ไม่พบผลการค้นหา
‘ก้าวไกล‘ จี้ ’รัฐบาล‘ เร่งกล้าตัดสินใจไปต่อหรือพอแค่นี้ ปมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หวั่นซ้ำรอยโฮปเวลล์ ลั่น หากโครงการนี้ไปต่อไม่ไหว ก็อย่าให้นายทุน เอาปชช.เป็นตัวประกัน

3 เม.ย. เวลา 15.55 น. นายสุรเชษฐ์​ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่า มีการเซ็นสัญญากันไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เซ็นสัญญากันมาแล้ว 5 ปีแต่ทุกวันนี้ยังนิ่งอยู่ โดยโครงการนี้มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 คน แต่ใครกันแน่ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นการให้สัมปทานกับเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost 50 ปี ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน มีการแบ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่เซ็นสัญญากันแล้วรัฐจะมีหน้าที่อุ้มอย่างเดียว ส่วนคำว่า Net Cost คือการให้เอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยง เนื้องานหลักในสัมปทานคือการผูกงาน 2 ก้อนใหญ่ไว้ด้วยกันคืองานรถไฟกับงานพัฒนาพื้นที่ 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับงานรถไฟแบ่งเป็น 3 ท่อน คือ ท่อนที่ 1 จากสถานีพญาไทไปสถานีสุวรรณภูมิ หรือโครงการแอร์พอร์ตเรียลลิงก์ ท่อนที่ 2 คือการสร้างส่วนต่อขยายฝั่งตะวันตกจากสถานีพญาไทไปสถานีดอนเมือง และท่อนที่ 3 คือการสร้างส่วนต่อขยายฝั่งตะวันออกจากสถานีสุวรรณภูมิไปสถานีอู่ตะเภา ซึ่งรัฐบาลก็เล็งแต่จะขายจุดเด่นที่เชื่อมต่อ 3 สนามบินโดยไม่สนใจความสมเหตุสมผลของโครงการนี้ เราจะเชื่อมต่อไปทำไม 3 สนามบิน เพราะปกติเขาจะเชื่อมต่อกับเทอร์มินอร์ภายในสนามบิน แต่ก็ลากกันไปเรื่อยจึงนำมาซึ่งปัญหาต้นทุนและโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีนที่คารังคาซังแก้ไม่จบ ส่วนงานเรื่องการพัฒนาพื้นที่ที่ดินมักกะสัน 141 ไร่กลางใจเมือง และที่ดินศรีราชา 25 ไร่ โดยมีเงินลงทุนจากเอกชน 1.1 แสนล้านบาท และรัฐร่วมลงทุนอีก 1.6 แสนล้านบาท ถือเป็นโครงการที่รัฐลงทุนจำนวนมากกว่าโครงการอื่นใดใน EEC ที่มีการขายฝันเกินจริงกันไปมาก แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการปักเสา แต่ก็ยังมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้น 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ความล่าช้าของโครงการ EEC อยู่ที่การเลื่อน NTP หรือ Notice To Proceed แปลว่าหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน ซึ่งจะมีผลต่อการเริ่มงานก่อสร้างและนับระยะเวลา 50 ปี ซึ่งการเลื่อน NTP ส่งผลให้การบริหารจัดการแอร์พอร์ตเรียลลิงก์มีปัญหา จึงทำให้ต้องหาทางออกด้วยการทำ MOU ขยายบันทึกข้อตกลงกันไปเรื่อยจนทำให้จะไปสิ้นสุดที่วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 หากไม่มีอะไรมาเซอร์ไพ้ร์สก็คงจะเริ่มก่อสร้างเดือนมิถุนายน โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปีและเอกชนได้สิทธิในการทำมาหากินไปอีก 45 ปี รวมเป็น 50 ปีนับตั้งแต่วันที่ออก NTP ซึ่งการเลื่อน NTP ดังกล่าวทำให้โครงการมีปัญหาแน่ ระบบรถไฟไหนทั้งเอกชนและรัฐก็ต่างตอบว่าไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ รู้แค่อยากได้รถไฟความเร็วสูงกันใหญ่ รุ่นไหนของประเทศใดก็ไม่ระบุในสัมปทาน นี่หรืสัมปทานโครงการระดับแสนล้านของประเทศ พวกท่านเล่นอะไรกันอยู่

