ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามการแก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ด้วยคะแนน 211 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง โดยประเด็นที่อภิปราย 8 ประเด็นได้แก่
1. แก้ไขมาตรา 35 ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสิทธิการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, และถูกตัดสิทธิ์การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่ง นายสมชาย แสวงการ กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่าเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้ง ส.ส. และการเลือกตั้งท้องถิ่น จะถูกตัดสิทธิการลงสมัคร และออกจากตำแหน่งดังกล่าวทันที หากดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันเลือกตั้ง โดยในมาตรานี้มีการปรับปรุงถ้อยคำจากร่างของคณะกรรมาธิการร่วมให้ชัดเจนมากขึ้นโดยตัดคำว่า สิทธิ ออกจาก (1) (2) (3) และตัดคำว่าการออกจาก การ ออกจาก (4) (5) และตัดวรรค 3 ออกทั้งหมด
2. คงมาตรา 48 ตามร่างเดิม คือ หมายเลขประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นไปตามลำดับการมาสมัครที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต
3. ปรับปรุงถ้อยคำ มาตรา 62 ให้ กกต. กำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคตามขนาดของพรรค (จำนวนผู้สมัคร) เป็น S M L XL โดยไม่ใช้จำนวนหัวผู้สมัครมาคูณ
4. แก้ไข มาตรา 73 ห้ามจัดมหรสพในการหาเสียงเลือกตั้ง
5. แก้ไข มาตรา 86 กำหนดเวลาออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง 8.00-17.00 น.
6. คงมาตรา 92 ตามร่างเดิม โดยให้กรรมาการประจำหน่วยการเลือกตั้ง หรือบุคคลอื่น ทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งแทนคนพิการ ในกรณีที่ไม่สามารถทำเครื่องหมายในบัตรได้
7. คงมาตรา 133 ตามร่างเดิม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่หากพบการทุจริตตามคำร้องของ กกต.
8. ปรับปรุงถ้อยคำตามมาตรา 138 กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หากพบการทุจริตของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
โหวตฉลุย กม. ส.ว.ยึดตามเดิมเลือกไขว้ 20 กลุ่ม
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม สนช.ยังมีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเสนอมาด้วยคะแนนเสียง 202 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง โดยสาระสำคัญ คือ แก้ไขมาตรา 64 ให้ กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หากพบการทุจริตของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
และมาตรา 11, 13, 42, 43, 44 ให้ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ว. มาจากการสมัครแบบอิสระ ใน 20 กลุ่มอาชีพ และมีการคัดเลือกโดยการเลือกกันเอง และเลือกไขว้ ตามร่างเดิมของ กรธ. แต่บทเฉพาะกาลกำหนดให้การคัดเลือก ส.ว. ครั้งหน้าใช้วิธีการเลือกโดยตรงในกลุ่ม จาก 10 กลุ่มอาชีพ โดยมีผู้สมัคร 2 ประเภทคือ ผู้สมัครอิสระ และตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพ
ขณะที่ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร สมาชิก สนช. เห็นแย้งว่าบทเฉพาะกาลดังกล่าว อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่เข้าชื่อยื่นกฎหมาย ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเนื่องจากกรรมาธิการเสียงข้างมากอธิบายชัดเจนแล้ว
หลังจากนี้ สนช. จะนำร่างกฎหมาย ทั้ง 2 ฉบับ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป