แต่พอเรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นพูดคุยในสังคมอีกครั้ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือท่าทีของฝ่ายรัฐที่เหมือนจะอ่อนลง และพร้อมมองกัญชาในแง่อื่นๆ ไม่ใช่แค่เป็นยาเสพติดให้โทษเพียงอย่างเดียว ดังเช่นท่าทีของ พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ที่เห็นด้วยถ้าจะมีการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์
ก่อนหน้านี้ก็มีระดับ รมว.ยุติธรรมอย่าง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ที่สั่งให้ศึกษาความเปลี่ยนไปได้ในการถอดกัญชา (รวมถึงกัญชง ใบกระท่อม และยาบ้า) ออกจากบัญชียาเสพติดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วยเหตุผลว่า ทั่วโลกได้บทสรุปแล้วว่า ปัญหายาเสพติด ทำสงครามไปก็ไม่มีวันจบ สู้ศึกษาหาวิธีใช้ประโยชน์ น่าจะมีผลดีต่อสังคมมากกว่า
“ขณะนี้ทิศทางเกี่ยวกับยาเสพติดกำลังเปลี่ยนไป หลายชาติพูดถึงการดูแลสุขภาพผู้เสพ และมีการนำยาเสพติดมาใช้รักษาอาการป่วยมากขึ้น ซึ่งแม้ยูเอ็นจะยังไม่กล้ายอมรับตรงๆ แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นมายืนยันและทิศทางการยอมรับมากกว่า 70% แล้ว”
แม้ว่า รมว.ยุติธรรมคนหลังจากนั้น จะไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนเช่น พล.อ.ไพบูลย์ แต่ก็แสดงให้เห็นสัญญาณเล็กๆ ว่าภาครัฐก็เริ่มมองเห็น “ทางเลือกอื่น” ในการจัดการกับกัญชา หรือยาเสพติดอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่คนเสพต้องตาย-คนขายต้องติดคุก
ปัจจุบันมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยรังสิต กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยค้นพบว่า ในกัญชาจะมีสารเคมีที่ชื่อว่า Cannabidiol หรือ CBD ที่มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งและบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ดี ที่สำคัญคือ “ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท” พูดง่ายๆ คือใช้ไปก็ไม่เสพติด
ขณะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เคยออกรายงานว่า สาร CBD ไม่เพียงใช้รักษามะเร็งได้ ยังสามารถนำมาใช้บำบัดอาการจากโรคลมชัก ใช้รักษาอาการโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการผลักดันกัญชาออกจากสถานะยาเสพติดเพียงอย่างเดียว เป็นเส้นทางที่ยาวไกล แม้กระทั่งหลายๆ ชาติที่มักถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ก็ยังต้องใช้เวลาในการผลักดันอยู่หลายสิบปี
ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพ แม้จะมีถึง 29 รัฐที่ให้ใช้กัญชา “ทางการแพทย์” และ 7 รัฐที่ให้ใช้เพื่อ “ความบันเทิง” ได้ แต่กฎหมายระดับชาติก็ยังถือว่ากัญชาเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และรัฐที่อนุญาตให้ใช้อย่างถูกกฎหมายก็มีข้อกำหนดที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป ห้ามเสพในที่สาธารณะ และครอบครองได้ไม่เกิน 28.5 กรัม หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ และโทษปรับจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ทำผิด
แต่กว่าที่สหรัฐฯ จะยอมให้กัญชาถูกกฎหมาย (ซึ่งก็ยังไม่ทั่วประเทศ) ก็ต้องผ่านการต่อสู้และผลักดันมาหลายสิบปี กระทั่งมีการเปลี่ยนนโยบายให้ได้อย่างถูกกฎหมายในเวลาต่อมา โดยแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกที่อนุญาตให้กัญชาในทางการแพทย์ เมื่อปี 2538
เช่นเดียวกับที่เนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองในฝันของสายปุ๊น ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 30 ปี กว่าจะยอมให้เสพแบบถูกกฎหมาย และเสพได้เฉพาะภายในร้านกาแฟเท่านั้น แถมผู้เสพจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เสพได้ไม่เกิน 5 กรัม โดยร้านกาแฟที่มีให้บริการเช่นนี้ก็มีเพียง 220 แห่งเท่านั้น
หากไปดูข้อมูลในวิกิพีเดีย แม้จะเห็นว่าหลายๆ ชาติเริ่มทำให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยข้อกำหนดยุบยับ ไม่รวมถึงอีกหลายๆ ชาติที่ยังห้ามเด็ดขาดไม่ต่างจากบ้านเรา
ที่ว่า “เสรีกัญชา” แท้จริงแล้ว ก็ยังแทบไม่มีที่ไหน เสรี 100% ยังต้องต่อสู้ผลักดันกันต่อไป เพื่อให้ได้ข้อกำหนดซึ่งเป็นที่พอใจของทุกๆ ฝ่าย
ย้อนกลับมาสู่เมืองไทย กระแสเรียกร้องให้กัญชาถูกกฎหมายเพิ่งมีขึ้นไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ยังต้องออกแรงผลักดันกันอีกไม่น้อย โดยอุปสรรคสำคัญยังอยู่ที่ความเชื่อเก่าๆ ของผู้มีอำนาจบางคนที่ยังมองกัญชาในมิติเดียวคือเป็นสารเสพติด และคิดว่าหากทำให้ถูกกฎหมายประชาชนจะไม่ยอมรับ