เอกสารและหนังสือเก่าจำนวนมากวางกองทับซ้อนกันอยู่ กินพื้นที่ไปกว่าครึ่งห้องทำงาน บนผนังยังมีภาพขาวดำเก่าๆ ติดไว้จำนวนมาก เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซียที่มาจากหน้าปกนิตยสาร Illustration ปี 1897 มีภาพจากปฏิทินจากปี 2503 บางภาพยังมีคำบรรยายเป็นภาษาจีน เจ้าของสถานที่บอกว่าหนังสือเก่าในห้องมีเป็นแสนเล่ม
เอกสารและหนังสือเหล่านี้ 'อาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์' อาจารย์ของโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ได้สะสมด้วยตัวเองมานานหลายสิบปี ในบรรดาข้าวของที่สะสมมีทั้งหนังสือ เอกสาร จดหมายราชการ สัญญาสัมปทาน ใบเสร็จรับเงิน โปสการ์ด ประกาศ คู่มือการทำงาน ใบโฆษณา ภาพเก่าของบุคคล ครอบครัว องค์กร อีกยังมีฟิล์มหรือหนังเก่า แผ่นเสียง ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องราวของสงขลาและภาคใต้ ทั้งหมดเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานบอกเล่าวิถีชีวิตและอดีตของผู้คนในพื้นที่นี้ทั้งสิ้น
เอกสารเก่าแผ่นเล็กๆ จำนวนหนึ่งเป็นของสำนักงานโฆษณาการพิมพ์เมื่อปี 2481 เชื้อเชิญคนให้ไปเลือกตั้งโดยแต่งขึ้นเป็นบทสนทนาระหว่างเพื่อน
นายคง รักไทย: “เพราะเหตุใดแกจึงแนะนำกันให้ไปลงคะแนนเลือกตั้ง กันไม่ไปก็ได้ไม่ใช่หรือ”
นายมั่น ชูชาติ: “เอ้า! แกก็ยังไม่เข้าใจดี ขอให้กันอธิบายสักเล็กน้อย เมื่อประเทศเราได้มีรัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว การปกครองบ้านเมืองก็จะต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากของประชาชน เสียงของประชาชนเช่นว่านี้ต้องแสดงโดยทางผู้แทนราษฎรที่เราเลือกไปเป็นสมาชิกของสภาผู้แทน”
กระดาษอีกแผ่นเป็นสาสน์ของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ให้ไว้เนื่องในโอกาสฉลองวันสหประชาชาติ พ.ศ. 2492 กล่าวถึงความสำคัญของยูเอ็นในฐานะองค์กรระหว่างประเทศผู้รักษาสันติภาพที่ไทยควรสนับสนุน โดยเฉพาะในภาวะที่สันติภาพของโลกยังง่อนแง่น จอมพลแปลกได้อุปมาอุปไมยเรื่องของการสนับสนุนยูเอ็นในสภาพที่ยูเอ็นยังไม่แข็งแกร่งพอว่า
“การที่มีผู้พยายามหลีกเลี่ยงและละเมิดบทกฎหมาย ไม่ควรถือว่าบทกฎหมายเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ฉันใด การที่สหประชาชาติยังพบอุปสรรคขัดขวางการดำเนินงานอยู่บ้าง จะถือเป็นข้อตำหนิองค์การเองไม่ได้ ฉันนั้น”
