรงงานอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในห่วงโซ่ของการค้าริมทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยเก็บแผง-ตั้งแผง, ผู้ผลิตสินค้า, เกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบในการทำอาหาร, รถจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงแท็กซี่ที่ช่วยขนส่งสินค้า ตลอดจนผู้บริโภคจำนวนมากและนักท่องเที่ยวที่ต้องอาศัยสินค้าริมทางนี้ด้วย
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เห็นด้วย ที่รัฐบาลจะมีการจัดระเบียบ และเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวดเร็วและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยสูงมากเป็นอันดับต้นๆของโลก
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหานี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจฐานรากคนตัวเล็กตัวน้อยได้มีช่องทางทำมาหากิน ช่วยเศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ทั้งยังจะช่วยเตือนสังคมว่า เมืองเป็นของทุกคน ไม่ใช่คนรวยเท่านั้นที่จะอยู่และใช้ประโยชน์จากเมืองได้
ขณะเดียวกัน สนับสนุนให้ผู้ค้ารวมกลุ่มเพื่อเตรียมการจัดระเบียบและควบคุมกันเองให้ได้ รวมทั้งประสานกับทีมวิชาการ เพื่อรวบรวมข้อมูลของผู้ค้าผู้ซื้อและชุมชน เพื่อให้การพูดคุยตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นจริง และมีทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับ และหวังให้คณะกรรมการชุดนี้จัดการประชุมโดยเร็ววัน เพราะการหันหน้ามาคุยกันมิเพียงจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จะช่วยให้เดินหน้าไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามที่รัฐบาลมักชูเป็นคำขวัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: