เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น.คืนวันนี้(18 พ.ค.61) บริเวณท่าเรือแพปลาแสงอรุณ (ใน) ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 3 (ภูเก็ต) นำโดยนายวัชรินทร์ รัตนชู ผู้อำนวยการ ศูนย์ฯ ,น.อ.สมศักดิ์ อินทรเสมา หัวหน้าศูนย์ฯ, นายโกวิทย์ เก้าเอี้ยน ประมงจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปและภาพลูกเรือ 'แสงสมุทร 3' ซึ่งเป็นเรือประมงอวนลากที่มีการระบุว่าจับฉลามวาฬแขวนตากแห้งก่อนที่จะถูกกลุ่มนักดำน้ำจากเรือไดฟ์วิ่งไล่กดดันนานอยู่ 2 ชั่วโมง ทำให้เรือประมงลำดังกล่าวต้องปล่อยฉลามวาฬตัวดังกล่าวลงน้ำไป เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ
โดยมีนายวรศักดิ์ วรรณะ เจ้าของเรือแสงสมุทร 3 พร้อม นายสมสมัย มีจอม อายุ 55 ปี ชาว จ.ยโสธร ไต๋ก๋งเรือลำดังกล่าว พร้อมลูกเรือประมงอีก 5 คน นำเอกสารต่างๆ เข้าทำการชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆของเรือรวบทั้งไต๋เรือและลูกเรือทุกคน รวมทั้งสอบถามถึงเหตุการณืที่เกิดว่าเกิดขึ้นอย่างกับลูกเรือทุกคน และพลตำรวจโทจารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร จังหวัดภูเก็ต ทำการสอบสวนถึงเหตุการณืที่เกิดขึ้นให้ได้ความกระจ่างให้กับสังคมว่าทางเรือประมงนั้นตั้งใจจับฉลามวาฬ ปิดบังซ่อนเร้น ตามที่สังคมโชเชียลสงสัยหรือไม่ หรือว่าติดอวนขึ้นไปเอง หรือเป็นการจับไปขาย และพอทราบแล้วตั้งใจจะปล่อยหรือไม่หากไม่มีคนเห็น และปล่อยเพราะถูกกดดันจากผู้เห็นเหตุการณ์หรือไม่ รวมทั้งสอบสวนผู้ที่เห็นเหตุการณ์ที่อยู่บนเรือดำน้ำด้วยว่าเหตุการณ์เป็นเช่นใด
หากว่าพบว่ามีการกระทำผิดจริงก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายเนื่องจากฉลามวาฬเป็นสัตว์สงวนตามกฎหมายไทยและสากล เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉลามเป็นสัตว์ที่หายากใกล้สูญพันธุ์ ของไซเตส ทำให้เรื่องนี้กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนและอธิบายต่อสังคมได้โดยเร็ว
จากนั้น พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ได้สอบถาม นายสมสมัย มีจอม อายุ 55 ปี ไต๋ก๋งเรือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง นายสมสมัยเล่าว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. 2561 ก่อนที่จะนำเรือกลับเข้าฝั่ง ช่วงที่อยู่บริเวณใกล้กับเกาะราชา ทำการกู้อวนขึ้นมาบนเรือ รู้สึกว่าค่อนข้างหนัก แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เมื่อเทปลาออกจากอวนจึงเห็นว่ามีฉลามวาฬติดมาด้วย พยายามช่วยกันดันลงทะเล แต่ทำได้ลำบากเนื่องจากฉลามวาฬมีขนาดใหญ่มากและเรืออยู่สูง จึงต้องใช้เชือกผูกหางฉลามวาฬและใช้เครนยกตามที่ปรากฏในภาพ
ไต้ก๋งเรือยืนยันว่า เป็นการช่วยที่จะทำให้ผลักลงไปในน้ำให้ได้จนสำเร็จ เห็นฉลามวาฬตัวดังกล่าวว่ายน้ำออกไปโดยไม่มีอาการบาดเจ็บ และเท่าที่เห็นฉลามวาฬตัวนี้ก็ไม่ได้ตั้งท้องด้วย จึงอยากชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจจับฉลามวาฬไว้ ตามที่ถูกกล่าวหา เพราะทราบดีว่าการจับฉลามวาฬขึ้นเรือนั้นมีความผิด เนื่องจากเป็นสัตว์สงวนและตัวก็ใหญ่ไม่รู้จะไปขายใคร
ด้านนายวรศักดิ์ วรรณะ เจ้าของเรือ กล่าวว่า หลังจากเห็นในสื่อโชเชียลได้สอบถามไปยังไต๋ก๋งเรือและสั่งให้ไต๋เรือนำเรือเข้าฝั่งทันที โดยนายสมสมัย เล่าว่าไม่เห็นและไม่ทราบว่าฉลามวาฬติดมาในอวน มาทราบตอนที่ยกขึ้นเรือแล้ว และช่วยกันดันลงเรือ แต่บนเรือคนน้อยจึงต้องใช้เครนยกตามที่เห็น ส่วนตัวทำเรือประมงมานาน สั่งลูกน้องตลอดเวลาว่าสัตว์สงวนไม่ว่าจะเป็นโลมาหรือฉลามต่างๆ จะไม่จับโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะโลมาและฉลามวาฬเพราะชาวประมงถือเป็นสัตว์นำโชดี
ทั้งนี้ พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ว่าในกรณีที่จับฉลามวาฬขึ้นมาบนเรือนั้นมีขั้นตอนการจับอย่างไร รู้ว่าเป็นฉลามวาฬๆได้อย่างไร แล้วปล่อยตอนไหน การปล่อยมีเหตุผลการปล่อยอย่างไร หรือว่าถูกกดดันให้ปล่อยต้องสอบสวนให้ปรากฏข้อเท็จจริง หากจับฉลามวาฬขึ้นมาแล้วมีเจตนาที่จะปิดบังซ่อนเร้นเพื่อนำไปจำหน่าย ก็จะมีความผิดตามมาตรา 66 ทันที แต่หากจับขึ้นมาแล้วรู้ว่าเป็นฉลามวาฬแล้วปล่อยทันทีก็ไม่ผิด แต่ต้องอยู่ที่การสอบปากคำของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมทั้งสอบเครื่องมือในการทำประมงด้วยจะทำให้ทราบเจตนาของเรือประมง เรื่องนี้ต้องสร้างความจริงปรากฏขึ้นให้ได้ หากพบว่ามีเจตนาไม่ดีเพื่อจะเอาฉลามวาฬไปแสวงหาผลประโยชน์เอาไปขายก็จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดและจะถอนใบอนุญาติเรือประมงทั้ว 2 ลำทันที
โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพและคลิป ชาวเรือดำน้ำภูเก็ต พบเรือประมงอวนลากฉลามวาฬขึ้นเรือประมงที่บริเวณเกาะราชา จ.ภูเก็ต ตามกดดัน 2 ชั่วโมงจนเรื่องประมงดังกล่าวยอมปล่อยฉลามวาฬ พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ทำให้มีการวิพากวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีนี้ด้วยว่า ฉลามวาฬสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย (ประเภทปลา ลำดับที่ 6) ตามพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ยังเป็นสัตว์ห้ามทำการประมง ตามประกาศห้ามทำการประมง (พ.ศ.2559) ของกระทรวงเกษตรฯ ตาม พ.ร.บ.ประมง (มาตรา 66) ในประกาศกระทรวง ครอบคลุมทั้งห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง โทษปรับ 3 แสน - 3 ล้านบาท เน้นย้ำ “ห้ามนำขึ้นเรือ” ระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายครับ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงตาม พ.ร.บ. คือกรมประมง เหตุเกิดที่ภูเก็ต เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องคือประมงจังหวัดภูเก็ต ผู้พบเห็นสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้
ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (จ.ภูเก็ต) ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเบื้องต้นมีข้อมูลว่าเรืออวนลาก ชื่อว่า แสงสมุทร 3 หมายเลขทะเบียน 2283 04242 ได้ปล่อยปลาฉลามวาฬลงทะเลไปแล้ว โดยกรมทช. ได้ประสานไปทางเจ้าหน้าที่กรมประมง เพื่อหาพิกัดและเส้นทางการเดินเรือของเรือแสงสมุทร 3 พบว่าขณะช่วงเวลานั้น ไม่ได้ทำการประมงในเขตหวงห้าม จึงได้ประสานข้อมูลไปยังศูนย์ pipo ภูเก็ต ขอให้ดำเนินการสอบถามข้อเท็จจริงจากไต๋เรือและลูกเรือ
นายจตุพร กล่าวว่า จากการกระทำดังกล่าวเบื้องต้นมีความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 66 ฐานนำสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง มีโทษปรับตั้งแต่ 300,000-3,000,000 บาท และมีความผิดตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16 ฐานล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยทางกรมทช.สามารถเป็นเจ้าทุกข์ฟ้องร้องดำเนินคดีเรือประมงลำนี้ได้ โดยได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อส่งพนักงานสอบสวน สภ.ฉลอง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
