ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติงบกลาง 2,995.95 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับโควิด19 ระหว่าง ก.ค. 64- มิ.ย. 65

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ส.ค. 66 ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 2,995.95 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือน ก.ค. 64- มิ.ย. 65 ของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขและนอกสาธารณสุข รวม 8 หน่วยงาน ดังนี้

1)กระทรวงสาธารณสุข 1,362.77 ล้านบาท 2)กระทรวงการอุดมศึกษาฯ 561.46 ล้านบาท 3)กระทรวงกลาโหม 385.10 ล้านบาท 4)กระทรวงมหาดไทย 420.39 ล้านบาท 5)กระทรวงยุติธรรม 92.16 ล้านบาท 6)สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 52.16 ล้านบาท 7)สภากาชาดไทย 111.78 ล้านบาท และ 8) โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 10.13 ล้านบาท

ไตรศุลี กล่าวว่า ความจำเป็นของเรื่องที่นี้เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อโควิด19 พบว่ายังมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขค้างจ่ายในปีงบประมาณ 2564-64 ของหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนอกสถานพยาบาล ดังนั้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด 19 ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องเสนอเรื่องให้มีการอนุมัติในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบกลางให้ในวงเงิน 2,995.95 ล้านบาทในครั้งนี้เป็นกรณีค่าเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานช่วง ก.ค. 64-มิ.ย. 65 จะมีส่วนของค่าเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานช่วง มิ.ย.-ก.ย. 65 อีก 3,745.64 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขจะขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในลำดับต่อไป

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี ยังมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย(ฉบับที่..) พ.ศ..... ปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายพ.ศ.2563 จากเดิม 50,000 บาท เป็น 65,000 บาท และแก้เงื่อนไขลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ จากเดิมบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เป็นบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงและช่วยให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ลดความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง 

ร่างกฎกระทรวงนี้ ยังครอบคลุมผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บจนเกิด ภาวะไม่รู้สึกตัว หรืออัมพาตที่มีค่าใช้จ่ายสูงสามารถเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงข้อนี้ได้ เช่น อาการบาดเจ็บที่มีลักษณะ หรือการรักษา ดังต่อไปนี้ 

(1) การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะจนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน ตามปกติเกินกว่า 20 วัน 

(2) กรณีศีรษะบาดเจ็บรุนแรง แต่อาจไม่ต้องผ่าตัดหรือไม่อาจผ่าตัดได้ เช่น กะโหลกศีรษะ แตกจนมีเลือดออกในช่องสมอง บางรายอาจผ่าตัดไม่ได้ หรือไม่ต้องผ่าตัด 

(3) กรณีตกจากที่สูงมีเลือดคั่งในสมองแต่ไม่ต้องผ่าตัด นอนรักษาในห้องดูแล ผู้ป่วยหนัก (ICU) จำนวน 3 คืน มีเลือดออกในช่องท้องและไม่ต้องผ่าตัด ซี่โครงหักหลายซี่ มีเลือดในช่องอกเล็กน้อย หายใจขัดเล็กน้อย ไม่ผ่าตัด

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีวิธีการรักษาการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เช่น การเจาะกะโหลกศีรษะเพื่อระบายเลือด และน้ำในสมองออก หรือการรักษาด้วยยาอาจมีค่าใช้จ่ายสูงได้ หากต้องมีการสังเกตอาการ ในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Units หรือ ICU) เป็นระยะเวลานาน ซึ่งวงเงินเดิมที่ 50,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้น การปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างในการได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเหมาะสมแก่อันตราย หรือความเจ็บป่วยเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง

โดยกระทรวงแรงงาน ได้ประมาณการผลกระทบต่อสถานะของกองทุนเงินทดแทนที่เพิ่มขึ้น รายจ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลระหว่างปี 2566-2567 ประมาณ 2,270 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความตั้งใจสร้างความเป็นธรรม ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะด้านค่ารักษาพยาบาลถือเป็นของขวัญวันแม่ให้กับนายจ้าง ลูกจ้างทั่วประเทศด้วย