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การออก NTP ทำให้โครงการดำเนินต่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับเอกชน เงื่อนไขในการออก NTP มี 3 ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 1. และข้อที่ 2. เป็นเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาจริงมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้วที่ไม่ได้ดูเรื่องโฉนดก่อนเซ็นสัมปทาน และหากโครงการนี้จะเริ่มก็สามารถเริ่มได้เลย ทั้งนี้ รฟฟ. และ สกพอ.ก็ยืนยันในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามงบฯ ว่าพร้อมให้เริ่มแต่เป็นเอกชนที่ไม่อยากเริ่ม เงื่อนงำที่น่าสนใจแสดงไว้ในข้อที่ 3. เพราะมีการเขียนว่าเอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับรถไฟ การที่รัฐจะออก NTP ได้ขึ้นอยู่กับ BOI หรือ หากเป็นเช่นนี้เอกชนก็เลือกจังหวะเล่นได้ตามใจใช่หรือไม่ ไม่อยากรีบสร้างก็ดึงเวลาไว้ด้วยการส่งเอกสารช้าๆ สาระสำคัญจึงอยู่ที่เงื่อนงำความอยากให้ช้าให้ออก NTP ไม่ได้สักที ทำให้โครงการไม่มีวี่แววได้สร้างจริงสักที

“โครงการนี้มีความน่าเป็นห่วง และคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก็รู้ตัวกันดีว่าโครงการมีปัญหาแต่ก็อยู่ในสภาพต่างคนต่างพูดไม่ออก ชาวบ้านอย่างเราก็สังเกตไม่ยากเพราะมีการเซ็นสัญญามาตั้งแต่ปี 62 แต่ตอนนี้กลับยังไม่มีแม้แต่การตอกเสาเข็ม ต้องมีอะไรผิดพลาด และตอนนี้คู่สัญญามีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ 1.เลิกกันวันนี้ เพราะหากคุยกันดีๆ ก็จะเจ็บกันน้อยทั้ง 2 ฝ่าย หากกลับลำกันวันนี้ก็คุยกันได้ แต่หากไม่กลับลำกันวันนี้ก็จะมีค่าก่อสร้างนับแสนล้านบาท จะยิ่งเจ็บหนัก และ 2.หากไม่เลิกกันวันนี้ก็จะมีแต่คนเจ็บเจียนตาย จะมีการฟ้องร้องกันไปมา สุดท้ายโครงการก็จะเลื่อนแล้วเลื่อนอีก สร้างไม่เสร็จสักที และประเทศก็จะเสียโอกาสในการพัฒนา หากรัฐบาลยังหลับหูหลับตา เดินต่อไปโดยไม่สนใจความคุ้มค่าของโครงการก็มีโอกาสสูงที่ประวัติศาสตร์ตอม่อโฮปเวลล์จะซ้ำรอย” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินมีความคล้ายกับโครงการโฮปเวลล์ เพียงแค่ยังไม่เริ่มงานจริง ยังพอมีโอกาสกลับตัวได้โดยไม่เจ็บนัก จุดศูนย์กลางอยู่ที่ความไม่สมเหตุสมผลของงโครงการแต่มีแรงผลักดันให้เกิด คนมีอำนาจตัดสินใจก็ดันไม่รู้เรื่องว่าเขาปั้นตัวเลขปั่นโครงการมาอย่างไร สนใจแค่การปันผลประโยชน์ตอนเซ็นอนุมัติ สุดท้ายเมื่อเจ้าของเงินตัวรู้ตัวว่าไม่คุ้มทุนแน่ทุกอย่างก็จะชะงัก โครงการไม่เกิดแต่ปัญหาเกิด และการรถไฟต้องเลื่อนไปทำโครงการใหม่ที่ในสมัยนี้รู้จักกันในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงแทน ดังนั้น สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจได้แล้วว่าควรจะไปต่อหรือพอแค่นี้ 

“วันที่ 22 พฤษภาคมนี้กำลังจะครบกำหนดไม่สามารถเลื่อนได้อีกแล้ว เพราะครบ 3 เลื่อนและอย่าพยายามหาช่องว่างทางกฎหมายอื่นมาเลื่อนอีก ท่านต้องกล้าตัดสินใจ เตรียมแพลนบีเอาไว้ให้ดีด้วย หากโครงการนี้ไปต่อไม่ไหวก็อย่าให้นายทุนมาเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน และอย่าปล่อยให้เกิดก่อสร้างเพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งนี้ เรามีรถไฟทางคู่ไปถึงศรีราชาอยู่แล้ว ทำไมเราจึงไม่หารถไฟดีๆ ไปวิ่ง เพราะสามารถทำได้เลย เมื่อรัฐบาลที่แล้วพลาดมาถึงรัฐบาลชุดนี้แล้ว ข้อเสนอถึงรัฐบาลชุดนี้คือต้องเลิกยื้อเวลาแล้วกล้าตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรต่อ และอย่าเอื้อประโยชน์ด้วยการแก้ไขสัญญาอย่างน่าเกียจ รวมถึงทบทวนแผนงานโครงการของระบบรถไฟความเร็วสูงให้ดี” นายสุรเชษฐ์ กล่าว