"ผมยอมรับว่าเห็นภาพแล้วตกใจ และไม่คิดว่าชาวประมงจะยังกล้าทำแบบนี้" นายจตุพร กล่าวต่อว่า
ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวทางสื่อออนไลน์ว่ามีการจับปลาฉลามวาฬขึ้นเรือประมงจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ ที่ท่าเทียบเรือประมงแพแสงอรุณภูเก็ตด้วยตนเอง โดยเบื้องต้นจากการตรวจสอบและรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่ พบว่า
1.เรือประมงดังกล่าวทำการประมงประเภทอวนลาก ชื่อเรือแสงสมุทร 3 ทะเบียนเรือ 228304242 เลขที่ใบอนุญาตทำการประมง 618301010283 เจ้าของเรือ คือนายวัชรพล วรรณะ มีนายสมสมัย มีจอม เป็นผู้ควบคุมเรือ
2.เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพได้ตรวจเรือที่แจ้งเข้าท่าเวลา 22.00 น ของวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา พบหลักฐานจากการชี้แจงของผู้ควบคุมเรือยอมรับว่าภาพทางสื่อออนไลน์เป็นเรือดังกล่าวจริง โดยได้ร่วมกับ เรือประมง แสงสมุทร 2 ที่มีนายรัตนา พรหมงาม เป็นผู้ควบคุมเรือทำการประมงลากคู่จับสัตว์น้ำในทะเลอันดามัน เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว จึงได้รวบหลักฐานแจ้งลงบันทึกประจำวัน และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสืบสวน สภ.เมืองภูเก็ต เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 พ.ร.ก.การประมง.พ.ศ.2558 ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธ์ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 2 (4) ปลาฉลามวาฬ เพื่อดำเนินคดีกับนายสมสมัย มีจอม และนายรัตนา พรหมงาม และผู้กระ��ำผิด จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
3. ได้สั่งดำเนินการกักเรือ ยึดสัตว์น้ำและเครื่องมือ โดยกรมประมงได้ประสานไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อดำเนินการล๊อคเรือ ตามคำสั่ง คสช.22/2560 ข้อ 22 ที่ระบุว่ากรณีมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเรือประมงลำใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ให้พนักเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งพบการกระทำความผิดสั่งกักเรือไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับจากออกคำสั่งกักเรือ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน
ขณะเดียวกัน หากเรือลำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยการประมงให้ศาลสั่งริบเรือทันที
สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ประมง 2558 ตามมาตรา 66 คือ ปรับสามแสนถึงสามล้านบาท หรือปรับมูลค่า 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมงแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่ากัน ขณะเดียวกัน เรือดังกล่าวต้องถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตการทำประมงตามมาตรา 39 และไม่สามารถขอใบอนุญาตการทำประมงได้อีก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรวบรวมข้อมูล หลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป