สำหรับเป้าหมายการจัดตั้ง ‘วันส้วมโลก’ ขององค์การสหประชาชาติคือ การเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศเห็นความสำคัญของการสุขาภิบาล และดำเนินการสร้างส้วมปลอดภัยให้ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงภายในปี 2030 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า
ทว่ารายงานฉบับใหม่ขององค์กรการกุศลวอเตอร์เอด (WaterAid) ที่เผยแพร่ออกมาก่อน ‘วันส้วมโลก’ ประจำปี 2018 กลับระบุว่า ‘เอธิโอเปีย’ ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ขาดแคลนห้องน้ำมากสุดในโลก โดยประชากร 93 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของแอฟริกาปราศจากการเข้าถึงห้องน้ำสะอาด นั่นหมายความว่า ปัจจุบันชาวเอธิโอเปียส่วนใหญ่ต้องถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระในพื้นเปิดข้างทาง ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำ และคุกคามต่อระบบสาธารณสุขท้องถิ่น ร้ายแรงกระทั่งทำให้เกิดยอดผู้เสียชีวิตจากอุจจาระร่วงหลายแสนรายต่อปี
ทั้งๆ ที่การเข้าถึงห้องน้ำเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานของทุกคน แต่การศึกษาของวอเตอร์เอดยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ประชากร 2.3 พันล้านคนทั่วโลกยังคงขาดแคลนห้องน้ำที่บ้าน มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งข้อมูลน่าตกใจจากรายงานคือ เกือบ 1 ใน 5 ของโรงเรียนประถม และ 1 ใน 8 ของโรงเรียนมัธยมทั่วโลกก็ปราศจากห้องน้ำเช่นกัน ทำให้เด็กนักเรียนจำนวน 620 ล้านคน ต้องตกอยู่ท่ามกลางอันตราย
“มันเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะมันไม่ใช่แค่ส่งผลต่อสุขภาพ การศึกษา และความปลอดภัย แต่มันยังส่งผลอนาคตของพวกเขาด้วย” ซาวิโอ คาร์วาลโฮ (Savio Carvalho) ผู้อำนวยการณ์การรณรงค์ของวอเตอร์เอดกล่าว
การขาดแคลนห้องน้ำในโรงเรียนเปรียบดั่งประกายไฟก่อวิกฤตสุขภาพ และสามารถส่งผลร้ายแรงต่อชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กนักเรียน เนื่องจากทุกๆ ปีมีนักเรียนอายุ 5-14 ปี จำนวนเกือบ 140,000 คน ถูกคร่าชีวิตตายจากอุจจาระร่วง และโรคอื่นๆ เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ขณะเดียวกันเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอีก 289,000 คนต้องเสียชีวิตจากการเผชิญหน้ากับปัญหาน้ำสกปรก และสุขาภิบาลไม่ดี
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วยการสร้างส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะป้องกันไม่ให้ส้วมเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคลงสู่แหล่งน้ำ และอีกปัจจัยหนึ่งของการแก้ปัญหาวิกฤติสุขาภิบาลทั่วโลกคือ การกำจัดข้อห้ามทางสังคมเกี่ยวกับการพูดคุยเรื่องส้วม และอุจจาระ
“ผู้คนมักรู้สึกอายเวลาพูดถึงเรื่องอุจจาระ และห้องน้ำ แต่มันถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนบทสนทนา เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลต่างๆ และผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกจะดำเนินการอย่างถูกต้องกับเรื่องนี้” โรซี เวน (Rosie Wheen) ผู้บริหารของวอเตอร์เอดกล่าว