ชาติที่ต้องตกรอบแรกในฟุตบอลโลกครั้งนี้อย่างน่าเสียดายที่สุด คงจะเป็น ‘เซเนกัล’ ที่มี 4 คะแนน เท่ากับญี่ปุ่นที่ผ่านเข้ารอบน๊อคเอาท์ไปด้วย ‘กฎแฟร์เพลย์’ (fair play rules) ทั้งนี้เพราะเซเนกัลมีจำนวนใบเหลืองที่มากกว่าญี่ปุ่น 2 ใบ ทำให้เป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่ต้องตกรอบด้วยกฎดังกล่าวที่เพิ่งประกาศใช้
ฟุตบอลโลกในครั้งนี้เซเนกัลไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์เป็นทีมรองบ่อนที่สามารถเข้าไปถึงรอบลึกๆ เหมือนในฟุตบอลโลกปี 2002 ที่สร้างความฮือฮาในรอบแรกที่สามารถล้มฝรั่งเศสแชมป์โลกในฟุตบอลโลกครั้งก่อนหน้านั้น ทั้งยังเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมที่เคยยึดครองเซเนกัลเป็นเวลากว่า 300 ปี และจบลงด้วยการเป็นทีมจากแอฟริกันชาติที่ 4 ที่สามารถเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศได้สำเร็จ ความสำเร็จจากฟุตบอลโลก 2002 เป็นการปูทางให้ผู้เล่นเซเนกัลให้ได้โอกาสเข้าไปเล่นสู่ลีกชั้นในยุโรปอื่นๆ นอกเหนือจากลีกเอิง (Ligue 1) ของฝรั่งเศสที่ผู้เล่นชุดนั้นเกือบทั้งหมดค้าแข่งอยู่ แม้ในฟุตบอลโลกอีก 3 ครั้งต่อมาพวกเขาจะไม่สามารถผ่านมารอบสุดท้ายได้ แต่ผู้เล่นชุดนั้นก็เป็นฮีโร่ที่สร้างความสุขให้กับในคนชาติท่ามกลางความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
หลังจากได้รับอิสรภาพเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 1960 แม้จะไม่ได้ถูกปกครองจากเผด็จการ เหมือนหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน แต่รัฐบาลของเซเนกัลก็ไม่สามารถพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคมไปได้อย่างดี เซเนกัลประสบปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการขาดดุลการค้าและมีหนี้สินต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นประเทศที่ต้องเพิ่งพาเงินสนับสนุนช่วยเหลือจากต่างประเทศจำนวนมาก กรุงดาการ์ (Dakar) เมืองหลวงของเซเนกัลหลายครั้งต้องวุ่นวายด้วยเหตุจลาจล จากการความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียบ ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะร���หว่างตำรวจและนักศึกษาที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินค่าทุนการศึกษาที่ติดค้างไว้
การเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีหน้า (2019) ท่ามกลางเสียงความไม่พอใจต่อรัฐบาล ผลงานที่ดีของฟุตบอลทีมชาติอาจช่วยดึงความนิยมที่มีต่อรัฐบาลกลับมาอีกครั้ง เหมือนกับรัฐบาลของหลายประเทศที่ใช่ฟุตบอลสร้างความนิยมภายในประเทศ การตกรอบแรกไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์ได้เหมือนฟุตบอลโลกปี 2002 จึงไม่ใช่ความสมหวังของรัฐบาลของ Micky Sall มากเท่าที่ควร แต่ในอีกมุมหนึ่งฟุตบอลก็ไม่ใช่แค่เครื่องมือของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นกระจกในการสะท้อนสภาพสังคมในเซเนกัลเช่นกัน
23 ผู้เล่นที่ Aliou Cissé โค้ชทีมชาติ อดีตกัปตันทีมชาติเซเนกัลชุดปี 2002 เรียกมาติดทีมชาตินั้นไม่มีผู้เล่นแม้แต่คนเดียวที่ค้าแข้งอยู่ในลีกภายในประเทศ ซึ่งในทัวร์นาเมนท์บอลโลกครั้งนี้มีเพียงแค่สวีเดนเท่านั้นที่เป็นเหมือนเซเนกัล แม้แต่ประเทศในแอฟริกันเช่นเดียวกันอย่างอียิปต์, โมร๊อคโค, ไนจีเรีย หรือตูนิเซีย ยังผู้เล่นทีมชาติที่ค้าแข้งอยู่ในประเทศ
การเรียกตัวผู้เล่นของ Cissé นั้นบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมเซเนกัล Mark Hann ผู้ร่วมทำงานวิจัย “Global Sport Project” โดย University of Amsterdam ที่เคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลในเซเนกัล มองว่าที่เซเนกัลไม่มีผู้เล่นในประเทศติดทีมชาติ เพราะความอ่อนแอของลีกภายในประเทศ ที่ไม่มีเม็ดเงินที่จะดึงดูดคนดูหรือจ่ายเงินให้กับผู้เล่น ลีกของเซเนกัลเป็นเพียงแหล่งป้อนผู้เล่นเข้าสู่สายพานลูกหนังยุโรป สโมสรใหญ่ในประเทศเหมือนเป็นเพียงอาคาเดมีนอกประเทศ ของสโมสรในฝรั่งเศสก่อนกระจายไปสู่ลีกชั้นนำอื่นๆ อย่างอย่างซุปเปอร์สตาร์ Sadio mane ก็มาจากระบบส่งออกนักเตะแบบนี้ โดยเขาเริ่มจากทีมในประเทศอย่าง Génération Foot ก่อนจะไปเล่นกับ Metz ทีมในลีกสูงสุดในฝรั่งเศสที่ใช้ให้ทีมสโมสรในเซเนกัลป้อนผู้เล่นมาให้ตลอด ก่อนจะไปโด่งดังกับ Liverpool ในปัจจุบัน แม้อย่างที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่ามีนักเตะชาวเซเนกัลไปค้าแข้งในลีกอื่นนอกเหนือจากลีกฝรั่งเศสมากขึ้น แต่ก็ยังเห็นได้ว่าฟุตบอลเซเนกัลส่วนใหญ่ยังคงถูกควบคุมโดยฝรั่งเศส
ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้อัตราการว่างงานในประเทศสูงมาเป็นเวลางาน โดยธนาคารโลกระบุว่า จะสูงในกลุ่มวัยรุ่น ที่ต้องทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) การได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพในยุโรปจึงเป็นความหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา พ่อแม่ของผู้เล่นในท้องถิ่นมักจะฝากความหวังไว้กับเอเยนต์ว่าจะพาลูกๆ ของพวกเขาไปค้าแข้งในต่างประเทศ เหมือนกับรุ่นพี่ร่วมชาติหลายคน แต่มีหลายกรณีที่ถูกหลอกเอาเงินหรือเป็นเหยื่อในกระบวนการค้ามนุษย์
นอกจากนั้นยังพบว่าในทีมชาติเซเนกัลชุดนี้ มีผู้เล่นถึง 10 คนที่เกิดภายนอกประเทศ สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การเป็นแรงงานอพยพที่มีมายาวนาน ผู้ต่างหนีจากประเทศเพื่อหวังไปสร้างชีวิตที่ในยุโรปทีเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของพวกเขา