ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เผยพบสัตว์มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ร้อยละ 13.26 ของตัวอย่างที่ส่งตรวจ ส่วนใหญ่พบในสุนัข รองลงมา คือ โคและแมว พร้อมแนะ 3 วิธีควรปฏิบัติ "ล้างแผล-สังเกตอาการสัตว์-พบแพทย์" หากถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 22 มีนาคม 2561 ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 6 ราย จาก 6 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ระบุผลการตรวจตัวอย่างสัตว์พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.–21 มี.ค. 2561 พบตัวอย่างผลบวกในพื้นที่ 37 จังหวัด จำนวน 444 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งหมด 3,261 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13.26 ส่วนใหญ่ชนิดสัตว์ที่ตรวจพบคือสุนัข ร้อยละ 91.67 โคร้อยละ 5.86 และแมวร้��ยละ 2.48  ส่วนผลบวกเฉพาะตัวอย่างสุนัข-แมว พบว่าไม่มีเจ้าของและไม่ทราบประวัติ ร้อยละ 41.14 และพบว่าไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ทราบประวัติวัคซีนถึงร้อยละ 87.79

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงนี้พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์หลายพื้นที่ ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม เด็กที่เล่นกับสัตว์จึงมีโอกาสถูกกัดได้ง่าย ดังนั้นหากประชาชนถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบปฏิบัติ ดังนี้

1.รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในกาลดการติดเชื้อ เพราะจะทำให้เชื้อโรคต่างๆ ที่บริเวณนั้นหลุดออกจากแผลไปตามน้ำ จากนั้นเช็ดแผลให้แห้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ

 2.ต้องจดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด หากเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของควรขอประวัติการฉีดยาของสุนัข หากเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบที่มาของสัตว์ ควรแยกสัตว์ไว้สังเกตอาการ 10 วัน หรือแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านก็ตาม 

และ 3.ไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้เลี้ยงสุนัขหรือแมว ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2–4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี 

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรระมัดระวังเด็กในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเล่นใกล้ชิดเกินไป ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัข หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่มีพฤติกรรม ทั้งนี้ หากประชาชนพบสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตาย หรือมีอาการอัมพาต ขาอ่อนแรง คลุ้มคลั่งมีอาการดุร้าย ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด อสม.หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่