สำนักข่าว CNN รายงานว่าท่ามกลางกระแสความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลต่างๆในปัจจุบัน 'แบรด สมิธ' ประธานบริษัท Microsoft ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตและกรณีการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของโซเชียลมีเดียต่างๆ ในปัจจุบัน
ผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์ ชี้ว่า เมื่อบรรดาผู้ที่มีอำนาจในการควบคุมและออกคำสั่ง รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐบาล ต้องการพิจารณาเพื่อตัดสินว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งมีพฤติกรรมการผูกขาดทางการตลาดหรือไม่ พวกเขาควรที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่าบริษัทเหล่านั้นเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการมากน้อยเพียงใดด้วย
เขาอธิบายว่า วิธีการพิจารณารูปแบบเดิม เช่นการมองไปที่ตัวเลข 'ส่วนแบ่งทางการตลาด' ของแต่ละบริษัท แล้วตัดสินว่าบริษัทดังกล่าวมีพฤติกรรมผูกขาดหรือไม่ กลายเป็นวิธีที่ค่อนข้างล้าสมัยไปแล้ว แต่มาตรการดังกล่าวที่ สมิธ ได้เสนอมานั้น จะเป็นการเพ่งเล็งไปที่บริษัทใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก และ กูเกิลในทันที เพราะทั้งสองบริษัทนี้กำลังถูกสอบสวนกรณีการผูกขาดทางการตลาดจากทางการของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม สมิธมองว่าการเผชิญหน้ากับขั้นตอนการสอบสวนจากทางการนั้นคือ 'การเรียนรู้' ที่บริษัทด้านเทคโนโลยีจะได้รับ โดยตัวเขาเองก็เคยผ่านประสบการณ์นี้มาโดยตรง ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทั่วไปของบริษัท ไมโครซอฟท์ และที่ปรึกษาโดยตรงให้กับบิลล์ เกตส์ ในช่วงเวลาที่ ไมโครซอฟท์ต้องรับมือกับการสืบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาด ทางการตลาดช่วงทศวรรษ 1990s จนถึงช่วงต้นของทศวรรษ 2000s
อย่างไรก็ตาม วิธีการชั่งน้ำหนักของ 'การผูกขาด' ที่ประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ เสนอนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายวิธีการที่กระบวนการทางกฎหมายของสหรัฐฯ ควรนำมาปรับใช้ เพื่อนำไปสู่การควบคุมบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สมิธกล่าวไว้ในหนังสือ "Tools and Weapons: The Promise and the Peril of the Digital Age" ที่เขาร่วมเขียนกับผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์ อีกคนตอนหนึ่งว่า "ผมคิดว่ามีบริษัทด้านเทคโนโลยีมากมายที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลก แต่ผมก็คิดเช่นกันว่าเราควรที่จะลองกลับมาทบทวนความคิดของเราดูอีกครั้งหนึ่ง เพราะสิ่งหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือเราได้ทำสิ่งที่เรารัก และสิ่งที่เรารักนั้นได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลก ขณะที่สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำก็คือ การกลับมาถามคำถามที่ยากกับตัวเองว่า เรากำลังทำสิ่งดีๆ ให้กับโลกอยู่จริงๆ หรือเปล่า"
เมื่อกล่าวถึงประเด็น 'ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล' เขายืนยันว่าตอนนี้มนุษย์ในยุคดิจิทัลได้เดินมาถึงขั้น 'วิกฤติ' แล้ว และก็เป็นไอเดียที่ดีที่เราจะรับมือกับสถานการณ์ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในฐานะสถานการณ์ขั้นวิกฤติด้วย
ทางออกของปัญหานี้ สมิธได้เสนอไว้ว่า ผู้กำกับควบคุมความปลอดภัยของการใช้งานข้อมูลของประชาชนควรผ่านร่างกฎหมายระดับชาติว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เช่นเดียวกันกับ 'กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป' หรือ General Data Protection Regulation (GDPR) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประชาชนรู้ตัวว่าข้อมูลส่วนตัวอะไรบ้างที่กำลังถูกเก็บรวบรวมบนโลกออนไลน์ และข้อมูลของประชาชนที่ถูกเก็บไปนั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไร และในขณะที่สหรัฐฯ กำลังรอคอยกฎหมายนี้ บริษัทด้านเทคโนโลยีทุกบริษัทก็ควรเริ่มมีมาตรการของตัวเองรอไว้ได้แล้ว