ในบรรดากองเอกสาร มีโปสการ์ดรูปเรือเดินทะเลชื่อ Songkla (สงขลา) ที่ระบุว่าเป็นของบริษัทอีสต์เอเชียติก อันเป็นบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่ของดัชต์ที่มีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงราวร้อยปีที่แล้ว และมีประวัติทำการค้ากับภูมิภาคนี้เนิ่นนาน เมื่อตรวจสอบกับเว็บไซต์ของบริษัทพบว่า อีสต์เอเชียติกเคยมีเรือขนส่งสินค้าชื่อไทยหลายลำ ในบรรดานั้นมีเรือ 'สงขลา' อยู่จริง เรือนี้ต่อขึ้นปี 1953 หรือ พ.ศ. 2496 มีระวางขับน้ำ 8,627 ตัน เว็บไซต์ระบุว่าต่อมาบริษัทขายให้สิงคโปร์ไปในปี 1974 และสิงคโปร์เปลี่ยนชื่อไปเป็น Paclog Sealink
นอกจากนี้ยังมีแผนที่มณฑลเขตปกครอง เช่น ภูเก็ต มณฑลปัตตานี ซึ่งในแผนที่เหล่านี้ยังมีหมุดหมายระบุที่ตั้งของ 'ศาลารัฐบาลมณฑล' ที่ใช้ตัวย่อว่า ศ.ร. ในแผนที่มณฑลปัตตานียังเรียกตันหยงมัสว่า 'ตันหยงมัซ' ยังมีจดหมายราชการในเรื่องการมอบสัมปทานทำเหมืองแร่ดีบุกในปัตตานี
หนึ่งในหนังสือเก่าจำนวนมากเป็นหนังสือที่ผลิตโดยกองอำนวยการฝึกร่วม 'ทักษิณ 13' ที่เป็นเอกสารให้กับทหารที่เข้าร่วมฝึกรบได้รู้จักปัตตานี สงขลา และพื้นที่ใกล้เคียง มีคำแนะนำสถานที่ วัฒนธรรม หน้าแรกของคู่มือระบุว่า “ทหารทุกคนต้องไม่ลืมว่า ทหาร คือมิตรของประชาชน” หนังสือนี้ไม่บอกปีที่พิมพ์ แต่คาดว่าน่าจะอยู่ประมาณปี 2513 ระบุข้อควรปฏิบัติหลายประการ เช่น “1 อย่าเรียกคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามว่า 'แขก' หรือ 'มลายู' 2 อย่าดื่มสุราจนมึนเมา สังคมชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ดื่มสุรา”
ข้อไม่ควรทำยังมีอีก เช่น ไม่ควรพูดจาล้อเลียนสำเนียงท้องถิ่น ไม่ทำในสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจชาวบ้าน ให้แสดงความเคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และ “จงระลึกเสมอว่า ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งหลายนั้นก็เป็นคนไทยเช่นเดียวกับตัวท่านเอง” ท้ายหนังสือยังมีศัพท์ภาษามลายูพื้นถิ่นแนะนำอีกหลายหน้าด้วยกัน
เอกสารที่มีจำนวนมากนั้นมีทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ กระดาษแผ่นเล็กๆ แผ่นหนึ่งบ่งบอกวิธีปรุง 'บุหงา 7 ราตรี' เพื่อให้ดอกไม้หอมทนนานหลายวัน ใช้เป็นของชำร่วยแจกจ่ายในงานมงคลได้
น้อยคนที่จะรู้เรื่องเอกสารเหล่านี้ หนึ่งในคนที่หยิบเรื่องราวไปเล่าต่อ คือ 'เอนก นาวิกมูล' เจ้าของงานเขียนจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของเมืองไทย คุณค่าของงานสะสมเหล่านี้ทำให้ได้รับการยอมรับให้ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำโลกของประเทศไทยส่วนท้องถิ่น เมื่อปี 2559 โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติหรือยูเนสโก ซึ่งเห็นความสำคัญของการมีคลังข้อมูลที่สำคัญต่อท้องถิ่นเช่นนี้ ด้านอาจารย์จรัสเองบอกว่าที่สะสมมาจนถึงขณะนี้นั้นเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ
