ไม่พบผลการค้นหา
โตเกียวโอลิมปิกวุ่น เจ้าหน้าที่ติดโควิดพุ่ง 71 ราย ก่อนเปิดฉากแข่ง ผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกิด 'สายพันธุ์โอลิมปิก'

คณะกรรมาธิการจัดการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียวเปิดเผยว่า ขณะนี้พบรายงานเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันติดเชื้อโควิดแล้ว 71 ราย เพียงไม่กี่วันก่อนหน้าที่จะมีพิธีเปิดการแข่งขันในวันที่ 23 ก.ค. นี้ โดยรายงานระบุว่าในจำนวนดังกล่าวมี 31 รายที่เป็นชาวต่างชาติซึ่งเดินทางมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันโอลิมปิก และคาดว่าจะมีผู้คนอีกนับหมื่นที่เตรียมเดินทางมาร่วมพิธีเปิดและการแข่งขัน

โตเกียวโอลิมปิกปีนี้ ทางคณะผู้จัดงานไม่ได้อนุญาตให้มีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชมการแข่งขันหรือชมพิธีเปิดในสนาม โดยพิธีเปิดจะมีเพียงการแสดงและขบวนนักกีฬาเท่านั้น ขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี ท่ามกลางแขกบุคคลสำคัญจากนานาชาติที่เข้าร่วมอย่างจำกัดเท่านั้น จำนวนนี้มีระดับผู้นำประเทศเพียง 15 ชาติที่ตอบรับเดินทางมาร่วมพิธีเปิด น้อยกว่าคราวการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร เมื่อปี 2559 ที่มีผู้นำระดับประมุข 40 ชาติที่เข้าร่วม

โตเกียว โอลิมปิก ญี่ปุ่น

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันแม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่ตัวเลขดังกล่าวได้สร้างความกังวลอย่างมาก หลังจากที่มีกระแสคัดค้านจากภาคประชาชน เช่นเดียวกับในกรุงโตเกียวที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 4 ในเมืองหลวงเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

แม้จะไม่ได้มีข้อบังคับให้นักกีฬาต้องฉีดวัคซีนก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน แต่โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า นักกีฬาหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องที่จะพำนักในหมู่บ้านนักกีฬาราว 85% ต้องฉีดวัคซีนโควิดก่อนเดินทางมาญี่ปุ่น ส่วนสมาชิกไอโอซีเกือบทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

โตเกียว_AFP

ปัจจุบันกรุงโตเกียวยังคงอยู่ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินรอบที่ 4 ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในหลักพัน ตลอดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่ามกลางความคิดเห็นจากประชาชนที่แสดงความกังวลต่อการจัดการแข่งขัน บางส่วนแสดงความคัดค้านการเดินหน้าจัดแข่งโอลิมปิก จนเป็นเหตุให้สปอนเซอร์โฆษณารายใหญ่ของโตเกียวโอลิมปิกอย่าง บริษัทรถยนต์โตโยต้า ประกาศถอดโฆษณาเพราะเกรงจะได้รับผลกระทบจากเสียงวิจารณ์ของสาธารณชน แม้ทาง IOC จะยืนยันว่ามีมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวดตั้งแต่ก่อนนักกีฬาเดินทางมาถึง ตลอดจนการให้ทีมนักกีฬาเดินทางออกจากญี่ปุ่นทันทีภายใน 48 ชั่วโมงหลังการแข่งขันเสร็จ

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดยังแสดงความหวั่นวิตกด้วยว่า การเดินหน้าจัดการแข่งมหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งนี้ อาจนำมาซึ่งแหล่งแพร่กระจายเชื้อระดับซูเปอร์สเปรดเดอร์ของไวรัสสายพันธุ์เดลตา หรืออาจนำไปสู่การก่อให้เกิดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ก่อนหน้านี้ช่วงปลายเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา นาโอโตะ อุเอะยามะ ประธานสมาคมแพทย์ญี่ปุ่น ได้ออกมาเตือนว่า การเดินหน้าจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอาจนำไปสู่การเกิดไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอลิมปิกได้ โดยเขาอธิบายว่า การที่ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมารวมตัวกัน ซึ่งอาจนำไวรัสโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์จากสถานที่ต่าง ๆ จะมารวมกันที่โตเกียว และไม่อาจปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเกิดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จากการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งจะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ และการแข่งขันนี้อาจกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกหลายปี

โตเกียว โอลิมปิก ญี่ปุ่น


'โตเกียวโอลิมปิก' อาจได้ไม่คุ้มเสีย ?

การที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ฟังเสียงคัดค้านประชาชนเดินหน้าจัดกีฬาโอลิมปิกนั้น นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์หลายรายมองว่าอาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลหวังให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่ซบเซามานาน แต่เมื่อพบการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ทุกอย่างจึงเปลี่ยนไป สำหรับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลนั้น อาจถือว่าคุ้มเพราะแม้จะขาดรายได้จากการเข้าชมการแข่งขันในสนาม แต่ไอโซี ยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งคิดเป็นถึง 70% ของรายได้ทั้งหมดที่ไอโอซีได้รับ

สวนทางกับชาติเจ้าภาพที่ไม่คุ้มกับการเดินหน้าจัดงาน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวที่หวังไว้ก็ไม่ได้ดังหวัง แถมยังเสี่ยงกับการระบาดที่อาจคุมไม่อยู่ แต่หากรัฐบาลจะยกเลิกการแข่งขันโดยที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลไม่เห็นด้วยนั้น รัฐบาลโตเกียวซึ่งทุ่มเงินเตรียมจัดงานนี้ไปอย่างมหาศาลนั้น จะต้องชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ให้กับไอโอซี 

งานนี้ "โอลิมปิกโตเกียว 2020" ซึ่งเลื่อนมาจัดปี 2021 จะปัง หรือ พัง นั้น '23 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม' ทั่วโลกจะได้เป็นสักขีพยานร่วมกัน