นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เนื่องจากองค์การอนามัยโลกกำหนดให้สัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. ของทุกปีเป็นสัปดาห์แห่งการรณรงค์การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก เพื่อลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคติดต่อ โดยปีน���้ตรงกับวันที่ 24-30 เม.ย.
อย่างไรก็ตาม ด้านสุขภาพจิตใจหรือโรคทางจิตเวชทั่วโลกยังไม่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้สำเร็จ ปัญหาที่เกิดมาจากการขาดวัคซีนใจ มักจะอยู่ในรูปของปัญหาสังคม ความรุนแรงต่างๆ จึงต้องเร่งสร้างวัคซีนชนิดนี้ให้เด็กไทยรุ่นใหม่ เพื่อให้เด็กมีจิตใจที่มั่นคง เข้มแข็ง สามารถฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคในชีวิตและอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างดี หากเด็กได้รับทั้งวัคซีนป้องกันโรคทางกายและวัคซีนทางใจด้วย จะเติบโตเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อม มีทั้งสุขภาพกายดี เป็นคนเก่ง คนดีและมีความสุข
"วัคซีนใจได้มาจากการเลี้ยงดูเป็นหลัก เริ่มให้ตั้งแต่แรกเกิดและต้องให้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 5 ขวบแรก ซึ่งเป็นวัยทองของชีวิตจะได้ผลดีที่สุด" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ทั้งนี้ วัคซีนใจที่สำคัญและจำเป็น มี 6 เมนู ได้แก่
1.ใหัความรักดูแลเอาใจใส่ เด็กจะมีจิตใจมั่นคง มีอารมณ์สุขุมหนักแน่น
2.ให้ลูกมีโอกาสได้เล่นเพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น ฝึกการยอมรับ เรียนรู้การเป็นผู้นำผู้ตามและนำมาใช้ในชีวิตจริง
3.ให้ลูกมีโอกาสช่วยเหลือตนเอง เด็กจะรู้จักคิด รู้จักทำ มีความรับผิดชอบรู้จักพึ่งพาตัวเอง
4.ฝึกนิสัยให้เด็กรู้จักการรอคอย อดทนและอดกลั้น เด็กจะควบคุมอารมณ์ได้ดี รู้วิธียับยั้งชั่งใจจากสิ่งที่มายั่วยุ เคารพกฎกติกาสังคม
5.เปิดโอกาสให้ลูกรู้จักปรับตัว เผชิญและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เด็กจะรู้จักแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
6.ฝึกเด็กให้รู้จักการให้ การช่วยเหลือและการเข้าใจคนอื่น
แพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า การให้วัคซีนใจต้องให้ตามช่วงวัยที่กำหนด คือตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อน 6 ขวบ หากให้ช้าเกินไป จะให้ผลดีไม่มากเท่าที่ควร
โดยวัคซีนที่สำคัญและจำเป็นที่สุด คือการให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิดตั้งแต่แรกเกิดและต่อเนื่องทุกช่วงวัย การให้วัคซีนใจมีหลักปฏิบัติ 4 ประการดังนี้
1.ต้องให้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
2.ให้อย่างถูกวิธีโดยพ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งลูกจะซึมซับทั้งคำพูดและการกระทำของพ่อแม่ตลอดเวลา การฝึกสอนที่ได้ผลดีที่สุดคือการทำให้ลูกเห็น เพื่อให้ลูกทำตาม
3.ให้อย่างได้ผล โดยใช้เทคนิคต่างๆ เช่น ชื่นชมเมื่อเด็กทำได้ หรือโอบกอด ลูบศีรษะ หอมแก้ม ให้กำลังใจและปลอบใจเมื่อลูกทำไม่ได้ พูดคุยกับลูกบ่อยๆ เมื่อลูกยังเล็กและรับฟังลูกให้มากเมื่อลูกโตขึ้น
4.ให้อย่างมีคุณค่า ถูกเวลา เหมาะสมกับวัย เช่น เปิดโอกาสให้ลูกช่วยเหลือตนเองเมื่อลูกเริ่มอยากทำอะไรด้วยตนเอง และต้องให้อย่างพอดี โดยไม่ปกป้องหรือตามใจลูกมากเกินไป จนทำให้ลูกไม่รู้จักโต เอาแต่ใจตัวเอง คอยพึ่งพาพ่อแม่
พญ.กุสุมาวดี กล่าวด้วยว่า พ่อแม่ผู้ปกครองลงทุนให้วัคซีนใจลูกรุ่นเจนแซดไปแล้ว จะได้ผลคุ้มค่าในระยะยาวอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่ 1) หายห่วงเพราะวัคซีนใจจะช่วยให้ลูกรู้จักทำอะไรด้วยตนเอง พึ่งพาตัวเอง ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ 2) ภาคภูมิใจ เพราะลูกเปรียบเสมือนตัวแทนของพ่อแม่ ถ้าลูกมีความเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ สามารถทำอะไรได้ดี เป็นคนที่สังคมชื่นชม เสมือนว่าพ่อแม่มีคุณสมบัตินั้นๆ ด้วย ที่เรียกว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น และ 3) ได้พึ่งพา ลูกที่ได้รับความรักอย่างคุ้มค่าเต็มอิ่ม จะผูกพันกับพ่อแม่ไม่เสื่อมคลาย ลูกที่ได้รับการเรียนรู้ให้เข้าใจจิตใจของคนอื่น จะเป็นผู้ให้ด้วยความเต็มใจ และลูกที่ได้รับการฝึกฝนให้ยืนหยัดด้วยตัวเอง จะเป็นหลักพักพิงให้กับพ่อแม่ได้แน่นอน
Photo by delfi de la Rua on Unsplash