“ผมเริ่มสะสมสแตมป์ก่อน” เขาว่า เก็บแสตมป์ตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถมศึกษา มันกลายเป็นงานอดิเรกที่เพิ่มพูนเครือข่ายและความรู้ เพราะได้ต่อยอดหาความรู้จากสแตมป์ ได้แลกเปลี่ยนกันนักสะสมด้วยกัน ทั้งยังได้รู้ด้วยว่า เมื่อสะสมไปได้ระยะหนึ่ง ของที่สะสมมีความหมาย ทั้งยังมีมูลค่า ยิ่งสะสมยิ่งขยายวง จากสแตมป์ร่วมสมัยก็ขยายไปสู่สแตมป์เก่า ไปสู่รูปภาพ แล้วขยายวงออกไป จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ทำให้สะสมเอกสาร หนังสือเก่าและภาพเก่าก็คือความต้องการจะเก็บเรื่องราวที่เป็นประวัติของโรงเรียนวชิราวุธอันเป็นโรงเรียนที่อาจารย์จรัสสอนอยู่ แต่แล้วทั้งความสนใจและโอกาสก็ขยายวงออกไปนอกเรื่องราวของโรงเรียน ไปสู่ชุมชน เมืองและภาพรวมของสังคมวงกว้าง
ภาพเก่าจำนวนหนึ่งเป็นภาพที่ได้มาจากการตามรอยการเดินทางเข้าพื้นที่ของบุคคลสำคัญ เช่น การเสด็จประพาสสงขลาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีถึงแปดครั้งด้วยกัน และรัชกาลที่ 6 ที่เสด็จเยือนมณฑลปักษ์ใต้ แน่นอนว่าแต่ละครั้งมีช่างภาพหลวงถ่ายภาพเอาไว้จำนวนไม่น้อย ภาพเหล่านี้กลายเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งของสภาพบ้านเมืองและผู้คนในยุคสมัยนั้น
อาจารย์จรัสระบุว่า ยังมีอีกแหล่งหนึ่งที่น่าสนใจในระยะหลัง คือ การที่มีผู้นำภาพเก่ามาประมูลในเว็บไซต์ต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว หลังจากที่เริ่มเก็บสะสมจนมีผู้รู้ข่าวนี้ เนื่องจากการบอกเล่าแบบปากต่อปาก ก็ได้มีบรรดาผู้คนนำเอารูปภาพเก่าๆ มามอบให้ บางทีก็เป็นรูปขององค์กรหรือสถาบัน บ้างก็เป็นรูปของครอบครัวหรือตระกูลต่างๆ แต่บางทีก็ต้องไปค้นหาและใช้เวลานาน เช่น ภาพเก่าๆ ที่เป็นอดีตบ่งบอกความเป็นเมืองของสงขลาจำนวนหนึ่งนั้น อาจารย์จรัสไปค้นหาถึงหอจดหมายเหตุก็มี
ในยุคสมัยหนึ่งมีภาพถ่ายในพื้นที่จำนวนมากซึ่งมาจากบรรดาร้านถ่ายรูปในสงขลา อาจารย์จรัสเล่าว่าในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 เริ่มมีร้านถ่ายรูปเริ่มเปิดให้บริการในเมือง ร้านเหล่านี้ถ่ายรูปและอัดออกมาจำหน่าย เช่น ร้านที่เป็นที่รู้จัก คือ ร้านบ้านเฮง จำหน่ายโปสการ์ด ส.ค.ส. ที่ส่วนใหญ่จะเป็นภาพสถานที่ ทิวทัศน์และบุคคล ยังมีร้านชื่อ 'ฉายาสงขลา' อีกร้านหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นภาพขาวดำ มีคนซื้อและส่งไปให้บุคคลที่รู้จัก มีร้านถ่ายรูปบางร้านใช้เทคนิคซ้อนภาพซึ่งดูเหมือนจะได้รับความนิยมอยู่พักใหญ่ ร้านที่เขาจำชื่อได้คือร้าน 'ฉายาแหลมหิน' ซึ่งเจ้าของเป็นคนกรุงเทพฯ
สงขลาในยุคนั้นเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองชายทะเลที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ผู้คนที่ไปเที่ยวก็จะซื้อบรรดาภาพโปสการ์ดเหล่านั้นเป็นที่ระลึก เมืองมีสภาพเป็นแหล่งของกินของใช้ นอกจากนั้นในบรรดาเอกสารเก่าปรากฎว่ามีใบเสร็จจากบรรดาร้านค้ามาด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงระดับของการทำธุรกิจของผู้คนในเมือ
อาจารย์จรัสเล่าว่า สงขลาเป็นเมืองการค้ามานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดโปสการ์ดเรือ 'สงขลา' ของบริษัทอีสเอเชียติกก็เป็นเครื่องพิสูจน์เรื่องการมีเรือนำของจากต่างประเทศเข้าสู่สงขลา ในขณะที่สภาพภูมิศาสตร์ของเมืองที่เป็นทะเลสาบก็ทำให้มีที่หลบลมทะเล จึงมีผู้คนรวมทั้งชาวต่างชาติจำนวนมากเข้าไปทำธุรกิจค้าขาย สงขลาจะเป็นที่ที่ผู้คนได้พบกับสินค้าใหม่ๆ จากต่างประเทศ จากหลักฐานพบว่ามีร้านค้าผ้าที่เฟื่องฟูมากทั้งของชาวอินเดีย บังคลาเทศ ชาวจีน เมืองยังมีตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีคนหลายชาติไปทำมาค้าขาย ทั้งคนจีน อินเดีย ไทย มุสลิม คริสต์ แต่คนในพื้นที่ใกล้เคียงยังทำอาชีพอื่นด้วย เช่น การเกษตร ทอผ้า ทำน้ำตาลโตนด น้ำตาลแว่น ทำการประมง
“ความสำคัญของการเป็นเมืองค้าขายลดลงเมื่อเทคโนโลยีบางอย่างเข้ามา เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีแทนคน คนก็ไปสนใจเรื่องเครื่องจักรเครื่องมือ คอมพิวเตอร์ก็มา การประกอบอาชีพก็เปลี่ยน” อาจารย์จรัสว่า พอถึงปี 2500 บรรดาร้านถ่ายรูปก็เริ่มปิดตัวลง
อาจารย์จรัสยอมรับว่ายังมีงานอีกมากในอันที่จะต้องจัดการวางระบบของที่มีอยู่ในมือ ขณะนี้เขาใช้เวลาส่วนตัวนอกเหนือจากการสอนไปจัดระบบเอกสารและสแกนให้เป็นดิจิทัล ห้องเก็บเอกสารของเขาจึงไม่ได้เป็นหอจดหมายเหตุอย่างเต็มรูปแบบ แต่เชื่อมโยงเข้ากับหอจดหมายเหตุของท้องถิ่น มันเป็นความรักในข้อมูลและของเก่าส่วนตัวที่ผลักดันให้เขาเดินหน้ามาจนถึงขณะนี้ เขายืนยันว่าความรู้และข้อมูลนี้มีเอาไว้เพื่อแบ่งปันกัน เอกสาร หนังสือเก่าทั้งหลายที่สะสมไว้ยินดีเปิดให้ใครก็ตามที่ต้องการจะนำไปใช้ประโยชน์หยิบยืมได้
จรัส จันทร์พรหมรัตน์ ไม่ได้เป็นคนเดียวที่หลงใหลในของเก่า สงขลานั้นอันที่จริงเต็มไปด้วยคนที่ชื่นชอบเรื่องราวในอดีต ในเมืองมีตลาดของเก่าขนาดใหญ่เปิดขายทุกวันอาทิตย์ พื้นที่เมืองเก่าของสงขลาก็มีผู้ผลักดันอยากให้เป็นมรดกโลก ในแต่ละมุมของเมืองมีของเก่าให้เห็นมากมาย แม้แต่การเปิดบ้านเก่าให้เข้าชม แต่ข้อมูลจำนวนหนึ่งที่จะทำให้เมืองเก่านี้มีชีวิตดูเหมือนจะยังคงติดอยู่ในห้องเก็บเอกสารของอาจารย์จรัสนั่นเอง