ไม่พบผลการค้นหา
พาณิชย์ร่ายมาตรการนำเข้าข้าวสาลี ลดผลกระทบผู้ประกอบการอาหาร-เบเกอรี่ แจงปมปัจจุบันยังไม่มีแยกพิกัดนำเข้าข้าวสาลีระหว่างอาหารคน -อาหารสัตว์ ย้ำอยู่ระหว่างแก้ปัญหาหวังรักษาเสถียรภาพราคาอุ้มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่มีผู้กล่าวว่า กระทรวงคลัง และ กระทรวงพาณิชย์ เพิกเฉยต่อการจัดเก็บภาษีนำเข้าพืชเศรษฐกิจจากต่างประเทศเข้าข่ายเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่นั้น กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงว่า ไทยได้ผูกพันภาษีนำเข้าสินค้าข้าวสาลี (พิกัด 1001) ภายใต้ WTO อัตราอากรตามราคา (Ad Valorem +rate) ร้อยละ 27 มาตั้งแต่ปี 2538 ต่อมาได้มีการลดอัตราอากรข้าวสาลีมาตามลำดับตั้งแต่ ปี 2542, 2546 และ 2550 โดยเมื่อ ม.ค. 2550 ลดอัตราอากรตามสภาพ (specific rate) จาก กิโลกรัม ละ 2.75 บาท เหลือ กิโลกรัมละ 0.1 บาท 

จนกระทั่ง วันที่ 12 ก.ย. 2550 กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการปฏิรูปภาษีศุลกากร ออกประกาศยกเลิกอัตราอากรข้าวสาลี เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากสินค้าข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร (ใช้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูป และขนมปัง ขนมเค้ก เป็นหลัก) และไม่มีการเพาะปลูกในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ โดยขณะนั้นยังไม่มีการแยกพิกัดข้าวสาลีที่เป็นอาหารคนกับอาหารสัตว์ จึงเป็นการลดภาษีวัตถุดิบทั้งหมวด ประเทศไทยจึงไม่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้าจากข้าวสาลีมาตั้งแต่ปี 2550 

ทั้งนี้ ข้าวสาลี (พิกัด 1001) ได้มีการแยกรายละเอียดพิกัด เป็นข้าวสาลีอื่นๆ (สำหรับอาหารสัตว์ พิกัด 10019990000) เมื่อปี 2555 โดยระหว่างปี 2555-2560 มีการนำเข้าข้าวสาลีรวมทุกชนิด (สำหรับอาหารคนและสัตว์) ปริมาณ 17.8 ล้านตัน มูลค่ารวม 153,126 ล้านบาท และเฉพาะข้าวสาลี  สำหรับผลิตอาหารสัตว์ (พิกัด 10019990000) มีการนำเข้า 11.8 ล้านตัน มูลค่า 91,793 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดย กรมการค้าภายใน อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอัตราภาษีข้าวสาลี ในอัตราที่เหมาะสม โดยจะมีการศึกษาเพื่อพิจารณาผลดีผลเสียของการขึ้นภาษีนำเข้าให้รอบด้าน

เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ที่ได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาทบทวนความเป็นไปได้ ในการกำหนดอัตราอากรข้าวสาลีที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน ภายใต้พันธกรณีกับ WTO หรือพันธกรณีระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและพืชอื่นที่เกี่ยวข้องในประเทศ

สำหรับมาตรการการรับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ของเกษตรกรจากสัดส่วน 1:3 กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการการนำเข้าข้าวสาลี เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 ได้กำหนดให้ข้าวสาลีเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 และ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2559 ได้ออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ผู้ขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลีเข้ามา ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วน อัตราส่วนการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เพื่อบริหารจัดการและรักษาเสถียรภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเป็นการชั่วคราว 

ซึ่งจากการดำเนินมาตรการ 1 : 3 พบว่า ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้าข้าวสาลี 1.66 ล้านตัน ขณะที่ปี 2559 มีการนำเข้า 3.55 ล้านตัน โดยมีปริมาณลดลง 1.89 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 53.24 

โดยทางสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้มีหนังสือขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณายกเลิกมาตรการนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาความขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเกษตรกรภาคปศุสัตว์สามารถดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งคณะกรรมการ นบขพ. ได้หารือและมีการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2561 และครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มิ.ย. 2561 มีมติเห็นชอบให้คงการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอัตรา 1 : 3 ยกเว้นเฉพาะในช่วง 15 มิ.ย. – 15 ส.ค. 2561 กำหนดสัดส่วนในอัตรา 1 : 2 เนื่องจากช่วงดังกล่าวมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเดือน ก.ย. 2561 ซึ่งมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก 

โดยจะกำหนดให้ผู้ขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลีสามารถใช้หลักฐานการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ด ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2561 มาแสดงประกอบการขออนุญาตได้ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุไม่เกินวันที่ 15 ส.ค. 2561 ซึ่งการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานข้อมูลอุปสงค์อุปทาน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดผลดีต่อระบบการผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยรวม

ทั้งนี้ เหตุผลในการยกเว้นกำหนดสัดส่วนในอัตรา 1 : 2 เฉพาะในช่วง 15 มิ.ย. – 15 ส.ค. 2561 เนื่องจากการพิจารณาข้อมูลอุปสงค์และอุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน พบว่าปีการผลิต 2561/62 มีปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนคงเหลือในช่วงระหว่างเดือน ก.ย. 2561 -เม.ย. 2562 แต่ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2561 และเดือน พ.ค. 2562 มีปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งประเทศ ในปี 2561/62 จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประมาณ 5 ล้านตัน 

ในขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ปี 2561 ปริมาณ 8.25 ล้านตัน ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในเดือน มิ.ย. 2561 แต่จะออกกระจุกตัวมากในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. 2561 ประมาณ 3.37 ล้านตัน (ร้อยละ 66.66 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด) ในขณะที่ช่วง เดือน มิ.ย.-ส.ค. 2561 จะมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดประมาณ 0.4 ล้านตัน (ร้อยละ 8 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด) ในขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีประมาณเดือนละ 0.69 ล้านตัน หรือรวม 2.06 ล้านตัน ซึ่งการยกเว้นการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในอัตรา 1: 2 ในช่วงดังกล่าวจะไม่กระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทร่เกษตรกรได้รับ

นอกจากนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาที่เกษตรกรได้รับ กระทรวงพาณิชย์ยังคงการขอความร่วมมือให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้นร้อยละ 14.5 ในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาท/กก. ณ พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล สำหรับต่างจังหวัดปรับลดตามระยะทางค่าขนส่ง 

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ นบขพ. ยังได้มอบหมายคณะทำงานตรวจสอบสต๊อกสินค้าเกษตร และคณะทำงานตรวจสอบปริมาณการรับซื้อข้าวโพด กำกับดูแล ตรวจสอบการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การนำเข้าข้าวสาลีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งปริมาณสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีขอ ทั้งโรงงานอาหารสัตว์และผู้รวบรวม อย่างใกล้ชิดเคร่งครัด หากพบว่ามีความผิดปกติในการซื้อขายหรือปริมาณสต๊อก จะสั่งระงับการนำเข้าทันที 

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามเพื่อคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน คณะกรรมการ นบขพ. ในการประชุมครั้งที่ 3/2561 จึงได้มอบหมายกรมการค้าภายในหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบ อาทิ ด้านการผลิต การตลาด การใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนอื่นๆจากแหล่งในประเทศและต่างประเทศในการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาพรวมทั้งห่วงโซ่ และนำเสนอคณะกรรมการ นบขพ. เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป