(เนื้อหานี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 21 ก.ย. 2560)
กตัญญู สว่างศรี หรือ ยู คือสแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยน หน้าใหม่ ที่แนะนำตัวเองว่า เขาเป็นพนักงานบริษัทคนหนึ่งที่พักจากงานมาจัดทอล์คโชว์ แนวสแตนด์อัพ คอมเมดี้อย่างไรก็ดีเขาเคยผ่านงานพิธีกรที่หลายคนอาจจะเคยเห็นหน้ามาบ้าง รวมทั้งยังมีผลงานหนังสือเป็นของตัวเองด้วย
ในฐานะ สแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยน หน้าใหม่ที่จัดการแสดงมาค่อนข้างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านและกำลังจะมีงานแสดงครั้งใหญ่ ทีมข่าวออนไลน์ Voice TV จึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์พูดคุยเกี่ยวกับความตลก และความคิดของผู้ชายคนนี้
สแตนด์อัพ คอมเมดี้ คืออะไร ?
กตัญญู บอกกับเราว่าโดยปกติมักจะแนะนำสิ่งที่เขาทำว่า คือ ทอล์คโชว์ ส่วนคำว่า สแตนด์อัพ คอมเมดี้ นั้นจะใช้เพื่อบอกความเฉพาะเจาะจงว่านี่คือรูปแบบหนึ่งของทอล์คโชว์ที่เขาเลือกใช้ ผู้ชายคนนี้ได้ให้ความหมายว่า สแตนด์อัพ คอมเมดี้ สำหรับเขาคือ การแสดงด้วยการเล่าเรื่องบนเวทีด้วยตัวคนเดียว เพื่อให้เกิดความตลกและสนุกสนาน (กตัญญูยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การแสดงลักษณะนี้ก็ถูกพัฒนาไปหลายรูปแบบและไม่จำเป็นต้องเล่นคนเดียวบนเวทีก็ได้)
แล้วความตลกหละ คืออะไรกัน ?
สำหรับกตัญญู ความตลกคือการทำให้ตรรกะปกติที่เป็นอยู่ผิดเพี้ยน และทำลายความคาดหวังที่มักจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้คนฟังรู้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ นั้นมันเหนือกว่าหรือผิดไปจากความคาดหมาย อย่างไรก็ดีความตลกของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันไป เป็นเรื่องของรสนิยมด้วย และนั่นเองทำให้การเป็นสแตนด์อัพคอมเมดี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จำเป็นต้องพร้อมรับมือกับความชัง และการวิพากษ์วิจารณ์เสมอ กตัญญูบอกกับเราว่า การเป็นสแตนด์อัพคอมเมเดี้ยน ไม่เหมือนกับการเขียนหนังสือ เพราะคนดูมาพร้อมความคาดหวังว่าต้องตลก ถ้าไม่ตลกสำหรับเขา เขาจะวิจารณ์คุณได้ทันทีที่โชว์จบ
การก้าวกระโดดสู่เวทีขนาดใหญ่: ความยากที่ทำได้
กตัญญูเริ่มต้นจากโชว์ขนาดย่อม ๆ ที่มีผู้ชมต่อรอบไม่กี่สิบคน จนกระทั่งการจัดเวทีที่ชวนเพื่อน ๆ มาลองเป็นสแตนด์อัพคอมเมเดี้ยนกันมีผู้ชมราว 300 คน และล่าสุดกับโชว์ครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในโรงละครขนาดกว่า 1,000 ที่นั่ง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาราว 1 ปีเท่านั้น แต่สำหรับกตัญญูเองกลับมองว่านี่ไม่ใช่การก้าวกระโดดสู่การทำอะไรที่ "ใหญ่" เพราะสำหรับเขาแล้ว โชว์ทุกครั้งที่ผ่านก็คือใหญ่ที่สุดสำหรับเขาเสมอ เพราะเขาเป็นเพียงคนธรรมดาเหมือนกับคนอื่น ๆ แค่มีความต้องการจะจัดการแสดงและพยายามจัดการให้มันเกิดขึ้นจริงเท่านั้น
กตัญญูเล่าว่า การจัดงานในโรงละครครั้งนี้ก็เป็นการจับพลัดจับผลู ที่ไปเห็นโรงละครและรู้สึกอยากเล่นที่นี่มาก ถึงแม้จะรู้ว่ามันยาก แต่เขาก็ประเมินตัวเองว่ายากเกินกว่าที่เขาจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ไหม ถ้าหากมันยากแต่เขาสามารถจัดการได้ เขาก็จะลองทำมันดู กตัญญูยังให้ความเห็นอีกว่า ตนเองไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงสนใจการก้าวกระโดดมากนัก ในขณะที่ตัวเขาเองมองว่าควรจะสนใจในสิ่งที่มีคนทำให้เกิดขึ้นมากกว่า ซึ่งถ้าสามารถทำในสิ่งที่คนไม่คิดว่าจะทำได้ สิ่งนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในขณะที่หากสนใจว่าจะต้องก้าวกระโดดตั้งแต่แรก อาจถูกค่อนขอดว่าจะรีบไปไหน ทำอะไรใหญ่โตไปหรือเปล่า ก็อาจจะไม่ได้ทำสิ่งนั้นเลยก็ได้
วงการที่ไม่มีจริง ของสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้
กตัญญูกล่าวเสมอว่า เขาไม่ใช่คนหน้าใหม่ของวงการสแตนด์อัพ คอมเมดี้ เพราะว่าวงการนี้ "ไม่มีจริง" เนื่องจากมันแทบไม่มีคนเล่นและคนดูที่ขับเคลื่อนให้เกิดวงการขึ้น อย่างไรก็ดีนอกจากการเป็นสแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนด้วยตัวเองแล้ว กตัญญูก็พยายามสร้างเครือข่าย หรือที่เขาเรียกว่า คอมเมดี้ คลับ ในการชักชวนเพื่อน ๆ ที่สนใจจะมาเล่น ได้จัดเวทีให้ได้ลองกัน และเพื่อให้คนดูได้มีโอกาสรู้จักสแตนด์อัพ คอมเมดี้มากขึ้น เขายืนยันว่าเขาเป็นคนธรรมดาไม่ต่างจากคนอื่น ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรที่จะทำให้วงการนี้เกิดขึ้น เขาคงไม่สามารถถมดำให้กระดาษขาวทั้งแผ่น แต่จะเป็นจุดดำจุดหนึ่ง ที่ทำให้คนได้เริ่มเห็นมัน
เขายังบอกอีกว่า เขาไม่รู้เลยว่ากับโชว์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นนี้ เขาควรจะคาดหวังอะไร แต่หากมันพอจะประสบความสำเร็จบ้าง มันก็คงจะกลายเป็นการจุดพลุเพื่อให้หลาย ๆ คนได้เห็นว่า สแตนด์อัพ คอมเมดี้ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์ ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนที่สนใจสามารถฝึกฝนเพื่อสร้างการแสดงของตัวเองได้ และเมื่อมีคนสนใจแสดง มีการแสดงมากขึ้น คนดูก็จะได้รู้จักมันมากขึ้น และอาจจะเปลี่ยนจากสิ่งที่คนหาดูได้เพียงปีละครั้ง ไปสู่การดูได้ทุกเดือน มีความหลากหลาย เช่นเดียวกับการแสดงดนตรีสด
ความตลกกับการบ่อนเซาะอำนาจ
เราได้ลองชวนให้สแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนคนนี้ ลองนึกถึงบทบาทหน้าที่ของความตลกในสังคม และเขาก็เล่าถึงมันได้อย่างน่าสนใจ เขาเริ่มต้นจากการประกาศว่า มี "เหยื่อ" เสมอในเรื่องตลก แต่เหยื่อในเรื่องตลกสามารถเป็นได้ทั้งผู้น้อยและผู้มีอำนาจ ความตลกจึงสามารถใช้บ่อนเซาะอำนาจได้ และเราจะเห็นได้บ่อย ๆ ในทุก ๆ ที่เมื่อใครก็ตามไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจอย่างตรงไปตรงมา ด้วยตรรกะและเหตุผล เราจะ "ล้อ" มัน ด้วยการทำให้มันตลก ยูยกตัวอย่างว่า หากใครสักคนกำลังพูดอะไรอย่างจริงจัง แต่มีคนหัวเราะ คนที่พูดก็คงไม่มีความสุขหรอก เพราะเสียงหัวเราะมันไปลดทอนความจริงจัง ลดทอนความหมาย คุณค่า มูลค่า หรืออะไรก็ตามของผู้พูด
การบ่อนเซาะอำนาจที่กตัญญูพูดถึงนั้น ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงอำนาจที่ใหญ่โต แต่หมายถึงอำนาจเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย เขายกตัวอย่างด้วย อำนาจระหว่างคนซื้อและคนขายอาหารตามสั่งที่เขาเจอมาด้วยตนเอง ว่าเขาไปสั่งอาหารตามสั่งกับแม่ค้าและขอเพิ่มไข่ดาวไม่สุก สิ่งที่เขาทำแสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อมีอำนาจเหนือผู้ขาย แต่เมื่อแม่ค้าทำอาหารและนำมาเสิร์ฟ คอมเมเดี้ยนคนนี้พบว่าเขาไม่ได้ไข่ดาวไม่สุกที่เขาสั่ง แต่กลับได้เป็นไข่ดาวที่สุกทั่วทั้งหมด เขาเริ่มโกรธและโมโหเตรียมตัวโวยแม่ค้าอย่างหนัก และบอกกับแม่ค้าไปว่า ไข่ดาวนี้มันสุกทั้งหมด ไม่เป็นไปตามที่เขาสั่ง แต่แม่ค้ากลับตอบมาว่า "ก็ดีแล้วนี่ กินสุก ปลอดโรค ปลอดภัย" เพื่อนของเขาที่นั่งอยู่ด้วยถึงกับหลุดขำออกมา ซึ่งนั่นทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปทันที และแม้ว่ากตัญญูจะยังไม่พอใจอยู่แต่ก็ตลกไปกับคำตอบนั้น และก็ปล่อยเรื่องความผิดพลาดในการทำอาหารให้ผ่านไป
จากตัวอย่างที่เล่า กตัญญูบอกว่า หน้าที่อีกอย่างของเรื่องตลก คือการใช้มันเพื่อพลิกสถานการณ์ หรือปรับสถานการณ์ให้คลี่คลายไปในทางที่ตนเองต้องการได้ (หากว่าคนตลกกับมัน) ซึ่งหน้าที่นี้ของความตลกก็ถูกนำมาใช้เพื่อเลี่ยงสถานการณ์ที่จริงจังด้วย ไม่ต่างกับการเลี่ยงบาลี ซึ่งวิธีนี้คนมีอำนาจก็ใช้กัน กตัญญูยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า เสียงหัวเราะไม่เพียงแต่ใช้เลี่ยงประเด็นได้เท่านั้น แต่มันยังถูกใช้เพื่อปกปิดบางอย่างได้ด้วย เพราะว่าการพูดมันต่างจากการอ่านเอกสาร เมื่อคนเราตลกและมีอารมณ์มากขึ้นระหว่างการพูดคุย เราก็อาจจะลืมหรือข้ามประเด็นที่เราเริ่มคุยกันไว้แต่ต้นได้
เรื่องที่ไม่ตลกในบ้านเรา
กตัญญูบอกว่ามีเรื่องตลกมากมายผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อเราชวนให้เขาคิดถึงเรื่องที่ไม่ตลกเลยในช่วงเวลานี้ เขาก็บอกกับเราว่า สิ่งที่ไม่ตลกเลยก็คงจะเป็นบรรยากาศที่น่าอึดอัดในตอนนี้ และต้องตลกแบบเศร้า ๆ ต้องขำไปทั้งที่ไม่อยากขำ เพื่อผ่อนคลายในชีวิต เช่น เรื่องคำโกหกหลอกลวงที่ต้องเจอ หรือคำสัญญาที่ไม่เป็นจริง และการเลี่ยงบาลีไปเรื่อย ๆ (เขายกตัวอย่างเหล่านี้พร้อมหัวเราะเล็กน้อย)
เขายังบอกว่าสิ่งที่เขาได้ยินมาตลอดตั้งแต่เด็กว่า คนไทยอยากได้อะไรเบาสมองเพราะเครียดมามากพอแล้ว คือสิ่งที่สะท้อนภาพของคนไทย ว่าทุกคนกำลังเครียดจึงอยากผ่อนคลาย ในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้ว มีคนที่สนุก (เอ็นจอย) กับความเครียดได้และเรื่องที่เป็นจริงเป็นจังได้ ยิ่งถ้าสนุกกับความเครียดได้มากเท่าไหร่ นั่นอาจจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความเครียดในชีวิตน้อย การไปฟังเรื่องเครียด ๆ จริงจัง ๆ ได้ แสดงว่าคงต้องมีชีวิตที่พอใช้ได้ (โอเค) ระดับหนึ่ง มีชีวิตที่ผ่อนคลาย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีสวัสดิการสังคมที่ดี
"ทุกวันนี้ถ้าคุณไม่เจออะไรที่ตลกกับมันนิดนึง ในชีวิตคุณก็เครียดไปหมดแล้ว ในประเทศนี้" คือประโยคที่ช่วยสะท้อนความเป็นไปบางส่วนของสังคมไทย ผ่านมุมมองของสแตนด์อัพคอมเมเดี้ยนหน้าใหม่อย่าง กตัญญู สว่างศรี เขากำลังจะมีการแสดงครั้งใหญ่ในวันที่ 22 - 23 กันยายนนี้ และได้รับการตอบรับอย่างดี หากพิจารณาจากบัตรเข้าชมที่ถูกขายทั้งหมดแล้วหลายวันก่อนวันแสดง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่เพจเฟสบุค A - Katanyu