พรรคพลังประชารัฐ คือแหล่งรวมคนสามกลุ่ม
กลุ่มหนึ่งคือ แทคโนแครตที่หวังเป็นนั่งร้านสืบทอดเผด็จการทหาร กลุ่มนี้ นำโดยทีมสมคิด วาระที่อยู่เบื้องหลังคือล้มทักษิณให้ได้ อันเป็นผลจากการผูกใจเจ็บในอดีต กลุ่มนี้ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับคนมีสี และทุนประชารัฐ
แว่วว่าอย่างน้อยมีสิบสองทุนใหญ่กระเป๋าตังค์หนาที่พร้อมลงขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยหวังว่า ความสงบแบบฉบับเผด็จการทหาร จะบัลดาลความมั่งคั่งต่อไปข้างหน้า
กลุ่มหนึ่งคือ สามทหารเสือ กปปส. "พุทธิพงษ์ -สกลธี-ณัฏฐพล” ซึ่งได้รับการอวยยศจากสมคิดล่วงหน้าแล้ว ผ่านตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาล ในสามคนนี้ มีเพียง “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ที่ไม่ได้รับตำแหน่งจากรัฐบาล แต่มานั่งเป็นกรรมการบริหารพรรคโดยตรง กลุ่มนี้รับหน้าที่เชื่อมต่อกับพรรคลุงกำนัน และพรรคสีฟ้า ยิ่งถ้าชัยชนะเป็นของ “หมอวรงค์” ยิ่งทำให้การประสานงานเป็นไปได้ง่าย
กลุ่มหนึ่งคือ รวมพลนักการเมืองเก๋าเกมส์ ตั้งแต่ กลุ่มสามมิตร ที่นำโดย “สมศักดิ์-สุริยะ” ,ตระกูลคุณปลื้ม ไปจนถึงนักการเมืองท้องถิ่น เครือข่ายนี้ใหญ่โตกว่าที่คิด ประกอบด้วยนักการเมืองท้องถิ่นในระดับ หัวแบบ อบจ. ไปจนถึงเล็กสุดอย่าง หัว อบต. ที่จะเข้ามาเป็นกองหนุนที่สำคัญให้กับพรรคพลังประชารัฐ กลุ่มสามมิตรยังเชื่อมต่อกับนักการเมืองรุ่นเก่า ต่างพรรค ประเภทสบตาก็รู้ใจ ว่าใครอยากอยู่ในตำแหน่งกระทรวงใด-เกรดระดับใด
กองหนุนที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่ทว่าเป็นสายลมแห่งการทำงานหนักคือ บรรดาระบบข้าราชการที่จะถูกใช้งานในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งมีความเติบโตในหน้าที่การงานเป็นรางวัลตอบแทน ปฏิบัติการดูดก่อนหน้านี้ อาศัยคนมีสี ทั้งช่วยโน้มน้าว และทั้งช่วยบีบให้นักการเมืองบางคนต้องจำยอม
แม้ในการประชุมเมื่อวันก่อน ไม่ปรากฎ “หัว” สามมิตร อย่าง “สมศักดิ์-สุริยะ” เข้าร่วมประชุมงานการเมือง เพราะภาพแรกที่ “4 รัฐมนตรี” อยากให้สังคมเห็น คือภาพของเทคโนแครต ทีมสมคิด ที่เปลี่ยนสถานะมาทำงานการเมือง ถ้านักการเมืองกลุ่มเดิมเดิม มาร่วมไวเกินไป ภาพอาจทำให้มัวหมองหนักไปกว่าเดิม เพราะลำพังถูกจัดเป็นพรรคที่มาช่วยสานฝัน สืบทอดอำนาจเผด็จการ คสช.ก็นับว่าย่ำแย่มากพอแล้ว
เมื่อไม่มาด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องทำงานผ่านร่างทรงทางการเมือง
“สมศักดิ์ เทพสุทิน” ส่งน้องรักที่ไว้ใจอย่าง “อนุชา นาคาศัย” นั่งเป็นกรรมการบริหารพรรค
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ส่งหลานชาย “พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ” นั่งเป็นกรรมการบริหารพรรค
“พงศ์กวิน” จึงเป็นขุนศึกตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ คนที่สามที่ตัดสินใจเดินสู่ถนนสายการเมือง ต่อจาก “สุริยะ” ที่เข้าสู่แวดวงนี้ เมื่อทศวรรษ 2540 ตามด้วย “ธนาธร” ในปี 2561
เมื่อไล่เรียงสาแหรกทางเครือญาติ จะพบว่า “พงศ์กวิน และธนาธร” จัดอยู่ในเจนเนเรชั่นเดียวกันของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ
ปู่ และย่าของทั้งคู่ คือ “โหลยช้วง แซ่จึง” และ “บ่วยเซียง แซ่จึง”
โหลยช้วง และบ่วยเซียง แซ่จึง มีลูกด้วยกัน 5 คน
“สรรเสริญ จุฬางกูร”
“พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ”
“โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ”
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”
และ “อริสดา จึงรุ่งเรืองกิจ”
สรรเสริญ เป็นพี่ใหญ่ จึงขอเปลี่ยน แซ่จึง ให้แตกต่างจากพี่น้องคนอื่นเป็น “จุฬางกูร” ขณะที่พี่น้องอีกสี่คนใช้นามสกุลร่วมกันคือ “จึงรุ่งเรืองกิจ”
“เอก ธนาธร แห่งอนาคตใหม่” คือ บุตรชายคนโตของ “พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ”
“โฟม พงศ์กวิน แห่งพลังประชารัฐ” คือ บุตรชายคนโตของ “โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ”
อายุทั้งคู่เหลื่อมๆกันเพียงปี ถึง สองปี
ถือว่าเริ่มงานการเมืองพร้อมๆกันในวัยราว 40 ปี
จุดร่วมกันของทั้งคู่คือมีอาคนเดียวกันคือ “สุริยะ” และใช้นามสกุลเดียวกันคือ “จึงรุ่งเรืองกิจ”
สรรเสริญ และพัฒนา ทำธุรกิจชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ เฉพาะซัมมิท และไทยซัมมิท กินส่วนแบ่งตลาดในไทยกว่า 80% ขณะที่โกมลไม่ได้เดินตามพี่ชายทั้งสอง โกมลเข้าไปช่วย พี่ชายสรรเสริญ อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนหันมาทำธุรกิจหลากหลายในแบบฉบับของตัวเอง โดยมีธุรกิจรองเท้าเป็นสายเลือดหลัก
เมื่อ “สุริยะ” เรียนจบจากต่างแดน เดิมทีเขาวางแผนไปช่วยงานธุรกิจของ “พี่พัฒนา” ที่ไทยซัมมิท ในขณะที่ “พี่สรรเสริญ” ก็อยากได้น้องชายคนนี้ไปช่วยงานที่ ซัมมิทเช่นกัน
“โกมล” นั่นเอง เป็นคนช่วยตัดสินใจให้ “สุริยะ” ไปช่วยงานพี่สรรเสริญที่ซัมมิท สุริยะเข้าไปช่วยงานที่ซัมมิท ก่อนแตกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเองในที่สุด
แม้สุริยะจะไปช่วยงานพี่สรรเสริญ แต่ด้วยความที่เขาเป็นน้องรักของพี่พัฒนา ซึ่งส่งเสียตัวเขามาตลอด กระทั่งกลับมาอยู่ไทย ช่วงหนึ่งก็พักที่บ้านเก่าของพัฒนาที่สุขุมวิท เลยทำให้สุริยะ มีสายสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องทุกคน คุยกับพี่ชายคนโตก็ได้ คนรองก็ได้ คนกลางก็ได้
สายสัมพันธ์อันดี ชนิดทุนหนานี้ ผลักสุริยะ ให้ไปไกลถึงขนาดเป็น เลขาธิการพรรคไทยรักไทย พร้อมภาพจำของนายทุนใหญ่เงินหนา ที่ทำให้ ส.ส.ทุกภาคทุกก๊กให้การยอมรับ
“โกมล” มีธุรกิจหลักคือ การเป็นเจ้าของธุรกิจรองเท้า แอร์โรซอฟท์ ที่มียอดผลิตเดือนละ 2 ล้านคู่ส่งออกขายต่างประเทศเป็นหลักกว่า 70% สถานที่ตั้งของโรงงาน อยู่ติดถนนบางนา อยู่ที่หน้าโรงงานไทยซัมมิท พี่พัฒนานั่นเองที่เป็นคนจัดหาที่ดินให้น้องชายโกมล ได้ตั้งโรงงานผลิตรองเท้า
"โกมล" คือเจ้าของสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์ส ย่านรังสิต สถานที่นี้คือแหล่งรวมศูนย์คนการเมืองในกลางทศวรรษ 40 สมัยทักษิณเรืองอำนาจ ที่นี่คือพื้นที่นัดพบปะในทุกเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างแกนนำทางการเมือง พรรคไทยรักไทย หลายหนที่ปฏิบัติการดูดทางการเมืองเริ่มที่สนามกอล์ฟแห่งนี้ก่อนที่ปัจจุบัน จะเป็นแหล่งนัดพบปะทางการเมืองของกลุ่มสามมิตร
“โกมล” ยังเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะหอพักให้เช่าอีกสองหมื่นยูนิต ในย่านรังสิต
อีกหนึ่งความชำนาญ คือ การเป็นพ่อมดการเงินในตลาดหุ้น ซึ่งทำให้ถึงที่สุด ทั้งโกมล และพงศ์กวินต้องเข้าไปรับบทหนัก ในการทำให้บริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้ง
