งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Plants ซึ่งใช้การวิเคราะห์ผลกระทบทางสภาวะอากาศที่จะผลต่อการเพาะปลูกในอีก 80 ปีข้างหน้า และนำผลลัพธ์ที่ได้มาวิเคราะห์กับปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อประเมินถึงผลกระทบการบริโภคเบียร์และราคาเบียร์ของแต่ละชาติทั่วโลก ระบุว่า คลื่นความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นและความแห้งแล้งที่แพร่ขยายไปทั่วจะส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวบาร์เลย์ทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการผลิตเบียร์ และทำให้ผลิตเบียร์ลดลงจากการขาดแคลนส่วนประกอบดังกล่าว
ในงานวิจัยยังระบุว่า ถ้าหากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ลดลงจากปัจจุบันก็จะส่งผลต่อการบริโภคเบียร์ลดลงด้วย โดยในไอร์แลนด์เบลเยียม และสาธารณรัฐเชคการบริโภคจะลดลงถึง 1 ใน 3 ในอังกฤษการดื่มเบียร์เป็นแก้วจะลดลงถึง 1 ใน 4
ขณะที่ ภาพรวมการบริโภคเบียร์ทั่วโลกจะลดลงถึงร้อยละ 16 โดยในจีน ซึ่งเป็นตลาดของการบริโภคเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทางทีมวิจัยคาดการณ์ว่าการดื่มเบียร์จะลดลงถึงร้อยละ 9 และในออสเตรเลียจะลดลงร้อยละ 6
สำหรับผลกระทบในด้านราคานั้น งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ราคาเบียร์ในประเทศเล็กๆ บางประเทศอย่างไอร์แลนด์ เอสโตเนีย และสาธารณรัฐเชคจะได้รับผลกระทบจากราคาเบียร์มีการปรับตัวสูงขึ้นกว่า 2 เท่า และมีการคาดการณ์ว่าราคาที่สูงขึ้นนี้จะส่งผลให้ในประเทศไอร์แลนด์การบริโภคเบียร์ลดลงถึงร้อยละ 75
ศ.กวน ต้าป๋อ จากมหาวิทยาลัยอีสแองเกลีย หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ชื่นชอบเบียร์มีความทุกข์ใจ และเขาเชื่อว่าเบียร์ยังคงเป็นเครื่องดื่มที่นิยมในกลุ่ม 'ผู้ใช้แรงงาน' ซึ่งการขาดแคลนเบียร์อาจนำไปสูญเสียประสิทธิภาพในการเข้าสังคมของพวกเขาได้
ที่มา CNN / The guardian