พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการแทน เลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. กล่าวถึงกรณีที่มิจฉาชีพพัฒนารูปแบบการหลอกลวงโดยการโอนเงินผ่านระบบเทคโนโลยีขั้นสูง และมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้ลงทุนหรือซื้อขายสินค้าด้วยคริปโตเคอเรนซี่ (cryptocurrency) หรือ เงินดิจิทัล เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดนั้น สำนักงาน ปปง. สามารถดำเนินการในการสืบสวนทางการเงินที่กระทำการฟอกเงินผ่านระบบเงินดิจิทัลได้
โดยพบว่ามิจฉาชีพใช้เงินดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ ริปเปิล หรือเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าว ถึงแม้ว่าเงินดิจิทัลจะไม่ใช่เงินจริงๆ แต่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า ซึ่งหากมิจฉาชีพนำเงินที่ได้จากการหลอกลวงผู้เสียหายไปซื้อหรือแลกเปลี่ยนเป็นบิทคอยน์ เท่ากับเป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มา เข้าองค์ประกอบความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งสำนักงาน ปปง. สามารถตรวจสอบและดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินรวมทั้งบิทคอยน์ดังกล่าวได้
นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและวางมาตรการในการจัดระบบกำกับดูแลทางการเงิน เพื่อให้สามารถรับมือมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยมีการดำเนินการเชิงรุกในการศึกษามาตรการในการกำกับดูแลผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี่ ที่มีลักษณะเป็นตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราแบบเสมือนจริง (virtual currency exchanger) ซึ่งมีความเสี่ยงในการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน
ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อกำหนดให้ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล เป็นผู้มีหน้าที่รายงานตามกฎหมายของ ปปง. โดยนำหลักการมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินมาปรับใช้ในการกำกับ virtual currency exchanger อาทิ ข้อกำหนดให้ประเมินความเสี่ยงเรื่องการฟอกเงิน กำหนดให้พิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มาแลกเปลี่ยนเงินและข้อมูลผู้รับประโยชน์ ให้รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย และให้เก็บรักษาเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการทำธุรกรรมและข้อมูลลูกค้าทั้งหมด
โดยการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. นั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการด้านป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่านั้น มิได้เป็นการรองรับหรือให้หลักประกันในทางธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนใน cryptocurrency แต่อย่างใด
ด้าน พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ประธานกรรมการ ปปง. ระบุว่า ต้องแจ้งประชาชนถึงความเสี่ยงในการลงทุนหรือซื้อขายสินค้าที่มีความผันผวนและมีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นประชาชนควรพิจารณาความเสี่ยงของในการใช้เงินดิจิทัล เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้รับรองความเป็นสกุลเงินตามกฎหมายและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และผู้ลงทุนอาจถูกหลอกลวงเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการกระทำความผิด เช่น การหลอกลวงให้ลงทุนแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น
อีกทั้ง จึงขอฝากแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการลงทุนต่างๆ โปรดอย่าหลงเชื่อผู้ชักชวนให้ลงทุนกับธุรกิจที่มีลักษณะลงทุนน้อยแต่ได้ผลประโยชน์สูง เพราะส่วนใหญ่จะมีรูปแบบใน การหลอกลวงให้ได้รับผลประโยชน์จำนวนมากในช่วงแรกที่เริ่มลงทุน ต่อมาจะมีการหยุดจ่ายและปิดกิจการโดย อ้างว่ามีผลขาดทุน เมื่อผู้ลงทุนทวงถามเงินคืนจะไม่คืนไม่สามารถติดต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือเพื่อนสนิท ญาติสนิทชักชวนก็ตาม เพราะอาจถูกขบวนการมิจฉาชีพหลอกเป็นทอด ๆ และอาจสูญเงินได้
เนื่องจากสถิติที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. ได้รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ผ่านสายด่วน ปปง. 1710 โดยมีประชาชนจำนวนมาก ถูกหลอกลวงให้ลงทุนและสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อมาได้ที่สำนักงาน ปปง. หรือสายด่วน ปปง. 1710