ตัดมาที่ “เสี่ยโฟม-พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ” เขาเป็นประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิล เอ็นจีเนียริงฯ (IEC) มีธุรกิจในกำกับ 4 กลุ่ม
(1) กลุ่มธุรกิจพลังงาน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ
(2) กลุ่มธุรกิจเม็ดพลาสติกจากขยะรีไซเคิล
(3) กลุ่มธุรกิจ Information and Communication Technology
(4)กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม
สื่อแห่งหนึ่งเล่าเรื่องของพงศ์กวินในฐานะผู้พลิกบริษัท IEC ที่มีวิกฤติให้กลับมาทำกำไรอีกครั้งหนึ่ง
อีกหนึ่งหมวกของ พงศ์กวิน คือ เป็นประธานฝ่ายบริหารสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์ส ซึ่งคาดว่าจะเป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับงานการเมืองอย่างคึกคักในอนาคต
แว่วว่า “พงศ์กวิน” มีสายสัมพันธ์อันดีกับ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีพาณิชย์ ในฐานะว่าที่เลขาธิการ พรรคพลังประชารัฐ
แว่วว่า “พงศ์กวิน” คือ ตัวแทนของ “อาสุริยะ” ในโผกรรมการบริหารพรรค เหมือนที่ “อนุชา นาคาศัย” คือตัวแทนของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ในโผกรรมการบริหารพรรค
การปรากฎกายของ “พงศ์กวิน” ในสนามเลือกตั้งรอบนี้ อดคิดถึง คราวปรากฎกายของ “สุริยะ” ในฐานะแกนนำของพรรคไทยรักไทยเมื่อสองทศวรรษก่อนไม่ได้ เพราะมันคือการปรากฎกายของ ทุนใหญ่ในโลกการเมือง
ในคราวนั้น “ทุนจึงรุ่งเรืองกิจ” มีผลต่อการก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทย แต่คราวนี้ “ทุนจึงรุ่งเรืองกิจ” มีผลต่อการก่อร่างสร้างพรรคหนุนทหาร
กำเนิดทางการเมืองนั้นสำคัญ เมื่อสุริยะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอุตสาหรรมก็ดี รัฐมนตรีคมนาคมก็ดี จึงถูกนายหัวชวน และเครือข่ายพรรคสีฟ้า ยิงหมัดตรงไปที่ การใช้เงินซื้อตำแหน่ง ไปจนถึง ความล้มเหลวของสุริยะของการตอบคำถามเมื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่น่าจับตาต่อไป คือ หากพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาลสมใจ แล้ว “พงศ์กวิน” ได้เป็นรัฐมนตรีมีตำแหน่ง ภาพจะซ้ำรอยอาสุริยะหรือไม่ ว่าใช้เงินซื้อตำแหน่งทางการเมือง ตรงนี้เวลาจะเป็นตัวเล่าเรื่อง
จุดตัดตรงนี้สำคัญ เพราะเป็นจุดต่างระหว่างการทำงานการเมืองในแบบฉบับ สุริยะ/พงศ์กวิน กับ ธนาธร
อีกฝ่ายคือภาพของทุนใหญ่ในทางการเมืองและภาพของการใช้เงินซื้อตำแหน่งระดับสูง แต่อีกฝ่ายหวังมีอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ปฏิเสธการใช้เงินซื้อตำแหน่ง
อีกฝ่ายเดินสายดูดนักการเมืองเข้ามาอยู่ในสังกัด แต่อีกฝ่ายปฏิเสธการดูดและประกาศชัดว่า “คะแนนเสียงกับอุดมการณ์ เป็นเรื่องเดียวกัน”
อีกฝ่ายหนุนผู้มีอำนาจ สืบทอดอำนาจไปอีกสองทศวรรษ แต่อีกฝ่ายประกาศ ทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจระบอบ คสช.
เป็นอีกหนของการสร้างดาวคนละดวง
ถือเป็น “เลือดข้นจึงจาง” เลือดคงข้น แต่ความสัมพันธ์นั้นเริ่มจาง
เพราะเป็นภาพสะท้อนว่า ไม่เพียง 1 อา 1 หลานจะเห็นต่างในวิธีทำงานการเมือง แต่เมื่อเพิ่มอีก 1 หลานเข้าไป ย่อมหมายถึงระยะห่างในตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจตามไปด้วย